ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทรนด์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ เป็นประเด็นที่กำลังมาแรงทั่วโลกจากกระแสที่ผู้คนต้องการสร้าง Work-Life Balance ในชีวิต รวมถึงในประเทศไทย ซึ่งจากผลสำรวจพบว่า มนุษย์เงินเดือนไทยต้องการทำงานในรูปแบบนี้สูงถึง 95% มากสุดในแถบประเทศอาเซียน และน่าสนใจ คือ คนไทย 59% ยอมทำงานเพิ่มขึ้น 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อแลกกับการได้ทำงานในรูปแบบนี้
ผลสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจของ ‘บริษัท โรเบิร์ต วอลเทอร์ส’ ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลกที่ได้สำรวจในหัวข้อ The 4-day work week: Is Asia ready for it? ด้วยการสอบถามบุคลากรและองค์กรกลุ่มตัวอย่างกว่า 5,000 แห่งใน 11 ประเทศทั่วเอเชีย รวมถึงประเทศไทย พบว่า
พนักงานที่อยากทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มากสุดในอาเซียน ได้แก่ คนไทย 95%, มาเลเซีย 94%, สิงคโปร์ 93%, ฟิลิปปินส์ 89% ขณะที่ อินโดนีเซีย และ เวียดนาม มีความต้องการในเรื่องในสัดส่วนเท่ากันอยู่ที่ 88%
ผลสำรวจยังระบุอีกว่า สาเหตุที่พนักงานในไทยส่วนใหญ่อยากลดชั่วโมงทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์นั้น
อันดับ 1 ต้องการ Work-Life Balance มีสมดุลชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน 73%
อันดับ 2 อยากเพิ่ม Productivity 58%
อันดับ 3 อยากมีเวลาให้ครอบครัวมากขึ้น และอยากประหยัดค่าเดินทาง 42%
นอกจากนี้ มนุษย์เงินเดือนไทยจากกลุ่มตัวอย่างมากถึง 59% บอกว่า ยินดีที่จะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 2 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้สามารถทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ได้ โดยยังคงได้รับค่าจ้างเท่าเดิม และ 45% ของพนักงานยังยินดีที่หยุดการทำงานแบบไฮบริดหรือกิจกรรมงานสังคมต่างๆ อีกด้วย
ขณะที่ 58% ของพนักงานที่ต้องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เชื่อว่า จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพวกเขาได้ และการได้ลดเวลาทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ ยังเป็นแรงจูงใจในการเลือกงานใหม่ของพนักงานถึง 41% รองลงมา 29% ทำงานจากที่ไหนก็ได้ และ 27% เป็นเรื่องผลตอบแทน
อย่างไรก็ตาม 36% ในกลุ่มพนักงานที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้มีความกังวลในเรื่องความเครียดที่จะเพิ่มขึ้นจากการทำงานในจำนวนวันน้อยลง แต่ยังต้องทำงานในปริมาณงานเท่าเดิม และ 27% กังวลว่า อาจจะมีการลดค่าจ้างตามมา
แล้วฝั่งนายจ้างหรือบริษัทมีความคิดเห็นอย่างไรกับนโยบายนี้?
เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย การใช้นโยบายทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในประเทศไทยมีแนวโน้มปรับแบบค่อยเป็นค่อยไป โดย 90% ของบริษัทในไทยมองนโยบายนี้มีความเป็นไปได้ และเชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีให้กับพนักงาน , 77% คิดว่า การทำงานในรูปบบนี้ จะช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานไว้ และ 46% เชื่อว่า นโนบายนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานได้
นอกจากนี้ นายจ้างและบริษัทในประเทศไทย 77% มองว่า การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์มีความเป็นไปได้ แต่มีนายจ้างเพียง 26% เท่านั้นที่วางแผนจะนำนโยบายนี้ไปใช้จริงในภายใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่วนนายจ้างอีก 50% มองว่า การทำงานในรูปแบบดังกล่าว ไม่น่าจะเกิดการทดลองใช้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายบริษัทที่มองว่า รูปแบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ‘ไม่สามารถทำได้จริง’ และมีความกังวลต่อนโยบายดังกล้าว โดย 67% กังวลจะพนักงานไม่เพียงพอในการให้บริการลูกค้า, 50% กังวลจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการดำเนินโครงการล่าช้า และ 42% ห่วงว่า การนำนโยบายนี้ไปใช้จะนำไปสู่คงวามไม่พอใจในหมู่พนักงาน
อ้างอิง http://RW Asia 4-Day Work Week E-Guide.pdf