จากการสำรวจระดับโลก Deloitte Global 2025 Gen Z and Millennial Survey ที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง 22,841 คน จาก 44 ประเทศ โดยข้อมูลไทยมาจากกลุ่มตัวอย่าง 330 คน มีการแบ่งชัดเจนระหว่าง Gen Z (18-30 ปี) และ Millennial (30-42 ปี) เก็บข้อมูลในช่วงเวลา ต.ค. – ธ.ค. 2567 พบว่า
85% ของทั้ง Gen Z และ Gen Y ในประเทศไทย เคยใช้ GenAI ช่วยในการทำงาน แสดงให้เห็นว่า การใช้งานเทคโนโลยีดังกล่าวที่กำลังกลายเป็นเรื่องปกติในที่ทำงาน โดย 3 อันดับแรกที่ทั้ง 2 เจนเนอเรชั่นนิยมใช้งานมากที่สุด ได้แก่
- การวิเคราะห์ข้อมูล
- การออกแบบเชิงสร้างสรรค์
- การสร้างเนื้อหา
อย่างไรก็ตาม Gen Z จะใช้ในกิจกรรมประจำวันมากกว่า แต่ Gen Y มีแนวโน้มในการใช้งานที่หลากหลายกว่า และยังมีการใช้งานบางด้านที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการสร้างเนื้อหา ทั้งนี้ 1 ใน 4 ของคนทั้ง 2 เจนเนอเรชั่น ได้รับการฝึกอบรมการใช้ GenAI แล้ว ขณะที่อีกราวครึ่งหนึ่งหรือมากกว่า วางแผนจะ เข้ารับการอบรมภายใน 12 เดือนข้างหน้า
ในส่วนของมุมมองของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อเทคโนโลยีนี้มีทั้ง แง่บวกและลบ โดยประมาณ 90% เชื่อว่าจะ ช่วยลดเวลาในการทำงาน ทำให้เกิดสมดุลชีวิตที่ดีขึ้น ขณะที่มุมมองด้านลบมีอยู่เช่นกัน โดยประมาณ 3 ใน 4 กังวลว่าอาจทำให้งานน้อยลง และ 85% เห็นว่าต้อง เลือกงานที่มีความเสี่ยงน้อยจากระบบอัตโนมัติ เป็นการสะท้อนว่า GenAI กำลังเข้ามาเปลี่ยนรูปแบบการทำงานขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในด้านข้อมูลและการวิเคราะห์
นอกจากนี้ การมาของ GenAI แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนา Soft Skills ที่เทคโนโลยี ไม่อาจทดแทนได้ เช่น การทำงานร่วมกับผู้อื่น การสื่อสาร และการตัดสินใจ
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่พนักงานที่เจอความท้าทายจากการมาของ GenAI แต่ในส่วนขององค์กรเองก็ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการการใช้งานเทคโนโลยีใหม่นี้ ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้พนักงานสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่รู้สึกว่างานของตนถูกลดทอนคุณค่า