“โฟล์คสวาเกน” ประกาศขายโรงงานรถยนต์ในซินเจียงเพื่อลดต้นทุน เซ่นพิษตลาดรถยนต์เดือด

โฟล์คสวาเกน (Volkswagen AG) ผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ที่สุดในเยอรมนีและยุโรป ได้ประกาศขายโรงงานในซินเจียงซึ่งเป็นภูมิภาคทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน เนื่องจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ อีกทั้งแรงกดดันจากการกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

บริษัทฯระบุว่า โฟล์คสวาเกนได้ผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมาจนถึงปี 2019 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ดําเนินการในฐานะศูนย์กระจายสินค้าที่ผลิตในโรงงานอื่น ๆ

โฆษกฯ กล่าวว่า เนื่องจากรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปมีความต้องการที่ลดลง ทำให้บริษัทฯ เผชิญหน้ากับแรงกดดันอย่างมาก บริษัทฯ จึงจําเป็นต้องเร่งพัฒนาและเปลี่ยนแปลงกระบวนการการผลิตใหม่ อีกทั้งกระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

ตามรายงานของสํานักงานพลังงานระหว่างประเทศ ระบุว่า ยอดขายรถ EV มีอัตราเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงในประเทศจีนที่คิดเป็น 45% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในปีนี้ ทำให้โฟล์คสวาเกนตัดสินใจประกาศขายโรงงานในซินเจียง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับ SAIC Motor ของเซี่ยงไฮ้ 

นอกจากบริษัทฯ ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันในตลาดรถยนต์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น การขายดังกล่าว ยังมีปัจจัยในเรื่องของการวิพากษ์วิจารณ์ของรัฐบาลสหรัฐฯ และกลุ่มสิทธิมนุษยชน ที่กล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานและกระทําการล่วงละเมิดอื่นๆ เป็นเวลาหลายปี เช่น การกักขังกลุ่มชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์จํานวนมากในซินเจียง 

ซึ่งจีนก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคนี้มาแล้วหลายครั้ง

ย้อนกลับไปในปี 2022 นักสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานว่า จีนได้กระทําการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงต่อชาวมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียง ซึ่งอาจเท่ากับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

และในปี 2018 เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวหาว่าจีนกักขังชาวอุยกูร์อย่างน้อย 800,000 คนและสมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ที่อาจรวมกันได้มากกว่า 2 ล้านคนในศูนย์กักกันในซินเจียง 

ทำให้จีนออกมาอธิบายว่าศูนย์ดังกล่าวเป็นเพียงศูนย์ฝึกอาชีพให้กับคนและกล่าวว่าจะปิดศูนย์ดังกล่าวในปี 2019 

ตั้งแต่นั้นมาโฟล์คสวาเกนต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิในการเป็นเจ้าของโรงงานในซินเจียง ต่อมาในในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ผู้บริหารของโฟล์คสวาเกนได้ออกมาโต้ว่าไม่มีการบังคับใช้แรงงานในโรงงานแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตาม Financial Times รายงานว่าในเดือนกันยายน มีพบว่าการตรวจสอบดังกล่าว ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เมื่อถูกขอให้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับบทความของ Financial Times โฆษกของโฟล์คสวาเกน กล่าวว่า บริษัทฯได้ปฏิบัติตามข้อกําหนดทางกฎหมายในการตรวจสอบและดำเนินกิจการมาเสมอ ไม่มีครั้งใดที่นักลงทุนหรือประชาชนถูกหลอกลวงจากคำแถลงการณ์ของบริษัทฯ

บริษัทฯ ยังต่อสู้กับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากผู้ผลิตรถยนต์ในท้องถิ่นได้เพิ่มการผลิตและการขายรถยนต์ไฟฟ้า

ทำให้โฟล์คสวาเกนได้ประกาศการปรับแผนการดำเนินการบริษัทฯ เมื่อเดือนที่แล้วว่าจะมีการปิดโรงงานผลิตรถยนต์อย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนีและจะเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน ถือเป็นการปิดกิจการในประเทศครั้งแรกในรอบ 87 ปีของบริษัท

ที่มา : CNN