สมบูรณ์ วศินชัชวาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ FPT เปิดเผยว่า ปี 2568 บริษัทฯ ยังคงผ่อนคันเร่งธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากสถานการณ์กำลังซื้อผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวดีนัก และคาดว่าจะกลับมาปกติในอีก 2 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2570
เบื้องต้น ปีนี้เฟรเซอร์ส เปิดตัว 6 โครงการใหม่ มูลค่า 9,803 ล้านบาท แบ่งเป็น
- บ้านเดี่ยว 3 โครงการ มูลค่า 5,531 ล้านบาท
- บ้านแฝด 1 โครงการ มูลค่า 2,800 ล้านบาท
- ทาวน์โฮม 1 โครงการ มูลค่า 1,022 ล้านบาท
- คอนโดมิเนียม 1 โครงการ มูลค่า 450 ล้านบาท
“ปีนี้ เปิดตัวโครงการใหม่เท่ากับปีก่อน เพื่อทดแทน 8 โครงการเดิม มูลค่า 10,892 ล้านบาท ที่ปิดการขายเรียบร้อย ทำให้ ณ สิ้นปี 2568 เฟสเซอร์ส มีโครงการอยู่ในมือทั้งหมด 81 โครงการ มูลค่า 114,738 ล้านบาท“
ทั้งนี้ เฟสเซอร์ส เน้นขยายพอร์ตไปกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับบนมากขึ้น โดยมีโครงการใหม่ ปี 2568 ที่เป็นไฮไลต์ อาทิ
- แกรนด์ ริเวอร์ฟอนต์ ราชพฤกษ์-พระรามห้า มูลค่า 2,200 ล้านบาท (อยู่ในเซกเมนต์ลักซูรี ระดับราคา 25-50 ล้านบาท)
- แกรนด์ดิโอ 2 โครงการ (เซกเมนต์ระดับบน ราคา 10-25 ล้านบาทในต่างจังหวัดครั้งแรก) ประเดิม จ.นครราชสีมา และ จ.ขอนแก่น มูลค่ารวม 3,331 ล้านบาท
จากเดิมพอร์ตฯ ใหญ่ของบริษัทฯ มีแบรนด์ทาวน์โฮม Golden Town ระดับราคา 3-5 ล้านบาทที่โดดเด่น แต่ปีนี้บริษัทฯ ตัดสินใจแตกแบรนด์ที่อยู่อาศัยใหม่ในเจาะกำลังซื้อระดับสูงมากขึ้น อาทิ
- GRAMOUR (บ้านเดี่ยว) เซกเมนต์ High Class ระดับราคา 10-25 ล้านบาท
- GRAVITE (บ้านเดี่ยว-บ้านแฝด) เซกเมนต์ Upper Class ระดับราคา 8-10 ล้านบาท
- GOLDINA (พรีเมียมทาวน์โฮม) เซกเมนต์ Upper Class ระดับราคา 5-8 ล้านบาท
“ปี 2568 บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้ 11,000 ล้านบาท เติบโต 23% จากปีก่อนทำรายได้ 9,174 ล้านบาท”
ส่วนแผนในอนาคต เตรียมทำเมกะโปรเจกต์คอนโดมิเนียมหรู รูปแบบ Branded Residences ชื่อ “เมย์แฟร์” บริเวณซอยหลังสวน มูลค่า 8,000 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 500,000 บาท/ตร.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างขอ EIA คาดเปิดตัวปี 2569
รวมไปถึงบริษัทฯ เตรียมทำที่อยู่อาศัยในนิคมอุตสาหกรรมอารยะ ในพื้นที่ 200 ไร่ มีทั้งรูปแบบบ้านเดี่ยว และทาวน์โฮม ในอีก 3 ปีข้างหน้า เนื่องจากต้องรอดีมานด์จากแรงงานในนิคมฯ ที่จะทยอยเข้ามาทำงาน
ทั้งนี้ บริษัทที่ซื้อพื้นที่ในนิคมอารยะฯ เริ่มทำการก่อสร้างโรงงานขึ้นแล้ว คาดใช้เวลาสร้าง 1 ปี ก่อนที่พนักงานโรงงานจะทยอยเข้ามาทำงาน เราเตรียมที่ดิน 5-10 ไร่ ทำอพาร์ตเมนต์ให้เช่าเพื่อรองรับ
สมบูรณ์ กล่าวต่อไปว่า ภาพรวมอสังหาที่เห็นขณะนี้ คือ การแข่งขันสูง กดดันอัตรากำไรขั้นต้นของผู้ประกอบการเหลือ 25-27% จากเดิมที่ 30%
ส่วนยอดขายชะลอตัวลง ทำให้โครงการที่อยู่อาศัยที่อาจปิดโครงการใน 4 ปี ขยายเป็น 6 ปี ทำให้ต้องแบกรับต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น คิดเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ของมูลค่าโครงการ ประกอบกับค่าก่อสร้างแพงขึ้น ทำให้ประเมินว่าจะกระทบราคาที่อยู่อาศัยให้ขยายตัว 3%
โดยต่อจากนี้อาจพัฒนาโครงการเล็กลง เพื่อรีเทิร์นเงินให้เร็วที่สุด เช่น จากซื้อที่ดิน 30-40 ไร่ เหลือ 20-25 ไร่ ทำให้พัฒนาบ้านลดลงเหลือ 200 ยูนิต จากเดิม 300-400 ยูนิต เป็นต้น
“การลงทุนต่อจากนี้เราระมัดระวัง ไม่ผลีผลาม ถ้าไม่มีดีมานด์มากพอก็ยังคงผ่อนคันเร่ง แต่ถ้ากำลังซื้อฟื้นตัวก็จะค่อย ๆ ตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้น จากปีนี้ 1.1 หมื่นล้าน ปีต่อ ๆ ไปอาจตั้งเป็น 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท“