คนไทย ยุคกระเป๋าแบน 50% ขอเที่ยวลดลง กว่า 46% ลดเที่ยวในประเทศ ส่วน 56% พับแผนเที่ยว ตปท. สวนทางกลุ่มฐานะดีแนวโน้มเที่ยวเพิ่ม ด้านงบเที่ยวในประเทศไม่เกิน 3 พันบาท/วัน งบลุยต่างประเทศขั้นต่ำ 1 หมื่นบาท/วัน วัยทำงาน-LGBTQIA+ จ่ายสูงสุด
ปัจจุบันผู้บริโภคไทย เผชิญแรงกดดันด้านกำลังซื้อ จากเศรษฐกิจไทยปี 2567 ที่เติบโตแบบชะลอตัว โดยคาดว่า GDP จะขยายตัวในกรอบ 2.7% จากปีก่อนขยายตัว 1.9% ขณะที่ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย (ณ ไตรมาส 2/67) แตะระดับ 89.6% ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายหลายด้าน รวมไปถึง “ภาคการท่องเที่ยว”
SCB EIC รายงานผลสำรวจแนวโน้มการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวของคนไทย พบว่า ปี 2567 ประมาณการรายได้ท่องเที่ยวจากคนไทยอยู่ที่ 9.9 แสนล้านบาท ลดลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดโควิดที่อยู่ประมาณ 1.08 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ปัญหาค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ในปี 2568 แนวโน้มการใช้จ่ายด้านท่องเที่ยวของชาวไทยราว 50% คาดว่าจะลดลง และเป็นไปในทิศทางเดียวกับการใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ “โดยเฉพาะการท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะลดลงมากกว่าการท่องเที่ยวในประเทศ”
- ผู้เลิกใช้จ่าย/ใช้จ่ายลดลงในการท่องเที่ยวภายในประเทศ (46%)
- ผู้เลิกใช้จ่าย/ใช้จ่ายลดลงในการท่องเที่ยวต่างประเทศ (56%)
- ผู้ใช้จ่ายเท่าเดิมและมากขึ้น เพื่อท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ (32%)
นอกจากนี้ สถานะการเงินยังเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว
- ผู้ที่คาดว่ารายได้จะลดลงมากในปีหน้ากว่า 38% จะเลิกใช้จ่ายในการท่องเที่ยวในประเทศ
- ผู้ที่คาดว่ารายได้จะเพิ่มมากในปีหน้ากว่า 57% จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
งบใช้จ่ายในทริปท่องเที่ยว
การใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวไทยส่วนใหญ่ สำหรับการท่องเที่ยวในประเทศจะอยู่ที่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนต่อวัน ส่วนการใช้จ่ายเฉลี่ย สำหรับการท่องเที่ยวต่างประเทศจะอยู่ที่ขั้นต่ำ 10,000 บาทต่อคนต่อวัน
“นักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ และกลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่างประเทศสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ”
วิธีปรับตัวของนักท่องเที่ยวไทยช่วงกระเป๋าแบน?
- 54% ลดความถี่ในการท่องเที่ยว
- 49% ช้อปปิ้งสินค้าน้อยลง
- 49% เลือกที่พักราคาประหยัดลง
- 44% ชะลอแผนการท่องเที่ยว
โดยกลุ่มผู้ที่เผชิญภาวะรายได้ไม่พอจ่ายจะมีการปรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ส่วนผู้มีปัญหาทางการเงินบ่อยครั้งจะเลือกชะลอแผนการท่องเที่ยวมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ส่วนผู้มีปัญหาเป็นบางครั้งจะเลือกลดความถี่ในการท่องเที่ยวแทน
ช่วงอายุที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการปรับตัวที่แตกต่างกันด้วย
- กลุ่มวัยรุ่น/วัยเริ่มทำงาน กับกลุ่มผู้สูงวัย จะพยายามคงแผนท่องเที่ยวเดิมแต่จะเลือกปรับพฤติกรรมการเที่ยวแทน
- กลุ่มวัยรุ่น/วัยเริ่มทำงาน จะยอมลดความสะดวกสบายในระหว่างท่องเที่ยวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ ทั้งการเลือกที่พักราคาสบายกระเป๋าและการประหยัดค่าอาหาร
- กลุ่มผู้สูงวัย จะเลือกปรับตัวด้วยการเปลี่ยนแผนมาเที่ยวในประเทศมากขึ้นหรือใช้บริการกรุ๊ปทัวร์เพื่อลดค่าใช้จ่าย
- กลุ่มวัยทำงาน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีภาระค่าใช้จ่ายสูงจะเลือกชะลอแผนการท่องเที่ยวออกไปมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ