บริษัท เอส.แพ็ค แอนด์ พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอส.แพ็ค” จับมือพันธมิตร กองทุนเพื่อการ ร่วมลงทุนหรือ “Thailand Equity Fund” ประกาศลงทุนหุ้นสามัญจำนวน 7 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้นรวมประมาณ 29% ของบริษัท โดยผู้แทนของกองทุนฯ จะได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการของเอส.แพ็ค
เอส.แพ็ค ได้ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ 2525 บริษัทฯ เป็นหนึ่งในผู้นำบริษัทผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในประเทศไทย ซึ่งมีโรงงาน รวมสองแห่งตั้งอยู่ในอำเภอหาดใหญ่และกรุงเทพฯ เอส.แพ็ค มีลูกค้าหลักคือบริษัทระหว่างประเทศขนาดใหญ่ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น ถุงมือยาง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ฟาสต์ฟู้ด และในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคการส่งออกที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว
“เรายินดีที่ได้ร่วมงานกับกองทุนเพื่อการร่วมลงทุนในฐานะพันธมิตรของบริษัทฯ เรามีความมั่นใจว่าการร่วมลงทุนของกองทุน เพื่อการร่วมลงทุนในครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จทางด้านธุรกิจและผลกำไรอย่างต่อเนื่องในภายภาคหน้า” คุณยุทธ ชินสุภัคกุล ประธานกรรมการบริหาร เอส.แพ็ค กล่าว
ทั้งนี้ ภาครัฐได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการร่วมลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีเงินทุน 10,000 ล้านบาท เพื่อสร้างและสนับสนุนการลงทุนด้านกองทุนเอกชนในกลุ่มธุรกิจของคนไทย โดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เป็นผู้บริหารจัดการกองทุนเพื่อ การร่วมลงทุน และได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคจากบริษัท ไพรเวท อิควิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด “Private Equity (Thailand) Company Limited)” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ลอมบาร์ด อินเวสต์เม้นท์ จำกัด “Lombard Investments Inc”
ปัจจุบัน กองทุนเพื่อการร่วมลงทุนมีผู้ถือหุ้นที่ประกอบด้วยสถาบันการเงินไทยและระหว่างประเทศชั้นนำต่างๆ เช่น สถาบันการเงินระหว่างประเทศรวมถึง บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ CalPERS ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชียและ ดีอีจี (DEG) สมาชิกของกลุ่ม เคเอฟ ดับเบิลยู (KfW) ของเยอรมนี นักลงทุนฝ่ายไทย ได้แก่ กระทรวงการคลัง ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่งของประเทศไทย บรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และธนาคารออมสิน
“บริษัทฯ หวังการร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นนิมิตรหมายสำหรับพันธมิตรทางการเงินในระยะยาว ซึ่งมีทีมบริหารที่มีความสามารถและประสิทธิภาพระดับสากล ซึ่งนำโดยคุณยุทธ ชินสภัคกุล บริษัทได้สร้างจุดยืนและตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่งเพื่อการเติบโตของบริษัทและกำไรที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากตลาดในด้านการส่งออกของประเทศไทยได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง” คุณพจน์ วิเทตยนตรกิจ กรรมการผู้จัดการของ บริษัท ไพรเวท อิควิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว