อย่างที่รู้กันว่าไทยได้ก้าวเข้าสู่ สังคมผู้สูงวัยแบบสมบูรณ์ (aged society) เรียบร้อย โดยมีการประเมินว่าในปี 2566 นี้ ไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 13 ล้านคน หรือประมาณ 20% ของจำนวนคนทั้งประเทศ และปัจจุบันไทยติดอันดับ 1 ใน 3 ของประเทศที่สูงวัยเติบโตเร็วที่สุดในโลก ซึ่งหมายถึง คนกลุ่มนี้กลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศและเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญที่สุด เติบโตเร็วที่สุด
ซิลเวอร์เจนไม่ได้แปลว่าแก่
ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล หัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กลุ่มสูงวัยหรือซิลเวอร์เจนโดยเฉพาะในช่วงอายุตั้งแต่ 50 -70 ปี ที่เป็นช่วงเตรียมตัวเข้าสู่เกษียณไปจนถึงผู้สูงอายุในช่วงต้น ถือเป็น real Blue Ocean และมีความพิเศษไม่เหมือนกับตลาดทั่วไป เพราะไม่ใช่คนแก่แบบที่หลายคนวาดภาพ แต่ มีความทันสมัย หัวใจเป็นวัยรุ่น แม้ร่างกายจะเริ่มเปลี่ยนแปลง ที่สำคัญ ยังมีกำลังซื้อ
โดยจากการสำรวจพบว่า 86% ยังมีรายได้จากการทำงาน และ 55% ไม่มีหนี้สินและเงินออม และคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมการจับจ่ายที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะ พร้อมให้รางวัลกับตัวเอง เนื่องจากมีเงินเก็บ ที่น่าสนใจคือ คนซิลเวอร์เจนจะ ให้ความสำคัญกับคุณภาพและบริการ มากกว่าเรื่องราคาหรือโปรโมชัน นอกจากนี้ ยัง เลือกช้อปกับแบรนด์หรือร้านค้าที่รู้จักและไว้ใจ ทำให้คนกลุ่มนี้มีความจงรักภักดีกับแบรนด์สูง ไม่ชอบเปลี่ยนชอบลองเหมือนกลุ่มนักช้อปวัยรุ่น
ชอบเล่นโซเชียล แต่ไม่ค่อยโพสต์
เพราะไม่อยากตกยุค กลุ่มซิลเวอร์เจนจึงมีการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยพบว่ากลุ่มผู้สูงวัยส่วนใหญ่เข้าถึงสื่อออนไลน์ ชอบเล่นโซเชียลมากกว่าวัยรุ่นหรือวัยทำงาน เพราะมีเวลาว่าง และปัจจุบัน ใช้ Facebook มากกว่าดูทีวี โดยจะเน้นใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต เพราะ สายตาเริ่มยาว นอกจากนี้ จะเน้นไถดูคอนเทนต์ ไม่ค่อยแชร์หรือโพสต์
สำหรับช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ ได้แก่
- ห้างสรรพสินค้า 85%
- ช้อปปิ้งออนไลน์ 61%
- ตลาด 57%
- ร้านขายยา 22%
- โทรสั่งจากรายการทีวี 5%
สำหรับสินค้าและและบริการที่คนซิลเวอร์เจนให้ความสำคัญและใช้จ่ายอันดับ 1 คือ เรื่องสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร, อาหารเสริม, อุปกรณ์ออกกำลังกาย, ประกันสุขภาพและอื่น ๆ รองลงมาเป็นการ มองหาโซลูชันเรื่องการเงิน (passive income) และการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ชอบเที่ยวหรือหากิจกรรมทำเพื่อให้ชีวิตไม่เหงา
นอกจากสินค้าเรื่องสุขภาพแล้ว ยังมีสินค้าที่กลุ่มซิลเวอร์เจนเลือกซื้อมากขึ้นและลดลง ได้แก่
- กลุ่มสินค้าที่ซื้อเพิ่มขึ้น : นม อาหารสัตว์ ข้าว รังนก ซุปไก่สกัด และเครื่องดื่มออกกำลังกาย
- กลุ่มสินค้าที่ซื้อลดลง : ครีมเทียม ไข่ไก่ ผงชูรส ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย น้ำมันปรุงอาหาร และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- กลุ่มที่สนใจอยากซื้อ : ประกันสุขภาพ สินค้าไซส์เล็ก สำหรับทานคนเดียว เมนูตามร้านอาหารที่อ่านง่าย ร้านอาหารที่อำนวยความสะดวก
- กลุ่มสินค้าที่อยากได้ แต่ยังไม่ค่อยมีในตลาด : มีแพ็กเกจจิ้งที่เปิดง่ายสำหรับผู้สูงวัย
“สูงวัยเมื่อวาน วันนี้ และในอนาคต มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โอกาสทางธุรกิจมีมากมายทั้งสินค้าและบริการ เพราะตลาดใหญ่ แต่ผู้เล่นน้อย อยากเข้าตลาดนี้ต้องรู้จักและเข้าใจพวกเขาอย่างลึกซึ้ง ไม่ใช่แค่ ‘ใช่’ แต่ต้อง ‘ถูกใจ ถูกจริต’ เพื่อให้ควักกระเป๋าซื้อ”
ค้าปลีก 9 แสนล้าน มีสินค้ากลุ่มซิลเวอร์เจนไม่ถึง 1%
วรรณา สวัสดิกูล ประธานบริษัท ซิลเวอร์แอคทีฟ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อมูลล่าสุดจาก NielsenIQ (Thailand) พบว่า มูลค่าตลาดค้าปลีกกว่า 9 แสนล้านบาท ที่ขายในซูเปอร์มาร์เก็ต มีสินค้าที่ขายที่เจาะจงกลุ่มสูงวัยแค่ไม่ถึง 1% ขณะที่กลุ่มสูงวัยที่มีคาดการณ์ว่าจะมีเกือบ 15 ล้านคน และมีการประเมินว่า ภายในปี 2030 จะมีสัดส่วน 26% ของประชากรทั้งประเทศ
ดังนั้น ถือได้ว่ามีช่องว่างทางการตลาดค่อนข้างใหญ่ เพราะสินค้าหรือบริการยังไม่ได้ถูกคิดสร้างสรรค์และดีไซน์เพื่อกลุ่มสูงวัยเหล่านี้มากนัก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โอกาสทางการตลาดยังมีอีกมากมาย และเป็นตลาดที่จะช่วยให้แบรนด์สร้างความเติบโตทางธุรกิจได้เป็นอย่างดี
“คนสูงวัยตอนนี้ไม่เหมือนเดิม แข็งแรงและมีไลฟสไตล์ที่แอคทีฟมากขึ้น นอกจากสินค้าและบริการ การสร้างแบรนด์ก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย เพราะถึงแม้ว่าแบรนด์จะเป็นที่รู้จักมาก่อนแต่จำเป็นต้อง reconnect อีกครั้ง ต้องปรับแบรนด์ให้เกี่ยวข้องกับเขาเหล่านี้มากขึ้น ดังนั้น ถ้าอยากให้ธุรกิจเติบโตแบบยั่งยืน การลงทุนในตลาดนี้ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญสำหรับทุกองค์กร”