รู้ว่าชีวิตต้องมีเงินเก็บ เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินหรือรับมือกับความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน แต่ตอนนี้เงินที่จะใช้ยังไม่พอถึงสิ้นเดือนเลย แล้วจะเอาที่ไหนมาสำรอง 6 เดือน น่าจะเป็นคำถามที่เกิดขึ้นกับใครหลายคน
บทความนี้ จึงอยากชวนมาอ่านวิธีคิดของ Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ ‘ผมจะสอนให้คุณรวย’ เผื่อจะเป็นแนวทางสำหรับแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ได้
.
1.จดรายรับรายจ่ายตามจริง เพื่อให้เห็นภาพรวมว่า มีรายรับและมีการใช้จ่ายเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เห็น ‘รอยรั่ว’ และนำมาช่วยสร้างระบบของการใช้จ่ายใหม่ให้ดีขึ้นในรอบถัดไป
2.ออกแบบการใช้เงินแบบมีสติ โดย Ramit Sethi แนะนำให้วางแผนการใช้เงินแบ่งออกเป็น 4 ส่วน ได้แก่
ส่วนที่ 1 ค่าใช้จ่ายคงที่ ≤ 60 % เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ บิลที่ต้องจ่าย ฯลฯ
ส่วนที่ 2 ค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคต ≥ 10 % เช่น เงินสำรองฉุกเฉินหรือเงินลงทุน
ส่วนที่ 3 ค่าใช้จ่ายเพื่อความสุขแบบไม่รู้สึกผิด 20–30 % เช่น ค่ากาแฟ เสื้อผ้า ดูหนัง หนังสือ หรือทำสิ่งที่ชอบ
ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาตนเองหรือบริจาค 5-10%
สำหรับการเงินเผื่อสำรองฉุกเฉิน หากเริ่มตั้งไว้ที่ 10% ยังไม่ไหว ก็ให้เริ่มจาก 1 % ก่อน เพราะการออกแบบทางการเงินไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงิน แต่เป็นการเปลี่ยนจากการ ‘ไม่มีระบบ’ มาสู่ ‘การมีระบบ’ ส่วนจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นต้องอาศัยเวลา
3.เมื่อเห็นแล้วว่า ค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนมีอะไรบ้าง ต่อไปให้ดูที่ค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนรถที่มากเกินไป แพ็กเกจมือถือเกินใช้ ค่าบัตรเครดิต หรือค่าเช่าคอนโดที่แพงเกินจริง เป็นต้น จากนั้นให้ลองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายเหล่านั้นลง เช่น รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต โทรหาธนาคารขอปรับลดดอกเบี้ยหรือโอนหนี้ไปสถาบันใหม่ดอกต่ำกว่า ฯลฯ เพื่อนำเงินไปต่อยอดหรือเก็บออมมากขึ้นนั่นเอง
4.หาทางเพิ่มรายได้ เพราะเมื่อตัดค่าใช้จ่ายและวางแผนการใช้เงินแล้ว แต่ยังไม่พอ ทางออกก็คือ ต้องหาทาง ‘สร้างรายได้เพิ่ม’ เช่น ต่อยอดทักษะในงานหลักเพื่อสร้างผลงานและรายได้, ทำฟรีแลนซ์หลังเลิกงาน หรือหาอาชีพเสริม ฯลฯ เมื่อรายได้เพิ่มให้โอนตรงเข้ากอง ‘ค่าใช้จ่ายเพื่ออนาคต’ ทั้งก้อน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีเงินสำรองฉุกเฉิน 6 เดือน
5.ให้การเก็บเงินฉุกเฉินเป็นแบบ ‘อัตโนมัติ’ เพราะถ้าเพิ่งวินัยอย่างเดียว คุณอาจจะลืม หรือหาเหตุผลมาหย่อนวินัยในการออม และมีโอกาสสูงที่จะหยุดทำได้ ดังนั้น การจะมีเงินสำรอง 6 เดือนจึงต้องเปิดบัญชีเงินสำรองที่ ‘แตะไม่ได้’ และตั้งโอน ‘อัตโนมัติ’ ให้โอนออกไปไว้ในบัญชีที่แตะไม่ได้เลยทันที
6.ตั้งเป้าหมายย่อย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ ยกตัวอย่าง หากเรามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 20,000–30,000 บาท/เดือน เงินสำรอง 6 เดือนควรมีอยู่ที่ 120,000–180,000 บาท ซึ่งดูเป็นเงินก้อนใหญ่ ดังนั้นให้คุณลองตั้งเป้าหมายจากก้าวเล็ก ๆ ไปสู่เป้าหมายใหญ่ เช่น 2 เดือนแรก อาจเก็บเงิน 5,000 บาทต่อเดือน แล้วค่อย ๆ เพิ่มไป