SABECO น่านน้ำใหม่ไทยเบฟ? รายได้กำไรกระฉูด แม้ภาษีเบียร์เวียดนามสูง 65%

ดูเหมือน SABECO เจ้าของเบียร์ไซ่ง่อน เวียดนาม จะกลายเป็นอนาคตสดใสของไทยเบฟ (ThaiBev)

SABECO กำไรสูงสุดในรอบ 2 ปี

หลังก่อนหน้านี้ ในปี 2560 กลุ่มไทยเบฟ ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้เข้าซื้อหุ้นสัดส่วน 54% ของ SABECO มูลค่าสูง 1.6 แสนล้านบาท จากรัฐวิสาหกิจของเวียดนาม

ท่ามกลางการสัญญาณสดใสของเศรษฐกิจเวียดนามที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด เป็นแรงส่งส่วนหนึ่งให้ SABECO เติบโตอย่างแข็งแกร่ง แม้ภาษีเบียร์สูง 65%

สะท้อนช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา SABECO รายงานว่า ทำรายได้ 324 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.12 หมื่นล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 2.7% (YoY)

ทว่ากำไรหลังหักภาษีมีจำนวน 52.8 ล้านดอลลาร์ ประมาณ 1.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ส่วนอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ 30.2% จากเดิม 29.9%

“ไตรมาส 2 ปี 67 กำไร SABECO สูงสุดในรอบ 7 ไตรมาส หรือ 2 ปี (นับแต่ไตรมาส 4 ปี 2565)”

จากเป้าหมายทั้งปี SABECO วางรายได้ไว้ 1.4 พันล้านดอลลาร์ หรือราว ๆ 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% (YoY) และกำไรสุทธิ 190 ล้านดอลลาร์ 6.57 พันล้านบาท เติบโต 8% (YoY)

โรงงานผลิตเบียร์ไซ่ง่อน

ไทยเบฟ เบียดขึ้นเบอร์ 1 แบรนด์เบียร์ในเวียดนาม 6 เดือนติดต่อกัน

จากข้อมูลสรุปผลการดำเนินงานปี 2567 ของไทยเบฟ รูปแบบ Earnings Call พบว่า ตั้งแต่ มิ.ย. 67 “ไทยเบฟ กลายเป็นแบรนด์เบียร์อันดับ 1 ในเวียดนาม 6 เดือนติดต่อกัน“

โฟกัสผลประกอบการปีงบประมาณ 2567 ไทยเบฟ ทำรายได้รวม 340,289 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี (YoY) และมีกําไรสุทธิ 35,270 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% (YoY)

“เวียดนาม” เป็นตลาดขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของกลุ่ม เป็นรองแค่เพียงประเทศไทยเท่านั้น

ตลาดเบียร์เวียดนามท้าทายสูง จ่อขึ้นภาษี 100% ปี 73

แม้ว่าปัจจุบันเวียดนามยังเผชิญความท้าทายสูงจากมาตรการรัฐที่ตั้งใจลดอุบัติเหตุ ส่งผลให้ปัจจุบันตั้งภาษีบริโภคเบียร์และสุราสูงถึง 65% โดยกระทรวงการคลังเวียดนาม เตรียมเสนอปรับฐานภาษีเพิ่มขึ้น 70-80% ในปี 2569 และ 90-100% ภายในปี 2573

คาดจะทำให้ ราคาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และเบียร์จะเพิ่มขึ้น 20% ในปี 2569 เมื่อเทียบกับปี 2568 

สร้างแรงกดดันให้คอทองแดงเวียดนาม อาจลดปริมาณการดื่มเพื่อรัดเข็มขัด กระทั่งเกิดการเลือกรับประทานแบรนด์เบียร์อย่างพิถีพิถันมากขึ้น

ซึ่งคลื่นการต่อต้านเหล้า-เบียร์ของรัฐบาลเวียดนาม จะกลายเป็นหนึ่งในความท้าทายของตลาดเบียร์เวียดนาม รวมไปถึงไทยเบฟในอนาคต…

นอกจากนี้ ปัจจัยเศรษฐกิจที่มีผลต่อการบริโภคประชาชนก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจเวียดนาม ปี 2568 เติบโต 6.8% (YoY) น้อยกว่าปี 2567 ที่ขยายตัว 7.09%

ปัจจัยสำคัญ มาจากก่อนหน้านี้ เวียดนาม มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) จากการย้ายฐานผลิตจากจีนค่อนข้างมาก และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าสหรัฐฯ ในครึ่งปีหลัง

และมีความเสี่ยงสูงที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งเวียดนามพึ่งพิงการส่งออกไปยังสหรัฐฯ มากสุดในอาเซียน คิดเป็นสัดส่วน 22.4% ของ GDP ประเทศ

นอกเหนือจากความเสี่ยงจากสงครามการค้ารอบใหม่ เศรษฐกิจเวียดนามยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาคุณภาพสินทรัพย์ในระบบธนาคารและค่าเงินดองอ่อนค่าอีกด้วย