พระเครื่อง/วัตถุมงคล

ความนิยมในการสะสมพระเครื่องทำให้เกิดธุรกิจให้เช่าหรือรับซื้อพระเครื่อง-พระบูชาอย่างกว้างขวาง และธุรกิจอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกหลากหลายธุรกิจ ความเฟื่องฟูและซบเซาของวงการพระเครื่องนั้นค่อนข้างจะผูกติดหรือไปในทิศทางเดียวกันกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ดังนั้นวงการพระเครื่องจึงได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วงเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายประการในวงการพระเครื่อง

กล่าวคือ ราคาพระเครื่องที่มีแนวโน้มลดลงอย่างมากในช่วงปี 2540-2544 โดยลดลงประมาณร้อยละ 40-50 ส่วนพระเครื่องยอดนิยมและพระเบญจภาคีนั้นราคาลดลงเพียงร้อยละ 10-20 สำหรับบรรดาแผงพระหรือสถานที่เช่าพระนั้นลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะบรรดาแผงพระประจำจะเลิกกิจการไปบางส่วน คงเหลือแต่บรรดาผู้ที่อยู่ในวงการเป็นเวลานานหรือผู้ที่สามารถปรับตัวอยู่รอดได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามจำนวนแผงพระจรเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากมีคนที่ตกงานส่วนหนึ่งนำพระเครื่องที่สะสมไว้ออกมาให้เช่า อย่างไรก็ตามตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาวงการพระเครื่องเริ่มฟื้นตัว และจะเห็นได้อย่างชัดเจนในปี 2546 ว่าวงการพระเครื่องเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะเฟื่องฟูอีกครั้งหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากราคาพระเครื่องเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น การโฆษณาประชาสัมพันธ์ในการสร้างพระเครื่องและวัตถุมงคล รวมทั้งการจัดประกวดพระเครื่องที่เกิดขึ้นกันอย่างมากมาย

ธุรกิจแผงพระที่เริ่มมีผู้คนคึกคักมากขึ้น และบรรดาผู้ประกอบธุรกิจแผงพระเริ่มขยายธุรกิจมากขึ้น โดยการเปิดกิจการในหลายพื้นที่ รวมทั้งยังได้ปัจจัยหนุนจากการที่มีนักลงทุนชาวต่างประเทศหันมาสนใจเช่าพระเครื่องและวัตถุมงคลจากไทยเพื่อนำไปให้เช่าต่อสำหรับผู้ที่สนใจพระเครื่องและวัตถุมงคลของไทยในต่างประเทศ ส่งผลให้ธุรกิจพระเครื่องและหลากธุรกิจที่เกี่ยวข้องมีเม็ดเงินหมุนเวียนคล่องตัวมากขึ้น บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าเม็ดเงินในธุรกิจพระเครื่องและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในปี 2546 นี้สูงถึงเกือบ 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจแล้วเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 และธุรกิจเหล่านี้ยังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะยังมีอัตราขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 10-20 ต่อปี

ธุรกิจพระเครื่องนั้นมีเม็ดเงินหมุนเวียนในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล โดยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องมากมายหลายประเภทดังนี้

1.ธุรกิจการสร้างพระ
ในกระบวนการสร้างพระเครื่องนั้นต้นทุนการผลิตแตกต่างกันขึ้นอยู่วัสดุมวลสาร ปริมาณการสร้างแต่ละครั้ง วิธีการสร้าง ขนาดของพระเครื่องที่จะสร้าง การประกอบพิธีพุทธาภิเษก และการโฆษณาประชาสัมพันธ์การสร้างพระเครื่องในแต่ละรุ่น โดยจะสังเกตเห็นได้ว่าต้นทุนในการสร้างพระนั้นไม่ได้สูง แต่เมื่อเทียบกับราคาพระเครื่องในท้องตลาดแล้วแตกต่างกันอย่างมากกล่าว ดังนั้นธุรกิจรับสร้างพระนั้นนับว่าเป็นธุรกิจที่สร้างกำไรมหาศาล อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายของธุรกิจสร้างพระนั้นต้นทุนส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ที่ต้นทุนค่าสร้างพระเท่านั้น ค่าใช้จ่ายส่วนที่สำคัญคือ ค่าใช้จ่ายในการประกอบพิธีพุทธาภิเษก และค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์

2.ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในประเทศ
แผงพระในปัจจุบันมีการพัฒนาจากเดิมมากกล่าวคือ ในสมัยก่อนแผงพระที่ตั้งให้บุคคลทั่วไปเช่าบูชาจะไม่มีอะไรมากนัก กล่าวคือ มีเพียงโต๊ะ(ที่นับจำนวนได้) เก้าอี้นั่งสำหรับตัวเอง (บางแห่งก็มีเก้าอี้ให้ลูกค้าอีก 2-3 ตัว) และตู้อลูมิเนียมแบบมีฝาปิด-เปิดได้เพียง 2-3 ตู้เท่านั้น ต่อมามีการพัฒนาตู้ใส่พระเครื่องขึ้นมา คือมีการติดไฟส่องสว่างให้เห็นพระเครื่องที่ใส่ไว้ในตู้ (ตู้เป็นตู้กระจกด้านบนและด้านล่างเป็นตู้ทึบสำหรับใส่หนังสือหรืออุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล) ในปัจจุบันแผงพระและศูนย์พระเครื่องมีอยู่ถึงกว่า 5,000 แผงทั่วประเทศ โดยอยู่ในกรุงเทพฯกว่า 3,000 แผง

3.ธุรกิจแผงพระหรือศูนย์พระเครื่องในต่างประเทศ
ในปัจจุบันธุรกิจการตั้งศูนย์พระเครื่องไม่ได้มีแต่ในเมืองไทยเท่านั้น ยังมีการขยายตัวออกไปยังต่างประเทศ ทั้งประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น รวมไปถึงประเทศทั้งในเอเชียเอง โดยเฉพาะไต้หวัน ฮ่องกง หรือแม้แต่ในยุโรปและสหรัฐฯ โดยเฉพาะในแหล่งที่เป็นชุมชนของคนเอเชียที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ จากการสอบถามชาวต่างประเทศหลายรายผู้ที่ใช้วัตถุมงคลติดตัวทำให้ทราบได้ว่าในตอนแรกนั้นส่วนใหญ่มักจะแขวนติดตัว เนื่องจากเห็นว่าสวยดีจึงใช้เป็นเครื่องประดับ แต่บางรายเมื่อมีประสบการณ์อันเหลือเชื่อกับวัตถุมงคลนั้นๆก็มักจะเผยแพร่ต่อโดยการเช่าบูชาไปให้ญาติมิตรใช้ติดตัวกันต่อๆไป

ทำให้นักธุรกิจชาวต่างประเทศบางรายเปิดศูนย์พระเครื่องขึ้นในเมืองที่อาศัยอยู่เพื่อรับจองพระและให้เช่าบูชาพระเครื่องและวัตถุมงคลของเกิจอาจารย์ต่างๆในเมืองไทย รวมทั้งอุปกรณ์การสะสมพระเครื่องต่างๆ โดยมาเช่าบูชาหรือซื้อหาอุปกรณ์เหล่านี้ไปจากเมืองไทย ส่วนมากมักจะรวบรวมใบสั่งจำนวนหนึ่งแล้วจะเดินทางมาทำการซื้อหาในเมืองไทย และส่วนมากในการเดินทางมามักจะมีการติดต่อผ่านล่ามในเมืองไทยมาก่อนล่วงหน้า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ประกอบการศูนย์แต่ละแห่งจะเดินทางมาประเทศไทยประมาณเดือนละครั้งเป็นอย่างน้อย ในแต่ละครั้งมักจะเข้ามาพักอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2-3 วัน ซึ่งก็นับส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทยด้วย

การที่ชาวต่างประเทศรู้จักพระเครื่อง/วัตถุมงคลต่างๆของประเทศไทยเป็นอย่างดี เนื่องจากการโฆษณาในหนังสือพระเครื่องฉบับต่างๆ ซึ่งมีมากกว่า 34 ฉบับแล้ว ยังมีโอกาสได้ข้อมูลจากทางเว็บไซด์ต่างๆของพระเครื่อง(ซึ่งบางเว็บไซด์นำเสนอข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ) อีกทางหนึ่งด้วย การที่มีเว็บไซด์เกี่ยวกับพระเครื่องนี้ทำให้ชาวต่างประเทศเข้าใจเรื่องราวของพระเครื่อง/วัตถุมงคล รวมทั้งชีวประวัติของบรรดาเกจิอาจารย์ดีขึ้น ปัจจุบันธุรกิจพระเครื่องยังกระจายตัวไปยังตลาดประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ที่มีแผงพระอยู่กว่า 300 แผง มาเลเซียมีแผงพระอยู่เกือบทุกรัฐ โดยแต่ละรัฐจะมีแผงพระ 2-3 แผงเป็นอย่างน้อย เป็นต้น

นอกจากนี้ในปัจจุบันนักธุรกิจไต้หวันเริ่มเข้ามาบุกตลาดพระเครื่อง/เครื่องลางในเมืองไทย โดยเริ่มต้นด้วยการรุกตลาดภาพพิมพ์ 3 มิติ ทั้งภาพพระพุทธรูป เทวรูป และพระสงฆ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในวงการพระเครื่อง โดยมีการติดต่อผ่านศูนย์พระเครื่องเป็นช่องทางในการวางจำหน่าย นอกเหนือจากการเปิดบู๊ธแสดงสินค้าตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยมีการตกลงแบบการพิมพ์ และจำนวนที่แน่นอนแล้วจึงจะมีการจัดพิมพ์ โดยมีการพิมพ์ตัวเลขลำดับการพิมพ์กำกับไว้ด้วยเพื่อป้องกันการปลอมแปลง แล้วนำไปให้พระเกจิอาจารย์ปลุกเสก และประทับตราวัดไว้ที่ด้านหลังภาพ นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการผลิตเครื่องรางเช่น แหวน กระจกเหลี่ยม เหรียญ เป็นต้นแต่ยังคงอิงคตินิยมของจีนไว้ คาดว่าอีกไม่นานจะมีนักลงทุนอีกหลายประเทศเข้ามาบุกตลาดพระเครื่อง/เครื่องลางของไทย

4.ธุรกิจโฆษณา
วัดต่างๆที่สร้างพระเครื่องโดยมุ่งเน้นไปที่การหารายได้นำไปบำรุงพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะการสร้างถาวรวัตถุต่างๆ เช่น โบสถ์ วิหาร เป็นต้น โดยใช้สื่อทางการโฆษณาประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่มักจะนิยมเผยแพร่ข่าวสารโดยการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันคาดว่าธุรกิจพระเครื่องจะก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในวงการโฆษณาสูงถึง 100-200 ล้านบาทต่อปี โดยแยกเป็นการโฆษณาในหนังสือพิมพ์รายวันสัปดาห์ละกว่า 3 ล้านบาท และในหนังสือพระประมาณ 3 ล้านบาทต่อฉบับต่อปี

5.ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องหรือธนาคารพระเครื่อง
ธุรกิจนี้เป็นทางเลือกในยุคเศรษฐกิจซบเซาของบรรดานักสะสมพระดีๆ พระสวยๆ และพระที่หามาได้ด้วยความยากลำบาก ซึ่งผู้เป็นเจ้าของย่อมเสียดายถ้าต้องขายไปเพื่อนำเงินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน หรือประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอด แม้ว่าธุรกิจรับจำนำพระเครื่องจะมีมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เป็นที่นิยมมากนักจนกระทั่งถึงยุควิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งปริมาณความต้องการใช้เงินที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับส่งผลทำให้ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเซียนพระหรือนักเล่นพระเครื่องต่างหันเหมาทำธุรกิจนี้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหากผู้เป็นเจ้าของมาไถ่ถอนไม่ทัน โอกาสที่คนรับจำนำจะได้ของดีราคาถูกนั้นอยู่ในเกณฑ์สูง

6.ธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ได้แก่ ธุรกิจทำกรอบพระ(ราคาจำหน่ายกรอบละ 50-200 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัสดุที่ใช้ทำกรอบและขนาดของพระเครื่อง) เลี่ยมพระ(ราคาประมาณองค์ละ 80-100 บาท) รวมทั้งหนังสือพระที่มีจำหน่ายในปัจจุบันประมาณ 34 ฉบับ โดยหนังสือพระเหล่านี้อยู่ได้ด้วยโฆษณาต่างๆเกี่ยวกับพระเครื่อง ซึ่งจากการสอบถามบรรดาผู้ที่อยู่ในวงการพระเครื่องแล้วปรากฏว่าหนังสือพระนั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ หนังสือพระที่จะมีการนำเสนอราคากลางหรือราคาตลาดของพระเครื่องแต่ละรุ่น ซึ่งนิยมเรียกกันในหมู่นักเลงพระว่า หั่งเช้งพระเครื่อง โดยยอดจำหน่ายหนังสือพระเครื่องประเภทนี้เพิ่มมากขึ้นในช่วงที่ธุรกิจรับจำนำพระเครื่องเฟื่องฟู

หนังสือพระอีกประเภทหนึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวิชาการด้านพระเครื่องโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้นิยมอ่านหนังสือพระเครื่องในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเริ่มที่จะหันไปซื้อหนังสือพระมือสอง หรือหนังสือพระเล่มเก่าๆ เนื่องจากยังสามารถอ่านไว้ประดับความรู้ได้โดยข้อมูลยังไม่ล้าสมัย นอกจากนี้ในช่วงระยะ 4-5 ปีที่ผ่านมานี้ธุรกิจรับถ่ายภาพพระเครื่องเริ่มเฟื่องฟู มีผู้รับถ่ายภาพพระเครื่องกระจายอยู่ตามศูนย์พระเครื่องต่างๆทั่วประเทศ ค่าบริการขึ้นกับชื่อเสียงของช่างภาพและสถานที่เป็นหลัก (ราคาอยู่ในระหว่าง 25-40 บาทต่อภาพ) ธุรกิจการบริการถ่ายภาพพระเครื่องนั้นนอกจากจะใช้ในธุรกิจโฆษณาแล้วยังใช้เป็นเครื่องยืนยันหรือรับประกันพระเครื่องแต่ละองค์อีกด้วย

นอกจากนี้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่องและอยู่ควบคู่กับวงการพระเครื่องมานานแล้ว คือ อุปกรณ์การสะสม เช่น ตลับใส่พระ สร้อยคอ แหนบแขวนพระ กล่องใส่พระ รวมทั้งร้านทองรูปพรรณต่างๆที่รับเลี่ยมพระ และจำหน่ายกรอบพระ ตลอดจนร้านจำหน่ายเครื่องเงินที่รับทำกรอบพระและตลับใส่พระเครื่อง แม้แต่ช่างไม้ที่รับทำฐานรองพระบูชา ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ล้วนเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการพระเครื่อง และมีแนวโน้มเติบโตควบคู่กับไปธุรกิจพระเครื่องด้วยเช่นกัน