อ้างอิงข้อมูลจาก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดร้านอาหารปี 2568 จะมีมูลค่า 657,000 ล้านบาท เติบโต 4.6% โดยในกลุ่ม Full Service Restaurants เติบโตต่ำสุดที่ 2.9% มีมูลค่าประมาณ 213,000 ล้านบาท ทำให้ Zen Group ต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ โดยหาน่านน้ำใหม่ ๆ เพื่อสร้างการเติบโต
รู้จักอาณาจักรเซ็น กรุ๊ป
จุดเริ่มต้นของ เซ็น กรุ๊ป (Zen Group) เริ่มโดย สุทธิเดช จิราธิวัฒน์ ที่ควักเงินส่วนตัวบุกเบิกตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2534 ก่อนจะเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในปี 2561 จนถึงปัจจุบัน เครือเซ็น กรุ๊ปก็มีอายุ 34 ปี มีร้านอาหาร ในเครือรวมแล้ว 10 แบรนด์ โดยแบ่งเป็น อาหารญี่ปุ่น และ อาหารไทย อีกทั้งยังได้ จอมขวัญ และ สรรคนนท์ จิราธิวัฒน์ มาเป็นผู้สานต่อเครือเซ็น กรุ๊ปแบบเต็มตัว
สำหรับแบรนด์ร้านอาหารในเครือฯ 10 แบรนด์ ได้แก่ Zen (เซ็น), AKA (อากะ), TETSU (เท็ตซึ), Din’s (ดินส์), Sushi Cyu & Carnival (ซูชิ ชู แอนด์ คาร์นิวัล), ตำมั่ว (Tummour), เดอ ตำมั่ว (De Tummour), ลาวญวน (LaoYuan), เขียง (Khiang) รวมแล้วมีทั้งหมด 317 สาขา โดยแบ่งเป็นลงทุนเอง 177 สาขา แฟรนไชส์ 140 สาขา ซึ่งในส่วนของธุรกิจแฟรนไชส์คิดเป็นรายได้ประมาณ 10% ส่วนธุรกิจร้านอาหารเป็นสัดส่วนใหญ่สุดที่ 70%
ธุรกิจ Manufacturing ดาวเด่นของเซ็น กรุ๊ป
ส่วนรายได้อีก 20% ที่เหลือมาจาก ธุรกิจ Manufacturing ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปร่วมลงทุนใน 2 บริษัท ได้แก่
- บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด – ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องปรุงรส
- บริษัท คิง มารีน ฟู้ดส์ จำกัด – ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารทะเลและเนื้อแช่แข็ง รวมถึงวัตถุดิบปรุงอาหาร
ซึ่งในธุรกิจ Manufacturing ถือเป็น ดาวเด่น ของเซ็น กรุ๊ป เพราะไม่เพียงแค่ช่วยให้เครือฯ มั่นใจได้ว่าจะมีวัตถุดิบคุณภาพที่เพียงพอต่อความต้องการของร้านอาหารในเครือ แต่ยังสร้างยอดขายได้อีกด้วย โดยยอดขายทั้ง 2 บริษัท ในปี 2567 สามารถเติบโตได้กว่า 34%
โดยในปีนี้ บริษัท คิง มารีน ฟู้ดส์ จำกัด จะเปิด โรงงาน ในเดือนเมษายนนี้ ซึ่งจะใช้ตัดแต่งวัตถุดิบให้เหมาะกับการใช้งาน ซึ่งบริษัทมีแผนจะเจาะกลุ่มร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน ในส่วนของ บริษัท เซ็น แอนด์ โกสุม อินเตอร์ฟู้ดส์ จำกัด จะเริ่มผลิตสินค้าใหม่ ๆ

ออกส้มตำพร้อมทาน ชิมลางตลาด
ที่ผ่านมา เซ็น กรุ๊ป ออกโปรดักส์รีเทลมาต่อเนื่อง ขายทั้งแบบ B2C และ B2B แต่ส่วนใหญ่จะเป็นในกลุ่ม Ready to cook เช่น น้ำปลาร้า และน้ำพริกที่ออกมาตามซีซั่น แต่ล่าสุด เครือได้จับมือกับ บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) โดยจะวางจำหน่าย ส้มตำพร้อมทาน แบรนด์ตำมั่ว โดยจะวางจำหน่ายใน แม็คโคร และ โลตัส ออกมาแล้ว 2 สูตร คือ ส้มตำไทย และส้มตำปลาร้า
โดยภายในปีนี้ ทางบริษัทจะมีสินค้าใหม่ ๆ ออกมา เฉลี่ยเดือนละ 1 แบรนด์ แต่จะเริ่มจากแบรนด์อาหารไทยก่อน ไม่ว่าจะเป็นตำมั่ว, เขียง, และ ลาวญวน เพื่อสร้างรายได้ใหม่ ๆ และช่วยให้แบรนด์ใกล้ชิดกับลูกค้ายิ่งขึ้น เพราะไม่จำเป็นต้องไปที่ร้าน ก็สามารถพบเจอกับแบรนด์ได้
“เรายังไม่ได้วางเป้าว่าจะทำยอดขายเท่าไหร่ เพราะนี่เป็นการทดลองก่อน ดังนั้น เราเลยขอลองขายแค่ในแม็คโคร และ โลตัส ยังไม่เข้าเซเว่น อีเลฟเว่น”
มองโอกาสเจาะต่างประเทศมากขึ้น
ในส่วนของการ ขยายสาขา ปีนี้วางไว้ทั้งหมด 24 สาขา แบ่งเป็นในประเทศไทย และต่างประเทศ อย่างละครึ่ง โดยในต่างประเทศจะเน้น เปิดแฟรนไชส์ร้านอาหารไทย เน้นไปที่ กลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ลาว มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งทั้ง 3 ประเทศอยู่ใกล้ไทย ทำให้ดูแลบริหารจัดการได้ง่าย อีกทั้งยังมีความชื่นชอบและรู้จักอาหารไทย และเมื่อพิจารณาจากจำนวนประชากร ทำให้เห็นโอกาสเติบโตในระยะยาว
ปัจจุบัน เซ็น กรุ๊ปมีสาขาอยู่ต่างประเทศทั้งหมด 14 สาขา โดยเป็นแฟรนไชส์ทั้งหมด ได้แก่
- AKA 1 สาขา
- On the Table 3 สาขา
- ตำมั่ว 3 สาขา
- เขียง 7 สาขา
“เราทำการบ้านมาแล้ว อย่างมาเลเซียมีนักท่องเที่ยวมาไทยมาเป็นอันดับ 2 เขารู้จักไทยเป็นอย่างดี โดยเราทดลองเปิดร้านไป 3 สาขา ผลตอบรับก็ดี ส่วนในฟิลิปปินส์ อาหารไทยเป็นประเภทอาหารที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้น ๆ”

ยังไม่มีแผนเพิ่มแบรนด์ใหม่ เน้นรีเฟรชแบรนด์เก่า
ในส่วนของการขยายสาขาในไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 10-20 สาขา ดังนั้น ที่คาดว่าจะเปิด 12 สาขาปีนี้จึงไม่ได้เยอะมาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขยายตามศูนย์การค้าที่เปิดใหม่ ซึ่งปีนี้มีน้อย ทำให้เน้นไปที่การ รีเฟรช รีโนเวต เพื่อสร้างความตื่นเต้น และเน้นไปที่การพัฒนาอาหาร โดยทั้งการเปิดสาขาใหม่กับรีโนเวต คาดว่าจะใช้งบลงทุนรวมกันประมาณ 100 ล้านบาท
“เราเปิดสาขาใหม่ ๆ ไปก่อนหน้านี้ค่อนข้างเยอะ ทำให้ปีนี้เราเน้นไปที่การ Revamp & Renovate เน้นพัฒนาเมนูอาหารใหม่ ๆ ให้ผู้บริโภคนึกถึงเราในทุกมื้ออาหาร ซึ่งเราเรียนรู้ที่จะอยู่ทุกสภาพเศรษฐกิจ เรารู้จักหวะว่าควรขยายธุรกิจในช่วงไหนเป็นพิเศษ ดังนั้น บางเรื่องเราจะทำตัวช้าลง บางอย่างอาจติดสปีด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน เราก็ต้องคอยดูว่าจะไปในทิศทางไหน ดีที่เรามีแอสเซตที่ดีอยู่เเล้ว จึงเน้นไปที่การรีเฟรช รีโนเวต ให้เราตื่นเต้นในตลาด เพื่อแข่งขันกับคู่แข่งได้”
ตลาดยังโต แต่ผู้เล่นเปลี่ยนไม่ถึง 5%
ในส่วนของการเพิ่ม แบรนด์ใหม่ ยังไม่มีแผน เพราะเซ็น กรุ๊ปจะ ไม่เล่นเกมแฟชั่น เน้นการเติบโตที่ยั่งยืน โดยทั้ง 10 แบรนด์ที่มีอยู่ในมือ ต่างก็อยู่ในตลาดที่ใหญ่ที่สุด คือ อาหารไทย (มูลค่า 3 แสนล้านบาท) และ อาหารญี่ปุ่น (มูลค่าตลาด 3 หมื่นล้านบาท) ส่วนแบรนด์ใหม่ ๆ ที่เข้ามา ระยะแรกลูกค้าอาจไปลอง แต่ถ้าไม่ดี ก็ไม่มีการไปซ้ำ ดังนั้น ส่วนใหญ่จะมาแล้วก็ไป ทำให้ผู้เล่นในตลาดร้านอาหารมีเปลี่ยนหน้าไม่ถึง 5%
“ธุรกิจหลักที่ปิดเยอะสุดคือ ก่อสร้าง และร้านอาหาร ซึ่งเราก็เห็นว่ามีคนที่เข้ามาใหม่ แล้วก็ปิดตัวไปเพราะอยู่ไม่ได้ โดยเฉพาะทุนจีน เหมือนกับการจุดพลุ มาแล้วไป”
สำหรับปีนี้ เซ็น กรุ๊ป ตั้งเป้าหมายการเติบโตไว้ที่ +10% หรือมีรายได้ 4,500 ล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมา บริษัทมีรายได้รวม 4,092 ล้านบาท เติบโต +3% โดยแบรนด์ร้านอาหารที่สร้างรายได้สูงสุด ได้แก่ Zen (1,146.2 ล้านบาท), AKA (942.8 ล้านบาท) และ On the Table (519.0 ล้านบาท)