วานนี้ (13 ม.ค. 68) ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ถือเป็นการผ่านด่านแรกของเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) ในไทย
ขั้นตอนต่อไป คือ ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานำไปปรับปรุงรายละเอียด ก่อนส่งต่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา
Positioning ชวนดู กรณีศึกษา Entertainment Complex ที่เคยเกิดในหลายประเทศ เปรียบเทียบกับไทยว่าจะเกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ (GDP) มากเท่าใด รวมไปถึงผลได้-เสีย ของโครงการดังกล่าว
Entertainment Complex คืออะไร
Entertainment Complex คือ สถานความบันเทิงครบวงจร ในบริบทของรัฐบาลไทยประกอบไปด้วย 12 ส่วนหลัก ได้แก่
- ห้างสรรพสินค้าครบวงจร
- โรงแรมระดับ 5 ดาว
- ร้านอาหารและบาร์
- ศูนย์ประชุม และสถานที่จัดนิทรรศการขนาดใหญ่
- ศูนย์สุขภาพครบวงจร
- สถานที่เล่นเกม (กาสิโน)
- สนามกีฬา
- พื้นที่ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และจำหน่ายสินค้า OTOP
- สวนสนุก
- สระว่ายน้ำ และสวนน้ำ
- สถานที่แสดงโชว์
- กิจกรรมอื่น ๆ
โดยมี 5 พื้นที่เป้าหมาย ที่มีความเป็นไปได้ในการทำ Entertainment Complex คือ เชียงใหม่, ท่าเรือคลองเตย กทม., โซนบางกะเจ้า สมุทรปราการ, EEC และภูเก็ต
Entertainment Complex มีโครงสร้างรายได้อย่างไร ใครได้ประโยชน์?
ข้อมูลจาก ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัย หอการค้าไทย ประเมินว่า Entertainment Complex ในไทย จะมีมูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3-4 ปี
เมื่อเปรียบเทียบกับโมเดลสถานบันเทิงครบวงจรจากต่างประเทศ พบว่า มีขนาดพื้นที่และเม็ดเงินแตกต่างกัน อาทิ Marina Bay Sands สิงคโปร์ ขนาด 363.4 ไร่ เงินลงทุน 2.1 แสนบาท (5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นต้น
สำหรับโครงสร้างรายได้ของธุรกิจประเภทนี้ หลัก ๆ จะแบ่งออกเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
1.โครงสร้างรายได้ของผู้ประกอบการสถานบันเทิงครบวงจร
- รายได้จากการเล่นเกม หรือ กาสิโน (GGR) เฉลี่ย 50-70% ของรายได้รวม
- รายได้จากบริการอื่น ๆ เฉลี่ย 30-50% ของรายได้รวม
2.โครงสร้างรายได้ของรัฐบาล
- ภาษีกาสิโน (Casino Tax) ขึ้นอยู่กับอัตราที่รัฐกำหนด เช่น ลาสเวกัสเฉลี่ย 10% และมาเก๊าเฉลี่ย 35%
- ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) *ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะได้รับการยกเว้น VAT กรณีรายได้จากการพนัน* และเก็บเฉพาะรายได้จากบริการอื่น ๆ ของผู้ประกอบการ
- ภาษีเงินได้นิติบุคคล (CIT) *ผู้ประกอบการมักได้รับการยกเว้น CIT จากเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุน*
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ประกอบด้วยค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเริ่มต้น + ค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนจะเสียเท่าไรขึ้นอยู่กับขนาด สถานที่ และนโยบายรัฐ
- ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ เก็บเฉพาะคนท้องถิ่น เพื่อจำกัดการเล่น ส่วนนักท่องเที่ยวไม่เสีย ยกตัวอย่าง สิงคโปร์เก็บเงินคนท้องถิ่น 4,000 บาท/คน/ครั้ง, ญี่ปุ่น 2,000 บาท/คน/ครั้ง
สถานบันเทิงครบวงจร กรณีศึกษาต่างประเทศ ทำรายได้เท่าไร?
ปัจจุบันพบหลายประเทศเปิดสถานบันเทิงครบวงจร และทำรายได้มหาศาล โดยเฉพาะจากธุรกิจกาสิโน อาทิ
- มาเก๊า ทำรายได้ 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 1.11 ล้านล้านบาท
- ลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา รายได้ 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 1.04 ล้านล้านบาท
เจาะลึกผลกระทบในแง่เศรษฐกิจ “กรณีศึกษาประเทศสิงคโปร์” พบว่า ในปี 2565 สถานบันเทิงครบวงจร มีสัดส่วน 4% ของ GDP สร้างงานให้คนในพื้นที่ 2 หมื่นตำแหน่ง
ส่วนรายได้ทำได้ถึง 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4.17 แสนล้านบาท คิดเป็น 10% ของรายได้ภาคบริการของสิงคโปร์
ทั้งนี้ ในปี 2565 สิงคโปร์มีนักท่องเที่ยว 15 ล้านคน มีสัดส่วนมากถึง 30% ที่ไปเยี่ยมชมสถานบันเทิงครบวงจร
ส่งผลให้สามารถจัดเก็บภาษีจากธุรกิจนี้ได้ 2,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 8.34 หมื่นล้านบาท
ผลได้-เสียโครงการ
ผลกระทบเชิงบวก 5 ข้อ ได้แก่
1. ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ มูลค่าไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท/แห่ง
2. เพิ่มรายได้ท่องเที่ยว โดยเพิ่มจำนวน+ระยะพำนักนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ย/คน
3. เพิ่มรายได้ของธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตั้งแต่รายได้จากการเล่นคาสิโน (GGR) และรายได้จากบริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. สร้างงาน/กระจายรายได้ แบ่งเป็น จ้างงานตรง+อ้อมในอุตสาหกรรมบริการ ตลอดจนเพิ่มการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบ
5. เพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล จากภาษีกาสิโน (Casino Tax), ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT), ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต, ค่าธรรมเนียมการเข้าใช้บริการ
ผลกระทบเชิงลบ 4 ข้อ ได้แก่
1. เพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจใต้ดิน อาทิ หลีกเลี่ยงภาษี/ฟอกเงินผ่านกาสิโนและการพนัน, เร่งการเติบโตของธุรกิจผิดกฎหมายเกี่ยวข้องกับการพนัน
2. กระทบต่อภาระหนี้สินครัวเรือน ได้แก่ ติดการพนันเพิ่มขึ้น/หนี้สินจากพนันเพิ่มขึ้น, กระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจของครัวเรือน
3. ความเหลื่อมล้ำรายได้อาจเพิ่มขึ้น โดยรายได้กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มกาสิโน/กลุ่มนายทุน, กลุ่มได้ประโยชน์-เสียประโยชน์เหลื่อมล้ำมากขึ้น
4. ต้นทุนสังคมจากปัญหาติดพนัน คือ ค่ารักษา/บำบัดฟื้นฟูผู้ติดการพนัน, ผลกระทบทางอ้อมต่อครอบครัว/สังคม
เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ทุนใหญ่ต่างชาติ 6 รายสนใจ
ล่าสุด นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้มี ทุนต่างชาติ 6-7 รายสนใจลงทุนเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ในไทย
เบื้องต้น ข้อกำหนดบริษัทฯ ที่จะมาลงทุนต้องมีทุนจดทะเบียน 1 หมื่นล้านบาท และต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท
ขณะที่พื้นที่ที่สนใจนำมาพัฒนาต้องเป็นของภาครัฐ มีขนาดไม่ต่ำกว่า 300 ไร่ เพื่อเร่งพัฒนาให้ทันกับญี่ปุ่น ที่เตรียมเปิดโมเดลเดียวกันในโอซาก้านั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คาดสร้างผลกระทบ GDP ในช่วงก่อสร้างได้ 0.2% และช่วงเปิดดำเนินการ 0.7% พร้อมกระตุ้นการจ้างงานได้ 2 หมื่นตำแหน่ง