ทายาท กาญจนะจิตรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พิณสิริ เอสเตท จำกัด และนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ระยอง เปิดเผยว่า แต่เดิมการพัฒนาของจังหวัดระยองกระจุกตัวอยู่โซนมาบตาพุด ปลวกแดง และบ้านฉาง แต่หลังจากระยองถูกผนึกเป็นพื้นที่ EEC แต่ละอำเภอเริ่มเติบโตขึ้น
โดยมีปัจจัยสำคัญจากกฎหมายที่เปิดทางแก้สีผังเมืองได้ ทำให้มี “ผู้ประกอบการจีน” เข้ามาทำโรงงาน-นิคมอุตสาหกรรม กระจายออกไปในหลายพื้นที่ที่มีราคาที่ดินถูก อาทิ บ้านค่าย แกลง หลักชัยเมืองยาง แม่น้ำคู้ และนิคมพัฒนา
“กลุ่มอุตสาหกรรมที่เข้ามาใหม่ส่วนใหญ่เป็นคนจีน ส่วนใหญ่จะสร้างและเปิดโรงงานเอง นอกโซนนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่เดิม ๆ โดยเฉพาะนิคมพัฒนา แทบไม่มีแรงงานไทยอยู่“

ขณะที่ในอำเภอรอบนอกตัวเมือง ก็เห็นภาพมีคอนโด 10 แท่ง ที่ทุนจีนสร้างมาเปิดขาย-เช่ากันเองในพื้นที่
ส่วนถ้าลองสำรวจร้านอาหารรอบนอก จะพบว่า ราคาเริ่มแพงกว่าใน กทม. กระทั่งร้านก๋วยเตี๋ยวเล็ก ๆ ตอนนี้เดินเข้าไปก็ติดเมนู 3 ภาษา ไทย จีน และอังกฤษ
“ที่พอจะได้ประโยชน์ก็จะเป็นร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ และเจ้าของที่ดินที่ขายได้ก็จบกันไป”
ที่น่ากังวลอีกประการ คือ กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาเปิดโรงงาน-นิคมอุตฯ แม้แต่การก่อสร้าง ยังใช้วัสดุ ยกเว้นซีเมนต์ (ซึ่งเป็นของหนักผสมจากต้นทางมาไม่ได้) และรับเหมาก่อสร้างจากจีนทั้งสิ้น
โดยกลุ่มรับเหมาจากจีน มีการให้ราคาปูหลังคาและกระเบื้องอยู่ที่ 4,000 บาท/ตร.ม. ถูกกว่าไทย 3 เท่าตัว ที่มีราคา 12,000 บาท/ตร.ม.
“สิ่งเหล่านี้ผมไม่รู้ว่าคนไทยในพื้นที่ได้ประโยชน์มากแค่ไหน แต่เราเสียประโยชน์แน่นอน”

พงษ์พันธ์ พลอยเพ็ชร ผู้อำนวยการฝ่ายโลจิสติกส์และอุตสาหกรรม คุชแมน แอนด์ เวลคฟิลด์ ประเทศไทย กล่าวว่า นับแต่ปี 2567 นักลงทุนจีน ได้ย้ายฐานการผลิตมาไทย เพื่อกระจายความเสี่ยงจากการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจอิเลกทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาไทยแทบไม่ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของทุนจีน นอกจากการขายที่ดิน เพราะ คนจีนมักจะใช้วัสดุ และรับเหมาจากจีนเอง
ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดมาตรการ หากเข้ามาโดยได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี อาทิ ยกเว้นภาษีบางอย่าง ควรมีการบังคับใช้วัสดุ (Material) ในไทยจำนวนกี่เปอร์เซ็นต์ หรือกระทั่งการตั้งเงื่อนไขการผลิตว่าต้องใช้วัสดุจากไทยบางอย่าง
นอกจากนี้ การเข้ามาของนักลงทุน นักธุรกิจที่เน้นการผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ส่งผลให้ความต้องการในส่วนของที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม อาคารโรงงาน และคลังสินค้าสำเร็จรูปมีมากขึ้น ทำให้ที่ดินในแถบ EEC ราคาเพิ่มขึ้น จาก 3-4 ล้านบาท/ไร่ เป็น 6-7 ล้านบาท/ไร่