แผ่นดินไหว กทม. ทำคนสนใจบ้านพุ่ง 70-80% ส่วนคอนโดชะลอซื้อ

จากกรณี แผ่นดินไหวเมียนมา 8.2 ริกเตอร์ สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงไทย ทำให้ตึกสูงใน กทม.ได้รับความเสียหายและถล่ม รวมถึงส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมอาคารสูง

[คาดซื้อ-ขายคอนโด ชะลอตัว]

”สุรเชษฐ กองชีพ“ หัวหน้าฝ่ายวิจัยและที่ปรึกษา คุชแมน แอนด์ เวคฟีลด์ ประเทศไทย บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผย “Positioning” ว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหว กทม. ครั้งนี้ คาดแรงสั่นสะเทือนสูงสุดเท่าที่เคยเจอ

ดังนั้น ต่อให้อาคารสูงในไทยทำมารองรับแผ่นดินไหว ก็อาจจะไม่สามารถรองรับเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้ หรือถ้ารองรับได้ก็มีความเสียหายอื่น ๆ ตามมา เช่น โครงสร้าง งานตกแต่ง งานระบบภายใน เป็นต้น

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้คนไทยและคนต่างชาติชะลอการซื้อขาย และโอนกรรมสิทธิ์คอนโดอาคารสูง เนื่องจาก

  1. ผู้ซื้อเกิดความกังวลใจ ลังเลในการซื้อ หรือพักอาศัยในโครงการคอนโดมิเนียม
  2. กลุ่มของผู้ซื้อต่างชาติแม้มีความคุ้นเคยกับเรื่องแผ่นดินไหวมากกว่าคนไทย แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาอาจจะกังวล คือ เรื่องมาตรฐานในการออกแบบโครงการที่เป็นอาคารสูงของประเทศไทย เพราะเรื่องนี้ค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่
ค
ภาพตึกคอนโด ที่มาภาพ ผู้จัดการออนไลน์

“การตัดสินใจซื้อคอนโดมิเนียมหลังจากนี้ เรื่องแผ่นดินไหวจะกลายเป็น 1 ในปัจจัยลบที่กลายเป็นตัวแปรสำคัญ ด้านการโอนกรรมสิทธิ์คอนโดที่สร้างเสร็จช่วงนี้ คงได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ส่วนจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า หากไม่มีเหตุการณ์ซ้ำรอย หรือความเสียหายรุนแรงกับโครงการคอนโดที่เพิ่งสร้างเสร็จ“

อย่างไรก็ตาม กรณีมีโครงการเสียหายมากและผู้ประกอบการตอบสนองหรือเข้าไปจัดการช้าหรือไม่ถูกต้องก็มีผลการซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์โครงการของผู้ประกอบการรายนั้นๆ แน่นอนหลังจากนี้

[ความสนใจบ้านมือสองพุ่ง 70-80%]

“พชร ธนวงศ์เกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. บางกอก แอสเซท อินเตอร์กรุ๊ป (BKA) กล่าวกับ “Positioning” ว่า หลังจากเกิดข่าวแผ่นดินไหวและตึกถล่มใน กทม. เกิดความกังวลในที่อยู่อาศัยรูปแบบอาคารสูง ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาสนใจบ้านมือสอง เพิ่มขึ้น 70-80% (ใน 3 วันนับจากเกิดเหตุการณ์)

ตัวอย่างภาพบ้านเดี่ยวมือสองที่ BKA จำหน่าย

โดยส่วนใหญ่ขอเข้าชมโครงการบ้านเดี่ยวชานเมือง อาทิ โซนราชพฤกษ์ นนทบุรี กลุ่มราคา 5-7 ล้านบาท ขนาดพื้นที่ราว ๆ 50-55 ตร.วา

อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจมาจากภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัวด้วย ทำให้บ้านมือสองเป็นที่นิยม สะท้อนจากยอดโอนกรรมสิทธิ์บ้านมือสอง (เฉพาะแนวราบ) ทั่วประเทศ ปี 2567 มีจำนวน 163,608 ยูนิต คิดเป็นสัดส่วน 62% ของยอดโอนฯ แนวราบทั้งหมด สูงกว่าบ้านมือหนึ่งที่มีสัดส่วนเพียง 38% ของยอดโอนฯ หรือมีจำนวน 130,727 ยูนิต