เจาะกลยุทธ์ ‘เอไอเอส’ กับการปั้น ‘Entertainment Hub’ เพื่อตรึงลูกค้าให้อยู่กับค่ายไปนาน ๆ

แม้ว่าตลาด โทรคมนาคม หรือ Telco จะเหลือผู้เล่นแค่ 2 ราย (แม้ตอนนี้จะให้บริการอยู่ 3 ค่ายก็ตาม) แต่การแข่งขันเพื่อชิงความเป็นเบอร์ 1 ก็ยังคงดำเนินต่อไป แต่บริบทไม่ใช่แค่เรื่องของความเร็ว แรง ของสัญญาณ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องของ คอนเทนต์

หากพูดถึงการแข่งขันของโอเปอเรเตอร์ แน่นอนว่าต้องมีเรื่องของ คอนเทนต์ ที่ไม่มีใครยอมใคร โดยค่ายสีเขียวอย่าง เอไอเอส (AIS) ก็จะมีแพลตฟอร์ม เอไอเอส เพลย์ (AIS Play) โดยเปิดให้ดูคอนเทนต์ฟรีไม่จำกัดค่าย ไม่ว่าจะเป็นทีวีสด ละครย้อนหลัง ภาพยนตร์ ซีรีส์ การ์ตูน คอนเสิร์ต รวมถึงออริจินอลซีรีส์ หรือถ้าใครไม่จุใจก็มีแพ็กเกจ พรีเมียม ให้ดูคอนเทนต์ที่มากขึ้น เช่น ช่องกีฬา

เช่นเดียวกันกับ ทรู คอร์ปอเรชั่น (True) ที่มีแพลตฟอร์ม ทรู ไอดี (True ID) ที่จะมีคอนเทนต์ให้ดูฟรีเหมือนกัน รวมถึงมีแพ็กเกจพรีเมียมให้ซื้อด้วยเช่นกัน เพียงแต่ของฝั่งทรูจะเน้นไปที่ กีฬา เพื่อย้ำถึงการเป็น King of sports โดยมีคอนเทนต์พระเอกอย่างฟุตบอล พรีเมียร์ลีก ซึ่งทรูวิชั่นส์ได้ลงทุนไปมหาศาลเพื่อซื้อลิขสิทธิ์ (แม้ว่า 6 ฤดูกาลจากนี้จะพลาดก็ตาม)

จะเห็นว่าการแข่งขันเรื่องคอนเทนต์ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะทั้งคู่เป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคม ดังนั้น การจะลงทุนสร้างคอนเทนต์ของตัวเองเพื่อดึงดูดหรือรักษาฐานลูกค้าอาจเป็นเรื่องที่ ยากเกินไป และต้อง ลงทุนมหาศาล ดังนั้น กลยุทธ์ที่ เอไอเอส ทำจึงเป็นการเดินหน้าหา พันธมิตร ซึ่งก็คือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งที่ตบเท้าเข้ามาในประเทศไทย

เพราะการจะดูคอนเทนต์ต้องใช้ อินเทอร์เน็ต ดังนั้น หากแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งจะเริ่มรุกตลาด จะมีอะไรดีไปกว่าการ พาร์ทเนอร์กับ โอเปอเรเตอร์ เพราะนอกจากจะมี ฐานลูกค้า จำนวนมหาศาล (ปัจจุบันเอไอเอสมีฐานลูกค้า 51 ล้านราย) ทำให้แพลตฟอร์มสามารถ Bundle แพ็กเกจ และ ชำระเงิน ผ่านโอเปอเรเตอร์ได้เลย อีกทั้งยังช่วยให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้าถึง จอทีวี ด้วยกล่อง AIS Play

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มยังได้ตัวช่วยในการโปรโมตอีกด้วย ดังนั้น จะเห็นว่าการผนึกกับโอเปอเรเตอร์ช่วยตัดขั้นตอนความต่าง ๆ ในการสร้างฐานลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการรับรู้ การเข้าถึง และสร้างยอดขาย

รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ หัวหน้าส่วนงาน AIS PLAY

ส่วนของประโยชน์ที่เอไอเอสจะได้ หลายคนน่าจะมองว่าการมีพาร์ทเนอร์เป็นแพลตฟอร์มระดับโลกจะช่วย ดึงลูกค้าใหม่ ๆ แต่ในความเป็นจริงอาจ ไม่ได้ช่วยขนาดนั้น เพราะต้องยอมรับไม่ใช่ทุกคนที่ยอมยอม เปิดเบอร์ใหม่ หรือ ย้ายค่าย ดังนั้น สิ่งหลักที่เอไอเอสได้ประโยชน์จริง ๆ จากการเป็นพันธมิตรกับทุกแพลตฟอร์มก็คือ ทำให้ลูกค้าอยู่กับค่ายนานขึ้น เพราะแพ็กเกจของหลาย ๆ แพลตฟอร์มมีให้สมัครแบบ รายปี ซึ่ง รุ่งทิพย์ จารุศิริพิพัฒน์ หัวหน้าส่วนงาน AIS PLAY ยืนยันว่า “ลูกค้าที่มีแพ็เกจสตรีมมิ่ง มี Churn rate ที่ต่ำกว่าลูกค้าทั่วไป”

อีกประโยชน์ที่ทางเอไอเอสได้ก็คือ ภาพลักษณ์ของแบรนด์ เพราะเอไอเอสถือเป็นผู้ให้บริการรายเดียวที่เป็นพันธมิตร ครบทุกแพลตฟอร์ม ที่ให้บริการในไทย ทำให้มีภาพความเป็น Entertainment Hub อย่างฝั่งตะวันตกก็มี Netflix, Disney+ Hotstar, Max และ Prime ส่วนฝั่งเอเชียก็มี iQiYi,Viu และ WeTV จนล่าสุดได้ออกแพ็กเกจ PLAY ULTIMATE ที่มัดรวม 6 แพลตฟอร์ม ราคา 999 บาท นอกจากนี้ยังเตรียมออกแพ็กเกจ 5G Max Play Ultimate สำหรับดึงลูกค้าเติมเงินให้เป็นรายเดือน ลูกค้าเปิดเบอร์ใหม่ หรือย้ายค่าย

จับตา พรีเมียร์ลีก จะอยู่ในมือใครบ้าง

แม้ว่าตอนนี้เอไอเอสจะเรียกได้ว่ามีพันธมิตรแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งในมือมากที่สุด แต่หลายสิ่งที่คนสนใจก็คือ ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ในไทย ใครจะได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดบ้าง เพราะสิทธิ์ถ่ายทอด 6 ฤดูกาลจากนี้เป็นของ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ JAS ที่ทุ่มเงินลงทุนถึง 1.9 หมื่นล้านบาท ในการซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ และเอฟเอคัพ แต่เพียงผู้เดียวใน 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา และลาว อย่างเต็มรูปแบบ ทั้ง 6 ฤดูกาล

เบื้องต้น ทาง JAS ยืนยันว่า จะดูผ่านแพลตฟอร์ม Monomax เป็นหลัก โดยค่าแพ็กเกจจะไม่เกิน 400 บาทต่อเดือน และจะมีดูฟรีสัปดาห์ละ 1 คู่ผ่านช่อง Mono29 ซึ่ง Monomax ก็ถือเป็นหนึ่งใน พันธมิตรของเอไอเอส ทำให้หลายคนตั้งตารอดูว่าเอไอเอสจะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่ได้สิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกหรือไม่ ต้องติดตามกันต่อไป