ตอนนี้เทรนด์สุขภาพได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนไทยแล้ว ทำให้ธุรกิจด้านนี้มีการเติบโต โดยเฉพาะ ‘ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ’ ซึ่ง ‘ปิยะ ดั่นคุ้ม’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กรีนฟู็ด แฟคทอรี่ จำกัด ผู้บริหารร้าน ‘สลัดแฟคทอรี่’ ฉายภาพว่า มีแนวโน้มการเติบโตดีเฉลี่ย 15-20% ในช่วง 3-4 ปีหลังจากการระบาดของโควิด-19
โดยปี 2564 ตลาดร้านอาหารเพื่อสุขภาพมีมูลค่าอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท, ปี 2565 มีมูลค่า 3,000 ล้านบาท, ปี 2566 มีมูลค่า 3,500 ล้านบาท, ปี 2567 มูลค่า 4,500 ล้านบาท และปี 2568 คาดการณ์มีมูลค่าอยู่ที่ 5,200 ล้านบาท
เหตุผลที่ทำให้ร้านอาหารสุขภาพมาแรง แน่นอนมีเทรนด์รักสุขภาพเป็นแรงส่งสำคัญ บวกกับการเปลี่ยนแปลงไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เร่งรีบ และการก้าวสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจในเรื่องการกินที่ดีต่อสุขภาพตัวเอง
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเติบโตน่าสนใจ ขณะเดียวกันตลาดดังกล่าวก็มีการแข่งขันดุเดือด เพราะจากปี 2564 มีแบรนด์ให้เลือกในตลาดแค่หลักหน่วย แต่ตอนนี้มีมากกว่า 20 แบรนด์ โดยผู้เล่นหลัก ได้แก่ สลัดแฟคทอรี่ด้วยจำนวนสาขา 48 แห่ง, โอ้กะจู๋ 43 สาขา และโจนส์สลัด 39 สาขา
ชู 3 แกนสร้างจุดแข่งขัน
สำหรับกลยุทธ์ในการแข่งขันของสลัดแฟคทอรี่ วางตำแหน่งตัวเองเป็นร้านอาหารสุขภาพที่ทานได้ทุกวัน ภายใต้สโลแกน ‘ได้อร่อย ได้สุขภาพ’ โดยนอกจากรสชาติอร่อยแล้ว หลัก ๆ จะเน้น ‘คุณภาพ-ความหลากหลาย-ราคาเข้าถึงง่าย’
“เราเชื่อว่า อาหาร ถ้าปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจะช่วยลดการเจ็บป่วยได้ ในฐานะแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพ เราจะพยายามคัดสรรวัตถุดิบตั้งแต่แหล่งที่มา และวัตถุดิบไม่ว่าจะดียังไง ถ้าไม่อร่อย ทุกอย่างก็จบ ดังนั้น รสชาติจึงสำคัญและทุกจานต้องมีคุณภาพอยู่ในมาตรฐานเดียวกัน”
สำหรับความหลากหลาย ปัจจุบันสลัดแฟคทอรี่มีเมนูให้เลือกมากกว่า 300 เมนู และจะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งพัฒนาเอง และจับมือกับพาร์ทเนอร์ ยกตัวอย่างเช่น ความร่วมมือกับ ‘เอสเพียว’ จากเครือเบทาโกร เปิดตัวแคมเปญใหม่ ‘อกไก่ฉ่ำ So Yummy’ นำมาสร้างสรรค์เมนูพิเศษสไตล์ญี่ปุ่น ย้ำถึงความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบและกระบวนการทำที่ดีต่อสุขภาพ
ขณะที่ ‘ราคา’ อีกจุดแข่งขันสำคัญ สลัดแฟคทอรี่จะพยายามทำให้ราคาเข้าถึงง่ายและมีหลากหลายระดับให้เลือก อย่างสลัดราคาเริ่มต้นที่ 89 บาทต่อจาน ส่วนสลัดบวกโปรตีน เช่น หมู ปลา ไก่ ฯลฯ ราคาเริ่มต้น 100 บาทต่อจาน
ต่างจังหวัดตลาดแห่งความท้าทาย
แม้การใส่ใจสุขภาพที่มากขึ้นของผู้คน จะเป็นสปริงบอร์ดในการเติบโตสำหรับร้านอาหารเพื่อสุขภาพ แต่ด้วยภาพจำของอาหารประเภทนี้ที่คนส่วนใหญ่มองว่า มี ‘ราคาแพง’ จึงทำให้การขยายตลาดให้มากกว่า ‘คนเมือง’ ดูเป็นเรื่องที่ท้าทาย
“ต่างจังหวัด เป็นตลาดที่มองเห็นศักยภาพ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต แต่ถือเป็นความท้าทาย จากภาพจำของราคาอาหารสุขภาพที่คนอาจมองว่าแพง อีกจุดที่ต้องสู้ คือ เราดีกว่าอาหารที่เขาทำทานเองที่บ้านอย่างไร ซึ่งเราวางตัวเองเป็นร้านอาหารสุขภาพที่ทานได้ทุกวัน ราคาเข้าถึงง่ายเป็นจุดแข็ง และเราต้องทำการบ้านเพิ่มหากต้องการขยายตลาดให้กว้างขึ้น”
ปัจจุบันสลัดแฟคทอรี่มีสาขาทั้งหมด 48 สาขา โดย 33 สาขาอยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่ม 8-9 สาขา รวมทั้งปีจะมีสาขาทั้งหมด 54 สาขา