เชื่อว่าคนไทยหลายคนคงไม่มีวันลืมวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 เนื่องจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่มีศูนย์กลางในประเทศเมียนมาได้ส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีที่ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างถล่มลง นำไปสู่ภารกิจการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัยที่ใช้เวลาทั้งสิ้น 49 วัน โดย Positioning จะพาไปเจาะลึกภารกิจช่วยเหลือผ่านมุมมองของ เอไอเอส (AIS) อีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในภารกิจค้นหาผู้ประสบภัยครั้งนี้
หนึ่งในภารกิจซับซ้อนที่สุดของกทม.
ย้อนไปเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองลอยกอ ใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา ลึกลงไปประมาณ 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวครั้งนี้รุนแรงมากจนส่งผลกระทบแผ่ขยายมาถึงประเทศไทยในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานคร
ผลจากแรงสั่นสะเทือนดังกล่าวได้สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อ อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งเป็นอาคารสูง ตั้งอยู่ในเขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร อาคารได้พังถล่มลงมาทั้งหลังในลักษณะแพนเค้ก (Pancake Collapse) ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นคนงานก่อสร้างที่กำลังทำงานอยู่ภายในอาคาร
นำไปสู่ภารกิจการช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย โดยภารกิจดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่ยาวนานและซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความท้าทายมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ความไม่มั่นคงของโครงสร้างอาคารที่ถล่มลงมา ความซับซ้อนของพื้นที่ และความจำเป็นในการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ยังรวมถึงฝุ่น และสภาพอากาศที่ทั้งร้อน และฝน
ในที่สุด เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ภารกิจช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัยก็ยุติลง โดยใช้เวลาทั้งสิ้น 49 วัน ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุอาคาร สตง.ถล่ม ล่าสุดอยู่ที่ 89 คน และอยู่ระหว่างติดตามอีกจำนวน 7 คน
การสนับสนุนไม่ใช่แค่เรื่องการสื่อสาร
ทันทีที่เกิดเหตุ เอไอเอส (AIS) ถือเป็นคนแรก ๆ ที่เข้าไปยังพื้นที่เพื่อเตรียมให้การสนับสนุนภารกิจช่วยเหลือและค้นหาผู้ประสบภัย โดยได้ส่งทีมวิศวกรพร้อมรถโมบายล์และอุปกรณ์สถานีฐานเคลื่อนที่พิเศษ (Base Station) เข้าไปในพื้นที่เพื่อตรวจสอบและประเมินความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มั่นใจว่าระบบสื่อสารยังคงทำงานได้ปกติในสถานการณ์ฉุกเฉิน
“ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ ทีมวิศวะของเราต้องเดินจากออฟฟิศไปยังพื้นที่ เพราะรถติด ทุกอย่างวุ่นวายมาก และเราคุยกันทันทีเลยว่า เราอยากช่วยคนเราทำอะไรได้บ้าง ต้องใช้เทคนิคอะไรบ้าง ใช้เทคโนโลยีอะไรได้บ้าง ดังนั้น นอกจากดูแลโครงข่ายแล้ว เราอยู่เคียงข่างทุกท่านในทุกเหตุการณ์ แม้ว่าตอนนั้นเราเองก็เป็นหนึ่งในผู้ประสบภัย” วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าหน่วยธุรกิจงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ AIS เล่า
วสิษฐ์ เล่าต่อว่า สิ่งแรกที่ทีม AIS คิดก็คือ “ทำอย่างไรให้แบตเตอรี่ของผู้ประสบภัยในอาคารอยู่ได้นานที่สุด” เพราะเป้าหมายแรกก็คือ หาผู้รอดชีวิต ดังนั้น ต้องยืนยันให้ได้ว่า ผู้ประสบภัยอยู่ตรงส่วนไหนในตัวอาคาร ทำให้ทีมวิศวะของเอไอเอสได้ใช้เทคนิค Small Cellular Pinpointing เพื่อ ปรับแต่งการยิงสัญญาณเพื่อให้เซฟแบตเตอรี่มือถือให้ได้มากที่สุด
“ตอนนั้นเราไม่ได้ต้องการความเร็วแรงของสัญญาณ เพราะจะยิ่งทำให้แบตฯ หมดเร็ว ดังนั้น เราจึงเน้นการปรับแต่งการยิงสัญญาณเพื่อเซฟแบตเตอรี่ให้นานที่สุด เพื่อยื้อจนกว่าจะสามารถยืนยันจุดที่อยู่ของผู้ที่ติดในตัวอาคาร”
และเนื่องจากภายในพื้นที่เกิดเหตุมีทั้งเจ้าหน้าที่ และผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภารกิจต่อมาคือ การยืนยันตัวตน ผู้ที่ติดในอาคาร ทำให้เอไอเอสจำเป็นต้องใช้เทคนิค Network Data Analytics เพื่อแยกตัวเจ้าหน้าที่และผู้ประสบภัย ก่อนจะประสานกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ
“ตอนนั้นเราต้องเร่งมือทำ เพราะถ้าแบตฯ หมดภายใน 2 วัน ดังนั้น เราต้องเก็บข้อมูลให้ได้มากที่สุด ดังนั้น เราต่องแข่งกับเวลาอย่างมาก” วสิษฐ์ อธิบาย
โดย พล.ต.ต.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ยอมรับว่า การเกิดภัยพิบัติในไทยไม่ได้เกิดบ่อย ดังนั้น เมื่อมีเหตุทำให้เกิดความโกลาหล ทำให้การที่ AIS เข้ามาช่วยเรื่องการยืนยันตัวตนผู้ประสบเหตุ จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก
“AIS สามารถคัดกรองสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ ทำให้สามารถระบุหมายเลขที่เกี่ยวข้อง 249 เลขหมาย ซึ่งเราก็ประสานญาติผู้สูญหายเพื่อตรวจสอบข้อมูลจนพบ 46 หมายเลขที่ยังมีสัญญาณโทรเข้าได้ ข้อมูลนี้ช่วยให้เราจัดลำดับจุดค้นหาที่สำคัญและเร่งด่วนอย่างแม่นยำ เพิ่มโอกาสในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พล.ต.ต.โชติวัฒน์ อธิบาย
การสื่อสาร หัวใจของการช่วยเหลือ
หลังผ่านภารกิจค้นหาและยืนยันตัวตนในช่วง 3 วันแรก ก็เข้าสู่ภารกิจ สนับสนุนเจ้าหน้าที่กู้ภัย ด้วย High-Speed Fiber และ เทคโนโลยี 5G เพื่อให้การทำงานของหน่วยกู้ภัยและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ราบรื่น และปลอดภัยสูงสุด เนื่องจากพื้นที่เกิดเหตุมีความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะ ความไม่มั่นคงของโครงสร้างอาคารที่ถล่มลงมา และความซับซ้อนของพื้นที่
“ตอนแรกเราไม่ปล่อย 5G เลย เพราะกลัวว่าจะไปทำให้แบตฯ ของผู้ประสบภัยหมดเร็ว แต่พอผ่านไป 3 วัน ซึ่งเราคาดว่าแบตฯ น่าจะหมดทุกเบอร์ เราก็ On 5G ทันที เพื่อสนับสนุนเจ้าหน้าที่กู้ภัยให้ทำงานได้ง่ายที่สุด โดยเฉพาะการใช้โดรนและหุ่นยนต์กู้ภัย”
สิทธิพล คงยิ่งหาร หัวหน้าทีมปฏิบัติการสมาคม ตอบโต้ภัยพิบัติ (ประเทศไทย) เล่าเสริมว่า ในการค้นหาผู้ประสบภัย โดรนจะถูกใช้ในจุดที่อันตรายหรือเข้าถึงยาก โดยจะทำหน้าที่เก็บข้อมูลภาพในระดับความละเอียดสูง เพื่อส่งมาใช้สร้างแผนภาพ 3 มิติ ของพื้นที่ รวมถึงโดรนจะทำหน้าที่ รักษาความปลอดภัยของทีมช่วยเหลือ เพราะโดรนจะมีเซ็นเซอร์ตรวจจับ ปูนทุกชิ้น เพื่อประเมินความเสี่ยงของอาคารที่อาจถล่มลงมา
“อินเตอร์เน็ตสำคัญมาก เพราะการถ่ายทอดภาพ การไลฟ์สตรีมมิ่ง กล้องติดตัว และต้องเชื่อมต่อกับทีมช่วยเหลือเพื่อยืนยันพิกัด ต้องใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมด ดังนั้น ระบบการสื่อสารของเจ้าหน้าที่ห้ามล่ม และถ้าสปีดต่ำ ภาพมันไม่ชัดเขาจะมองไม่เห็น ” สิทธิพล อธิบาย
ปฎิบัติการณ์จะไม่ลุล่วง หากไม่มีความร่วมมือจากทุกส่วน
วัชระ อมศิริ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะ ผู้วางแผนและดำเนินการ กรณีเกิดภัยพิบัติของประเทศ ย้ำว่า ที่ผ่านมา ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มักจะมีผลกระทบต่อ ระบบสื่อสาร ทำให้วิกฤตด้านการสื่อสารเมื่อเกิดภาวะวิกฤตจึงเป็นปัญหาอย่างมากในหลาย ๆ กรณีที่ผ่านมา ดังนั้น หลังจากผ่านช่วง 72 ชั่วโมงแรก การสร้างความเชื่อมั่นว่า ในพื้นที่มีระบบสื่อสารเพียงพอที่จะใช้ ทั้งใช้ในการสื่อสารในการปฎิบัติงาน สื่อสารกับภายนอก จึงเป็นสิ่งสำคัญ
“การค้นหาผู้ประสบเหตุไม่ได้ใช้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงจบ แต่ใช้เวลาถึง 45 วัน ดังนั้น จากการสนับสนุนของทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงทีมกู้ภัยจากหลายประเทศ ทำให้เราสามารถกู้คืนพื้นที่ได้ในเวลาไม่ถึง 50 วัน แสดงให้เห็นว่า เราไม่สามารถทำงานด้วยตัวเองได้”
49 วันแห่งการช่วยเหลืออาจจะสิ้นสุดลงแล้ว แต่บทเรียนที่ได้จากภารกิจครั้งนี้จะยังคงอยู่ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต และเป็นบทพิสูจน์ของพลังในการร่วมมือร่วมใจระหว่างภาครัฐ และเอกชน รวมถึงตอกย้ำให้เห็นว่า เครือข่ายดิจิทัลเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมโยงชีวิต โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่การสื่อสารคือ หัวใจของการช่วยเหลือ