นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงทิศทางการดำเนินธุรกิจหลังเข้ารับหน้าที่บริหารแทน “แจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ” ที่ลาออกไปเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีว่า การดำเนินธุรกิจทุกอย่างยังคงสภาพเดิม แต่เน้นการประสานงานระหว่างหน่วยงานมากขึ้น โดยยังคงแบ่งเป็น 4 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ 1.กลุ่มธุรกิจช่องทางการจัดจำหน่าย (ITDSBU) โดยมีนายวีระ อิงค์ธเนศ ดูแลรับผิดชอบ ในตำแหน่งกรรมการและผู้อำนวยการบริหาร 2. กลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์ (SISBU) ที่อยู่ภายใต้การดูแลของนายอดิศร แก้วบูชา 3.กลุ่มธุรกิจโครงการไอที (ITPSBU) ที่มีนายกฤช กุลทรัพย์ไพศาล รับผิดชอบ และ 4. กลุ่มธุรกิจไอทีซูเปอร์สโตร์ หรือที่รู้จักกันดีในนามไอที ซิตี้ ที่มีนายเอกชัย ศิริจิระพัฒนา ดูแล และได้แยกไปบริหารจัดการโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ แต่ยังถือเป็นหน่วยธุรกิจหนึ่งของ เอสวีโอเอ
“ผมจะนำจุดแข็งการเงินและการบัญชีที่มีอยู่เดิมมาเสริมการบริหารงานโดยเน้นการใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามดูแลสินค้าคงคลัง และการปล่อยเครดิตอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้เกิดบทเรียนทางการเงินเช่นที่ประสบมา และภารกิจสำคัญคือ การนำชื่อยี่ห้อเอสวีโอเอให้มีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ 1 ภายใน 1 ปี – 1 ปีครึ่งของเครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) ทั้งยี่ห้อต่างประเทศและในประเทศ ด้วยยอดขาย 100,000 เครื่อง และจากที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะครองส่วนแบ่งการตลาดพีซีอันดับ 1 ของตลาดเครื่องประกอบในประเทศ ณ ปัจจุบันบริษัทฯ ประสบความสำเร็จตรงจุดนี้แล้ว โดยมียอดขายพีซีรวมประมาณ 50,000 – 60,000 เครื่อง ขณะเดียวกันก็แตกธุรกิจใหม่และตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม รวมทั้งมีการควบคุมค่าใช้จ่ายการบริหารงานให้เติบโตที่ศูนย์เปอร์เซ็นต์” นายสมพลกล่าว
ทั้งนี้กลยุทธ์ของเอสวีโอเอที่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือ 1. เรื่องของการสร้างเฮาส์ แบรนด์ ในนาม “เอสวีโอเอ” ซึ่งหลังจากนี้จะไม่ใช่เฉพาะเรื่องของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) หรือโน้ตบุ๊กเท่านั้น แต่ยังจะรุกเข้าไปในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เช่น การผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วน 2. การนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดจะเน้นเรื่องของไลฟ์สไตล์เป็นหลัก โดยเฉพาะสินค้าประเภทคอนซูเมอร์โปรดักส์ เช่น พีดีเอ กล้องดิจิตอล เป็นต้น 3. เรื่องของธุรกิจบริการทั้งก่อนและหลังการขาย รวมถึงเรื่องของการทำเอาต์ซอร์สซิ่งด้วย
จากแผนการดำเนินการดังกล่าว เอสวีโอเอมีแผนจะขยายสาขาในส่วนของกลุ่มธุรกิจช่องทางการจัดจำหน่าย อีกประมาณ 3-5 สาขา ส่วนธุรกิจกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์จะรุกเข้าไปในตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น ไฟแนนซ์ ประกันภัย และโทรคมนาคม จากเดิมที่ลูกค้ากลุ่มหลักๆ จะเป็นประเภทธนาคาร ส่วนกลุ่มธุรกิจโครงการไอที ก็ยังคงเข้าประมูลโครงการต่างๆ เช่นเดิม แต่การทำงานจะ Synergy กับกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น
ในมุมมองของสมพลเชื่อว่า ช่วงปี 2547 – 2548 จะเป็นปีทองของธุรกิจไอที เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของไอซีทีมาก ซึ่งจะเห็นได้จากโครงการต่างๆ จะมีเรื่องของอิเล็กทรอนิกส์ “e” เข้ามาเกี่ยวข้อง และพยายามผลักดันให้เกิด นอกจากนี้ ทุกอย่างจะใช้คอมพิวเตอร์เป็นตัวควบคุมทั้งหมด และจะทำให้มีโครงการใหม่ๆ และใหญ่เกิดขึ้น
“ส่วนผลการดำเนินงานในรอบปี 2546 เอสวีโอเอคาดว่าจะมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,300 ล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ช่วงต้นปี 3,200 บาท โดยมีรายได้มาจากกลุ่มธุรกิจต่างๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 20% ทั้งนี้เอสวีโอเอ ตั้งเป้ายอดรายได้ของปี 2547 ไว้ที่ประมาณ 4,000 ล้านบาท โดยรายได้จะมาจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักเหมือนเดิม มีเพียงกลุ่มธุรกิจที่ปรึกษาและวางระบบคอมพิวเตอร์น่าจะเพิ่มจาก 20% เป็น 30% เพราะมีตลาดใหม่ๆ ที่เป็นโอกาสทางธุรกิจ” นายสมพลกล่าวสรุป
ด้านนายแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ อดีตกรรมการ และประธานบริหาร บริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนายสมพล เอกธีรจิตต์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของเอสวีโอเอว่า “ผมมั่นใจว่าคุณสมพลจะสามารถปฏิบัติภารกิจนำแบรนด์เอสวีโอเอขึ้นสู่อันดับ 1 ในประเทศ ได้อย่างแน่นอน เนื่องจากคุณสมพลได้เข้าร่วมงานกับเอสวีโอเอในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2541 และร่วมฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการจนสามารถนำพาเอสวีโอเอผ่านพ้นวิกฤติมาได้ โดยเป็นผู้เจรจากับเจ้าหนี้ และหาพันธมิตรทางธุรกิจร่วมกันมาโดยตลอด รวมทั้งคุณสมพลยังเป็นผู้บริหารที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ โดยคุณสมพลเป็นผู้วางยุทธศาสตร์ด้านการเงินและบัญชีของบริษัทจนทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และถือเป็นแรงสำคัญที่ผลักดันให้บริษัทสามารถฟื้นตัวและทำกำไรได้อีกครั้งในวันนี้”