ความจริงใจสำคัญกว่าตำแหน่ง เมื่อยุคนี้พนักงาน 63% ขอลาออกเพราะไม่ผูกพันกับผู้นำองค์กร

โรเบิร์ต วอลเทอร์ส ที่ปรึกษาด้านการจัดหางานระดับโลก รายงานแนวโน้มบุคลากรปี 2025 โดยพบว่า

  • 63% ของพนักงาน ตัดสินใจลาออกจากงานเดิม โดย 1 ในเหตุผลหลัก คือ “ไม่รู้สึกผูกพันกับหัวหน้า/ผู้นำองค์กร”
  • 68% ของพนักงาน ระบุว่า หัวหน้า/ผู้นำองค์กร ไม่รักษาสัญญาที่ให้ไว้ ทำให้พนักงานรู้สึกไม่เชื่อมั่น

ทำให้ “ผู้นำแบบยึดคนเป็นศูนย์กลาง” คือกำลังกลายเป็นอนาคตขององค์กร โดยผู้นำที่ได้รับการยอมรับ ไม่ใช่  ผู้ที่เพียงแค่มีอำนาจตามตำแหน่ง แต่เป็นผู้ที่สร้างความเชื่อมโยงกับผู้คนได้อย่างแท้จริง

โดย “ความเข้าใจผู้อื่น (empathy)” คือคุณสมบัติที่พนักงานมองหามากที่สุด ตามด้วย “การสื่อสารที่ดี” และ “ความยืดหยุ่น”

ผู้นำที่ รับฟัง และ จริงใจ จะช่วยให้ทีมแกร่งขึ้น พนักงานอยู่ได้นาน และองค์กรเติบโตยั่งยืน

ส่วน “ผู้นำที่ขาดความจริงใจ” ส่งผลกระทบเชิงลบให้พนักงาน 62% รู้สึกไม่ผูกพัน เมื่อผู้นำติดต่อสื่อสารมาเฉพาะในเวลาที่ต้องการบางสิ่งจากพวกเขาเท่านั้น

“71% ของพนักงานรู้สึกได้ เมื่อหัวหน้า/ผู้นำองค์กรใช้น้ำเสียงเชิงบวก แต่ไม่จริงใจ หลายคนจึงมองว่าเป็นการแสดงออกแบบฝืนใจ“

เมื่อถามถึงลักษณะทั่วไปของผู้นำที่ไม่ดีหรือไม่จริงใจ พนักงานแสดงความเห็นดังต่อไปนี้

  • ปิดบังข้อมูล / ไม่อธิบายเหตุผล (72%)
  • พูดอย่าง ทำอีกอย่าง (66%)
  • ไม่รับผิดชอบเมื่อพลาด (44%)
  • ไม่แคร์ชีวิตพนักงาน (30%)
  • คุมทุกอย่าง ไม่ไว้ใจทีม (28%)
  • ลำเอียง เล่นพรรคเล่นพวก (22%)
ผู้นำขาดความจริงใจ พนักงานส่วนใหญ่มักดูออก

ถ้าอยากเป็นผู้นำแบบที่คนอยากทำงานด้วย ต้องปรับตัวดังนี้

1.การพัฒนาผู้นำผ่านการโค้ชและการฝึกอบรม

โดยเน้นเรื่อง การสร้างความเข้าใจผู้อื่น (empathy) และการสร้างความฉลาดทางอารมณ์ ความจริงใจ การฟังอย่างลึกซึ้ง และการสร้างทีม หากองค์กรไม่มีผู้เชี่ยวชาญภายใน อาจพิจารณาใช้บริการจากบริษัทภายนอก

2.การสื่อสารที่โปร่งใสและชัดเจน

การสื่อสารที่เปิดเผย โปร่งใส และสม่ำเสมอ ถือเป็นหัวใจสำคัญของแนวทางการบริหารที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง องค์กรควรสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ไอเดียต่าง ๆ ถูกแลกเปลี่ยนและได้รับการรับฟัง พร้อมทั้งส่งเสริมให้มีการให้ข้อเสนอแนะอย่างสร้างสรรค์ เช่น

  • การจัดช่วงถามตอบ (Q&A) ที่เปิดให้พนักงานได้สอบถามอย่างตรงไปตรงมา
  • การมีนโยบายเปิดกว้างในการรับคำถามตลอดเวลา ไม่ว่าจะพบกันตัวต่อตัวหรือผ่านอีเมลก็ตาม

3.การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร สู่วิธีการบริหารที่ยึดคนเป็นศูนย์กลาง

ทบทวนวัฒนธรรมองค์กรแบบเก่า การปรับเกณฑ์วัดผลการทำงาน และการปรับระบบการให้รางวัลให้สอดคล้องกับหลักการที่ให้ความสำคัญกับ “คน” เป็นศูนย์กลาง

4.การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน

องค์กรควรมุ่งเน้นไปที่การทำความเข้าใจความต้องการของพนักงาน เพื่อนำมาพัฒนากลยุทธ์ในการเพิ่มระดับความผูกพันและการมีส่วนร่วมของพนักงาน ซึ่งอาจรวมถึงการสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันมากขึ้น การส่งเสริมสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน รวมถึงการนำระบบการยกย่องและให้รางวัลมาใช้อย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ องค์กรที่เน้น “คนเป็นศูนย์กลาง” ช่วยให้

  • รักษาพนักงานคุณภาพได้มากขึ้น 1.5 เท่า
  • บรรลุเป้าหมายองค์กรได้มากขึ้น 2.6 เท่า

“ผู้นำที่ไม่สร้างความสัมพันธ์ที่จริงใจกับทีมงาน ไม่เพียงเสี่ยงต่อการสูญเสียความจงรักภักดี แต่ยังพลาดโอกาสในการรับฟังข้อมูลเชิงลึกและแนวคิดใหม่ ๆ ที่อาจพาองค์กรไปสู่การเติบโตในอนาคต” แกริต บุคกาต ซีอีโอ ของ บริษัทโรเบิร์ต วอลเทอร์ส ให้ความเห็น