SCB EIC ประเมินความเสียหายเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมา สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงไทย จนทำให้หลายอาคารใน กทม. ได้รับความเสียหาย โดยประเมินว่าสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจไทยราว ๆ 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ภาคส่วน ได้แก่
1. ภาคการท่องเที่ยว
- นักท่องเที่ยวยกเลิกห้องพัก 1,100 บุ๊กกิ้ง ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ส่วนใหญ่พื้นที่ กทม. (อ้างอิงตัวเลขจากสมาคมโรงแรม)
- ตัวเลขการจองที่นั่งโดยสารบนเครื่องบินรายวันลดลงเฉลี่ย 40-60% (ตัวเลขจากสมาคมสายการบินประเทศไทน)
SCB EIC คาดกระทบภาคท่องเที่ยวระยะสั้น โดยเดือนเมษายน ประเมิน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ลดลง 12% ซึ่งน่าจะฟื้นตัวใน 3 เดือน ส่งผลให้ นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากประมาณการเดิม 400,000 คน “สูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว 21,000 ล้านบาท”
2. ตลาดอสังหาริมทรัพย์
- คอนโดมิเนียม รับผลกระทบด้านความเชื่อมั่นโดยตรงจากกรณีตึกถล่ม SCB EIC ประเมิน ปี 2568 ยอดโอนกรรมสิทธิ์คอนโด กทม. และปริมณฑล เหลือ 85,000 หน่วย ลดลง -0.8% (YoY) จากเดิมคาดการณ์ปีนี้ฟื้นตัว +2.6% โดยหลัก ๆ มาจาก กลุ่มเรียลดีมานด์ชะลอซื้อ-โอนกรรมสิทธิ์คอนโด และกลุ่มซื้อลงทุนก็ชะลอออกไปเช่นกัน
- ผู้อยู่อาศัยเดิมจะยังอยู่ในคอนโดต่อไป เพราะติดข้อจำกัดด้านการเงิน/การย้ายที่อยู่อาศัย ส่วนแนวราบได้อานิสงส์เชิงบวกจากกลุ่มคนที่ย้ายจากคอนโดไปอยู่บ้านแทน
ปัจจัยดังกล่าวจะกดดันหน่วยเหลือขายคอนโด กทม. ในปี 2568 ให้อยู่ระดับสูง 74,000 หน่วย ต้องจับตากลยุทธ์การแก้เกมของผู้ประกอบการในการสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงชูจุดแข็งความปลอดภัยในการอยู่อาศัย
3. ภาคการรับเหมาก่อสร้าง
พื้นที่ก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงในระดับที่ทำให้การก่อสร้างหยุดชะงักหลังเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้กิจกรรมก่อสร้างทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนในปี 2568 จะยังสามารถดำเนินการได้ต่อเนื่อง
ประกอบกับธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง รวมถึงผู้ผลิตและค้าวัสดุก่อสร้างจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการซ่อมแชมอาคาร และสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับความเสียหาย
SCB EIC มองว่า การปรับแผนกลยุทธ์ของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี ที่อาจชะลอการเปิดโครงการคอนโดมิเนียมใหม่มากขึ้น มีแนวโน้มส่งผลกระทบต่อเนื่องให้กิจกรรมก่อสร้างอาคารคอนโดมิเนียม มูลค่าราว 86,000-100,000 ล้านบาทต่อปี (ราว 15%-17% ของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนโดยรวม) เติบโตชะลอลงตาม
ความสามารถในการรองรับภัยพิบัติต่าง ๆ ของสิ่งปลูกสร้าง จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้ว่าจ้าง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนให้ความสำคัญ
รวมถึงบริษัทรับเหมาก่อสร้าง มีแนวโน้มจะเผชิญความเข้มงวดจากผู้ว่าจ้างมากขึ้น ตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าประมูลงาน ทั้งคุณสมบัติและประสบการณ์ของผู้รับเหมาหลัก พันธมิตร และผู้รับเหมาช่วง ขั้นตอนการ ก่อสร้างที่จะต้องมีความปลอดภัย และใช้วัสดุก่อสร้างที่ได้มาตรฐาน จนถึงขั้นตอนตรวจรับงานที่ผู้ว่าจ้างจะเข้มงวดมากขึ้น ทั้งความตรงเวลาและคุณภาพของงานที่ส่งมอบ
ทั้งนี้ ความเข้มงวดในขั้นตอนต่าง ๆ ที่สูงขึ้นนี้จะเป็นแรงกดดันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างเกิดการแข่งขันด้านคุณภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมของภาคก่อสร้างตามมาในระยะข้างหน้า