ภาวะเงินตราต่างประเทศในรอบสัปดาห์ 15-18 มีนาคม 2547

เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าลดลง เมื่อเทียบกับเงินตราสำคัญสกุลอื่นๆ โดยเฉพาะเงินเยน เนื่องจากตลาดเงินคาดคะเนว่าทางการญี่ปุ่นอาจยุติการแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อพยุงค่าเงินดอลลาร์และกดค่าเงินเยนลง ประกอบกับความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยก่อการร้ายในยุโรป รวมถึงระเบิดพลีชีพในอิรักหลายระลอก ล้วนเป็นปัจจัยลบแก่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่ากระเตื้องขึ้น หลังจากรายงานเศรษฐกิจตอกย้ำความเชื่อที่ว่าทางการอังกฤษอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ย สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ดีดตัวพุ่งเหนือระดับ 410 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นผลจากความอ่อนแอของเงินดอลลาร์และความตึงเครียดเกี่ยวการลอบวางระเบิดในยุโรปและอิรัก

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าอ่อนตัวลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับเงินเยน จากระดับอัตราเฉลี่ยราว 110 เยน/ดอลลาร์ มาอยู่ที่อัตราเฉลี่ยราว 106 เยน/ดอลลาร์ มีสาเหตุมาจากปัจจัยต่างๆ สรุปได้ดังนี้

– ญี่ปุ่นเลิกอุ้มค่าเงินดอลลาร์ มีรายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์ Nikkei Financial Daily ที่ระบุว่าญี่ปุ่นอาจยุติการแทรกแซงตลาดเงิน จากที่เคยดำเนินการอย่างต่อเนื่องในรอบปีที่แล้วและต้นปีนี้ เนื่องจากผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐฯ นาย Alan Greenspan เคยวิจารณ์ว่าการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้มแข็งขึ้น ย่อมส่งผลให้เงินเยนมีค่าสูง ดังนั้น การที่รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามบิดเบือนค่าเงินเยน จึงเป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์แต่ประการใด นอกจากนี้ ผู้ว่าการแบงก์ชาติญี่ปุ่นเองก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าความเคลื่อนไหวของเงินตราต่างประเทศเริ่มเป็นไปในทิศทางที่ราบรื่น สะท้อนว่าทางการอาจชะลอการแทรกแซงตลาดการเงินในไม่ช้านี้ ยิ่งไปกว่านั้น อดีตเจ้าหน้าที่การเงินระดับสูง นาย Eisuke Sakakibara ก็ได้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าญี่ปุ่นควรเลิกนโยบายก้าวก่ายตลาดเงิน เพราะสหรัฐฯคงไม่พอใจที่จะเห็นค่าเงินเยนแตะที่ 115 เยน/ดอลลาร์ จากการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่น หรือแม้แต่นาย Haruhiko Kuroda ที่ปรึกษารัฐมนตรีคลังปัจจุบัน ออกได้ออกมาเสนอแนะว่าการแทรกแซงตลาดเป็นเพียงเครื่องมือระยะสั้น และเป็นมาตรการที่ไร้ผลจริงจัง เนื่องจากตลาดเงินโลกประกอบด้วยเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล การใช้เงินทุนจำกัดย่อมเบี่ยงเบนค่าเงินได้ชั่วครู่เท่านั้น

– หลักทรัพย์ญี่ปุ่นคึกคัก ในช่วงปลายสัปดาห์ มีกระแสซื้อเงินเยนจำนวนมาก เนื่องจากนักลงทุนให้ความสนใจที่จะซื้อหุ้นและหลักทรัพย์ต่างๆของญี่ปุ่น เพราะคาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มสดใส

– การก่อการร้ายปะทุ หลังจากเกิดเหตุการณ์ระเบิดรถไฟในกรุงเมดริด ประเทศสเปน โดยกลุ่มที่อ้างตัวรับผิดชอบอาจเป็นกลุ่ม al Qaeda ซึ่งเป็นศัตรูโดยตรงของสหรัฐฯ จึงส่งผลให้เงินดอลลาร์ระส่ำระสาย อีกทั้งการระเบิดพลีชีพในอิรักที่ปะทุถี่ขึ้น รวมถึงกระแสข่าวการขู่ลอบวางระเบิดขบวนรถไฟเชื่อมระหว่างฝรั่งเศสกับอังกฤษ ก็ส่งผลกระทบด้านลบต่อค่าเงินดอลลาร์โดยตรง

– ดอกเบี้ยสหรัฐฯคงเดิม การประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้มีมติให้รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยไว้ทื่ 1% ตามเดิม เนื่องจากสภาพตลาดแรงงานของสหรัฐฯยังคงอึมครึม

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่ากระเตื้องเป็นลำดับ เนื่องจากตลาดเงินคาดการณ์ว่าอังกฤษมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์จะขยับสูงขึ้นก็ตาม แต่เนื่องจากยอดค้าปลีกเดือนมกราคมเพิ่ม 1.2% สองเท่าจากเดือนก่อนหน้า กลายเป็นแรงกระตุ้นให้คาดว่าธนาคารกลางอาจพิจารณาสกัดอัตราเงินเฟ้อ ด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ย

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ พุ่งผ่านแนวต้าน 400 ดอลลาร์/ออนซ์ อย่างรวดเร็ว หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ทรุดต่ำลง เมื่อเทียบกับเงินเยน รวมถึงข่าวเกี่ยวกลุ่ม al Qaeda ที่เริ่มคุกคามประเทศในยุโรป พร้อมกับการพลีชีพรายวันของกลุ่มก่อการร้ายในอิรัก ได้ปลุกให้นักลงทุนหันมาถือทองคำเป็นหลักทรัพย์ปลอดภัยอีกระลอก

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 15 มีนาคม 2547 เทียบกับวันที่ 18 มีนาคม 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2270 ดอลลาร์/ยูโร (1.2390 ดอลลาร์/ยูโร) 110.36 เยน (106.83 เยน) และ 1.8048 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8336 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2547 เท่ากับ 398.50 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 413.20 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547