ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดให้ความรู้เรื่อง HIV และโรคเอดส์กับพนักงาน 30,000 คนทั่วโลก

พนักงานทุกคนของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด รวม 30,000 คนทั่วโลกได้เข้ารับการอบรมเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องเชื้อ HIV และโรคเอดส์ การอบรมนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Living with HIV ของธนาคารซึ่งมีเป้าหมายที่จะอบรมพนักงานให้ครบทุกคนเพื่อต้อนรับวันเอดส์โลกซึ่งตรงกับวันที่ 1 ธันวาคม 2546 นี้ วัตถุประสงค์ของการอบรมนั้นก็เพื่อที่จะลบความเชื่อที่ผิดๆเกี่ยวกับโรคนี้และเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ในสังคม และในขณะเดียวกันก็เพื่อเป็นการช่วยลดความเสี่ยงของพนักงานต่อการติดเชื้อ HIV

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นธนาคารระดับนานาชาติชั้นนำในทวีปเอเชีย แอฟริกา และ ตะวันออกกลาง ซึ่งรวมถึงหลายๆประเทศที่กำลังประสบปัญหาที่เกิดจากเชื้อ HIV และโรคเอดส์ โดยเฉพาะแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดในโลก คณะกรรมการโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ได้ประเมินไว้ว่าภายในสิ้นทศวรรษนี้ ประเทศอินเดียจะแซงขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งด้วยจำนวนประชากรที่ติดเชื้อมากถึงประมาณ 20 ถึง 25 ล้านคน ในขณะที่ประเทศจีนก็จะตามมาใกล้ๆด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อ 10 ถึง 20 ล้านคนโดยประมาณ ในเมื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้เข้าประกอบธุรกิจในประเทศเหล่านี้ จึงถือเป็นหน้าที่ของทางธนาคารฯที่จะให้ความรู้แก่พนักงาน ลูกค้า และชุมชน

การขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อ HIV ถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้บางประเทศมีอัตราการติดเชื้อที่สูง นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังพบอีกว่าความละเอียดอ่อนในเชิงวัฒนธรรมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งทำให้การพูดถึงโรคนี้ไม่สามารถทำกันได้อย่างเต็มที่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสนับสนุนการกล้าแสดงออกและได้ส่งเสริมให้มีการพูดถึงเชื้อ HIV และโรคเอดส์นี้อย่างเปิดเผยในที่ทำงานพร้อมทั้งการให้ข้อมูลแก่พนักงานภายใต้โครงการ ‘Living with HIV’ ของทางธนาคารฯ ซึ่งเป็นโครงการที่พนักงานจะช่วยสอนเพื่อนพนักงานให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อ HIV และ โรคเอดส์ ซึ่งรวมไปถึงการแพร่กระจายของโรค การป้องกันการติดเชื้อ ตลอดจนการให้การดูแลเอาใจใส่ผู้ที่ติดเชื้อ โครงการนี้ประสบความสำเร็จได้ก็เพราะพนักงานผู้ที่มีใจเปิดกว้างและมีความเข้าใจถึงความละเอียดอ่อนในเชิงวัฒนธรรมของแต่ละประเทศได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ไบรอัน แซนเดอร์สัน ประธานกรรมการกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้กล่าวถึงความสำเร็จของโครงการนี้ว่า “ในฐานะบริษัทระดับนานาชาติชั้นนำของโลกนั้น เรามีหน้าที่ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเชื้อ HIV และ โรคเอดส์นี้ เรามีหน้าที่รับผิดชอบต่อพนักงานและต่อสังคมที่เราเข้าไปประกอบธุรกิจอยู่ เรายินดีที่สามารถให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเชื้อ HIV และโรคเอดส์นี้แก่พนักงานของเรา และอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของโครงการ Living with HIV ของเราก็คือการได้รับรางวัล ‘Business Excellence in the Workplace’ จากสมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจโลกต้านภัยเอดส์ (Global Business Coalition on HIV/AIDS) ประจำปี 2546 นี้”

เมื่อกล่าวถึงอุปสรรคต่างๆ เมอร์วิน เดวี่ส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้กล่าวว่า “ประสบการณ์ของเราจากแอฟริกานั้นสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับประเทศอื่นๆทั่วโลกที่เราประกอบธุรกิจอยู่ ในฐานะธนาคารระดับนานาชาติซึ่งเป็นผู้นำในทวีปเอเชีย แอฟริกา และแถบตะวันออกกลางนั้น เรามีหน้าที่ที่จะลดผลกระทบที่เกิดจากโรคนี้ดังที่ประสบอยู่ในหลายๆประเทศ การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคนี้จะช่วยลดอัตราการแพร่ขยายของโรคและมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น เรายินดีที่จะแบ่งปันสื่อความรู้เรื่องเชื้อ HIV และโรคเอดส์ให้กับผู้อื่น และในขณะเดียวกันเราขอเชิญชวนผู้ประกอบธุรกิจทุกท่านมาร่วมกันต่อสู้กับโรคระบาดที่ร้ายแรงที่สุดที่โลกเคยประสบมา”

ในประเทศไทย ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ได้รับคัดเลือกเป็น “สถานประกอบการดีเด่น” ประจำปี 2546 โดยศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย โดยผ่านกระบวนการพิจารณาจากคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลดีเด่นที่ทรงคุณวุฒิจากสาขาต่างๆ คุณรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ จะเป็นตัวแทนเพื่อเข้ารับประทานรางวัลจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีพระวรราชาทินัดดามาตุในวันนี้

ในวันนี้พนักงานธนารคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังพร้อมใจกันติดริบบิ้นสีแดงซึ่งเป็นสัญญลักษณ์ที่ทั่วโลกใช้เพื่อแสดงถึงความห่วงใยต่อผู้ติดเชื้อและความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับโรคนี้ และยังช่วยเป็นเครื่องเตือนสติผู้อื่นว่าของความร่วมแรงร่วมใจของทุกๆคนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการต่อสู้กับโรคร้ายนี้ ในโอกาสเดียวกันนี้ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ดนครธนยังได้ร่วมกับ Unicef, UNDP, UNAIDS, กระทรวงสาธารณสุข, สมาคมแนวร่วมภาคธุรกิจไทยต้านภัยเอดส์ (TBCA) และองค์กรอื่นๆ สนับสนุนการแสดงคอนเสิร์ท ‘MTV Music Summit for AIDS 2003’ ที่จะมีขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่สนามกีฬาในร่มหัวหมากในวันนี้อีกด้วย

ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ซาฟีนา โกมลตะเมธี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ / โทร 02 724 8010
สุรเชษฐ วรวงศ์วสุ เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ / โทร 02 724 8023 โทรสาร 02 724 8018

เกี่ยวกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีพนักงานกว่า 30,000 คนใน 500 สาขาในกว่า 50 ประเทศใน เอเชียแปซิฟิก เอเชียตอนใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา สหราชอาณาจักร และในทวีปอเมริกา และเป็นธนาคารระดับนานาชาติชั้นนำ โดยมีทีมผู้บริหารซึ่งประกอบไปด้วยบุคลากรจากกว่า 70 สัญชาติ

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์ลอนดอนและ ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงและยังเป็นหนึ่งใน 25 อันดับแรกจากการจัดอันดับ FTSE – 100 Companies จำแนกโดยขนาดของเงินลงทุนในตลาด
ธนาคารมีธุรกิจหลักคือ บุคคลธนกิจ และสถาบันธนกิจ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีรากฐานที่มั่นคงในตลาดที่กำลังเติบโต และมีเป็นหมายที่จะร่วมประกอบธุรกิจกับคู่ค้าที่เหมาะสมเพื่อที่จะให้บริการแก่ลูกค้า โดยผสมผสานความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับตลาดเข้ากับความสามารถที่มีในตลาดสากลเข้าด้วยกัน
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจจากตลอดเครือข่ายการทำงานทั้งในแง่ของบรรษัทภิบาลและความมุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่ชุมชนที่ธนาคารฯประกอบธุรกิจอยู่

เกี่ยวกับธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน

ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งขึ้นภายใต้ ชื่อเดิมว่า ธนาคารนครธน ในเดือนกันยายน 2476 โดยเข้าเป็นบริษัท จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2526

เมื่อวันที่ 10 เดือนกันยายน พ.ศ. 2542 ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้เข้ามาถือหุ้นใหญ่ 75 เปอร์เซ็นต์ ในธนาคารนครธน พร้อมกับเข้าบริหารธนาคารและได้เปลี่ยนชื่อธนาคารเป็น “ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน จำกัด (มหาชน)” โดยมีเป้าหมายนำธนาคารก้าวขึ้นเป็นธนาคารชั้นแนวหน้าของประเทศไทยด้วยการพยายามเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดและการลงทุนในส่วนของตลาดที่เราเลือก พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารสู่ระดับสากล ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ให้บริการผ่านสาขา 41 แห่งในประเทศ โดยมีธุรกิจหลัก 2 ประเภท 1) บุคคลธนกิจ (Consumer Banking) ประกอบด้วย บริการบัตรเครดิต สินเชื่อบุคคล บริการธนาคารพิเศษ ตลอดจนธุรกิจบริหารเงินและการลงทุน, 2) สถาบันธนกิจ (Wholesale Banking) ให้บริการแก่ลูกค้าธุรกิจรายใหญ่ 2 รูปแบบ คือ บริการสินเชื่อธุรกิจเพื่อการพาณิชย์ และ บริการด้านบริหารเงินและตลาดทุน