ท่าทางจะฟื้นลำบากสำหรับตลาด รถยนต์ เพราะยอดขายในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ถือว่า แย่สุดในรอบ 4 ปี เลยทีเดียว ขณะที่ภาพรวมตลอด 10 เดือนก็หดตัวกว่า 20% แม้แต่ รถอีวี ที่เคยโตแรงก็หดตัว จนถึงขั้นต้องปรับคาดการณ์การผลิตรถยนต์ทั้งปีลงถึง 2 แสนคัน
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 37,691 คัน ลดลงจากเดือนกันยายน –36.08% ถือว่าต่ำสุดในรอบ 54 เดือน นับตั้งแต่ยกเลิกล็อกดาวน์จากการระบาด COVID-19 ในเดือนพฤษภาคม 2563 สำหรับในส่วนของยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) มีจดทะเบียนใหม่จำนวน 6,651 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคมปีที่แล้ว -32.19% ยอดขายยานยนต์ไฟฟ้า (BEV) 3,717 คัน ลดลง -49.73%
โดยปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอ่อนแอเติบโตในอัตราต่ำและหนี้ครัวเรือนสูง และการเข้มงวดในการให้กู้ซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน ส่งผลให้จำนวนบัญชีผู้กู้ซื้อรถยนต์ในไตรมาส 3 มี 6,365,571 บัญชี ลดลงจากไตรมาสสอง 75,377 บัญชี หรือ -1.2% และลดลงจากไตรมาส 3 ปี 2566 จำนวน 199,655 บัญชีหรือ -3% ขณะที่จำนวนเงินหนี้รถยนต์ไตรมาส 3 อยู่ที่ 2,465,204 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 2 ที่ -2.8% และลดลง -5.8% จากไตรมาส 3 ปี 2566
ทั้งนี้ ตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา รถยนต์มียอดขาย 476,350 คัน ลดลง -26.24% เมื่อเทียบกับ 10 เดือนแรกของปี 2566 และเมื่อแยกเป็นรถยนต์นั่งและรถยนต์นั่งตรวจการณ์มีจำนวน 284,304 คัน เท่ากับ 59.84% ของยอดขายทั้งหมด ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 12.22%
ด้านการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปได้ 84,334 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว +5.08% แต่เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2566 ถือว่าลดลงถึง -20.23% อย่างไรก็ตาม ยอดส่งออกในเดือนตุลาคม 2566 ถือเป็นฐานที่สูง เพราะสามารถส่งออกได้ถึง 105,726 คัน ส่งผลให้ส่งออกลดลงทุกตลาด ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษคือตลาดออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และยุโรป
โดย นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยตัวเลขประมาณการการผลิตรถยนต์ของสมาชิก กลุ่มฯ ในปี พ.ศ. 2567 ใหม่ โดยปรับเป้าผลิตรถยนต์ปี 2567 จาก 1,700,000 คันเป็น 1,500,000 คัน ลดลง 200,000 คัน โดยปรับการผลิตขายในประเทศลดลงจาก 550,000 คันเป็น 450,000 คัน และการผลิตเพื่อส่งออกลดลงจาก 1,150,000 คัน เป็น 1,050,000 คัน