สูงวัยไทย กระเป๋าหนัก หันเช่าเนิร์สซิ่งโฮมสูงสุดเดือนละ 1 แสนบาท ช้อปบ้านหรูหลังละ 10-20 ล้านบาท

ไทย เข้าสังคมสูงวัยขั้นสุด 20% ของประชากร หนุนตลาดที่อยู่อาศัยวัยเก๋าบูม เนิร์สซิ่งโฮม ฮอตสุดเช่าราคา 1.5-2.5 หมื่นบาท/เดือน แพงสุดหลักแสนบาท ฟากกลุ่มเรสซิเดนส์พบผู้สูงอายุกระเป๋าหนักซื้อแพง 10-20 ล้านบาท/หลัง

ปัจจุบันไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า ปี 2567 ไทยมีผู้สูงอายุ จำนวน 14 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 20% ของจำนวนประชากร เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.89% ต่อปี

ในจำนวนผู้สูงอายุนี้มีเพียง 2% ที่เป็นกลุ่มมีภาวะพึ่งพิง (ติดบ้าน/ติดเตียง) จำเป็นต้องใช้เนิร์สซิ่งโฮม แต่คาดว่าในปี 2583 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพศชายขยายตัวสู่ 3.7 แสนราย (เดิม 8.1 หมื่นราย) และเพศหญิง 2.11 แสนราย (เดิม 1.8 หมื่นราย)

ส่งผลบวกต่อโครงการที่อยู่อาศัยผู้สูงอายุ ทั้ง 2 รูปแบบ ทั้งกลุ่มเนิร์สซิ่งโฮม (บริการดูแลสูงวัย) และกลุ่ม Residence (โครงการ Senior Complex, บ้านจัดสรร, คอนโด, บ้านตากอากาศ สำหรับสูงวัย) มีทั้งรูปแบบขายขาดและเช่า ที่มีจำนวน 916 โครงการ จำนวน 31,851 เตียง/หน่วย

“หากเทียบจำนวนหน่วย/เตียง ของเนิร์สซิ่งโฮม รวมกับเรสซิเดนส์ทั้งรูปแบบเช่าและขายขาด ที่เจาะกลุ่มซีเนียร์ จะเห็นว่ามีน้อยกว่าจำนวนผู้สูงอายุถึง 43,854% ตลาดนี้จึงมีช่องว่างพัฒนาได้อีกมาก”

เนิร์สซิ่งโฮม มีอัตราเช่าเฉลี่ย 70.9%

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) รายงานว่า เนิร์สซิ่งโฮมปัจจุบันมีอยู่ 832 โครงการ ประมาณ 22,273 เตียง มีผู้เช่าแล้ว 15,793 เตียง หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยประมาณ 70.9% หากจำแนกทุกระดับราคา พบว่า แต่ละกลุ่มมีอัตราเช่า (ดูตารางประกอบ) ดังนี้

เนิร์สซิ่งโฮม ส่วนใหญ่เปิดบริการมากสุดในระดับราคา 15,001-20,000 บาท/เดือน จำนวน 5,450 เตียง และราคา 20,001-25,000 บาท/เดือน จำนวน 3,844 เตียง “และแทบทุกกลุ่มมีอัตราเช่าเกินกว่า 50% ขึ้นไป”

ส่วนกลุ่มราคาน้อยกว่า 10,000 บาท/เดือน ไปจนถึงกลุ่มราคา 10,001-15,000 บาท/เดือน หรือเนิร์สซิ่งโฮมที่เจาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ยังขาดแคลนซัพพลายอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับอัตราเช่าที่สูง 79-88%

เช่าเนิร์สซิ่งโฮมได้ อย่างต่ำที่บ้านต้องมีรายได้ 40,000-330,000 บาท/เดือน

เจาะลึกรายได้ของครอบครัวที่ต้องการใช้บริการเนิร์สซิ่งโฮมให้แก่ผู้สูงอายุ ต้องมีรายได้สูงกว่า 2-3 เท่าของค่าใช้จ่าย ซึ่งจะประกอบด้วย ค่าเช่าแบบต่อเดือน + ค่าใช้จ่ายจิปาถะเพิ่มเติมเดือนละ 10,000 บาท

ยกตัวอย่าง ต้องการเช่าเนิร์สซิ่งโฮม ราคา 10,000 บาท/เดือน รายได้ครัวเรือนต่อเดือนที่เหมาะสมจะเช่าได้คือ 40,000-60,000 บาท

หรือกลุ่มราคาเนิร์สซิ่งโฮม 100,000 บาท/เดือน รายได้ครัวเรือนต่อเดือนที่เหมาะสมจะเช่าได้คือ มากกว่า 220,000-330,000 บาท

อย่างไรก็ดี หากพิจารณารายได้ของผู้สูงอายุในไทย พบว่า มีรายได้จากช่องทาง ดังนี้

  • รายได้จากบุตร (35.7%)
  • รายได้จากการทำงานเอง (33.9%)
  • เบี้ยยังชีพจากราชการ (13.3%)
  • เงินบำเหน็จ/บำนาญ (6.8%)
  • คู่สมรส (5.6%)
  • รายได้จากดอกเบี้ยเงินออม หรือการขายทรัพย์สิน (1.6%)

“ขณะที่เทรนด์ใหม่พบว่า กลุ่มผู้ใหญ่ตอนปลายอายุ 50-55 ปี ที่มีแนวคิดสมัยใหม่ เริ่มหาเนิร์สซิ่งโฮมเพื่ออยู่เองในอนาคตแล้ว”

วัยเก๋า กระเป๋าหนัก นิยมซื้อบ้านราคากลุ่ม 3-5 ล้านบาท และ 10-20 ล้านบาท มากสุด

สำหรับกลุ่มเรสซิเดนส์ ปัจจุบันมีอยู่ 84 โครงการ ประมาณ 9,578 หน่วย แบ่งเป็น

1.เรสซิเดนส์แบบขาย จำนวน 22 โครงการ ประมาณ 3,361 หน่วย ขายออกแล้ว 2,459 หน่วย คิดเป็นอัตราขายเฉลี่ย 73.2% โดยกลุ่มที่มีผู้ซื้อมากสุดมีระดับราคา ดังนี้

  • ราคา 3-5 ล้านบาท จำนวน 830 หน่วย ขายได้ 656 หน่วย เฉลี่ย 79%
  • ราคา 10-20 ล้านบาท จำนวน 636 หน่วย ขายได้ 487 หน่วย เฉลี่ย 76.6%
  • ราคา 20 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 376 หน่วย ขายได้ 318 หน่วย เฉลี่ย 84.6%

“จำแนกตามประเภท คอนโด ดีสุด มีค่าเฉลี่ยขายออกสูงถึง 79.6% รองลงมาเป็นบ้านเดี่ยว มีค่าเฉลี่ยขายออก 71.7%”

2.เรสซิเดนส์แบบเช่า จำนวน 62 โครงการ ประมาณ 6,217 หน่วย มีผู้เช่าแล้ว 4,242 หน่วย คิดเป็นอัตราเช่าเฉลี่ย 68.2%

โดยกลุ่มที่มีจำนวนหน่วยการเช่าโดดเด่นที่สุด คือ กลุ่มราคา 100,000 บาท/เดือน ที่มีจำนวน 2,176 หน่วย แต่มี ผู้เช่าแล้ว 1,485 หน่วย คิดเป็นอัตราเช่าเฉลี่ย 68.2%