รายงานภาวะตลาดหุ้นและการเงิน ประจำวันที่ 25 มีนาคม 2547

ประเด็นตลาดวันนี้

ดัชนีตลาดหุ้น SET วันพฤหัสบดีปิดลบ 12.95 จุด หรือ 1.91% สู่ระดับ 664.66 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน โดยมีมูลค่าการซื้อขายที่ 13,899.52 ล้านบาท ลดลง 3,112.15 ล้านบาท เทียบกับวันพุธ

– เงินเยน แข็งค่าขึ้นในวันนี้ มาอยู่ที่ระดับ 106.14 เยน/ดอลลาร์ ในขณะที่เงินบาท และเงินยูโร อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 39.580 บาท/ดอลลาร์ และ 1.2121 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ

– ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันพฤหัสบดีปรับขึ้น 165.92 จุด หรือ 1.46% ที่ระดับ 11,530.91 จุด ต่อเนื่องกันเป็นวันที่ 2

– ดัชนีตลาดหุ้น Hang Sang วันพฤหัสบดีปิดลบ 157.92 จุด หรือ 1.25% สู่ระดับต่ำสุดของปีนี้ที่ 12,520.21 จุด

– ธนาคารธนชาต (NBANK) แจ้งมติคณะกรรมการให้ธนาคารเพิ่มทุนโดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 689.8 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมทั้งหมด เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนรองรับการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มธนชาติตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งคณะกรรมการจะกำหนดรายละเอียดอัตราส่วนการจัดสรรและเวลาเสนอขายอีกครั้ง

– ตัวเลขคาดการณ์ Consensus Forecasts จาก Dismal Scientist บ่งชี้ว่า ตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ที่มีกำหนดจะประกาศในวันพรุ่งนี้ อาจเติบโต 4.1% ในไตรมาส 4 ปี 2003 หลังจากที่ขยายตัว 8.2% ในไตรมาส 3 ปี 2003

– นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของภาคการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐฯ อาจจะอยู่ในระดับทรงตัวที่ 0.4% ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตัวเลขจริงมีกำหนดจะประกาศออกมาในวันพรุ่งนี้

ภาวะตลาดหุ้น

Japan Nikkei-225
ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันพฤหัสบดีทะยานขึ้น 165.92 จุด หรือ 1.46% สู่ระดับ 11,530.91 จุด โดยได้รับแรงหนุนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น เช่น ยอดเกินดุลการค้าและยอดขายในห้างสรรพสินค้า ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งกระตุ้นให้มีแรงซื้อหุ้นกลุ่มที่พึ่งพิงอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มค้าปลีก อย่างไรก็ตาม การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินเยนญี่ปุ่น และความวิตกกังวลเกี่ยวกับผลจากการก่อการร้ายที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ทำให้มีแรงขายในหุ้นกลุ่มส่งออกบางตัวออกมา เช่น กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งถ่วงการทะยานขึ้นของดัชนีหุ้นโดยรวม

Hong Kong’s Hang Sang
ตลาดหุ้นฮั่งเส็งวันพฤหัสบดีปิดลดลง 157.92 จุด หรือ 1.25% ที่ระดับ 12,520.21 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในปีนี้ หลังการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทปิโตรไชน่า และบริษัทลี แอนด์ ฟุง ออกมาต่ำกว่าความคาดหมาย ขณะที่ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของไต้หวันและภัยจากการก่อการร้ายในโลก ยังเป็นปัจจัยกดดันให้นักลงทุนบางส่วนขายหุ้นเพื่อทำกำไร

Thailand’s SET
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันพฤหัสบดีร่วงลง 12.95 จุด หรือ 1.91% สู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน ที่ 664.66 จุด ภายใต้บรรยากาศที่ซบเซา จากแรงขายหุ้น TPI ออกมาอย่างมาก เนื่องจากความกังวลที่ว่าการแก้ไขแผนฟื้นฟูอาจจะยืดเยื้อออกไป ขณะที่ ปัจจัยความตึงเครียดในสถานการณ์ทางภาคใต้ รวมถึงสถานการณ์การก่อการร้ายในต่างประเทศ ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและทำให้นักลงทุนปลีกตัวออกจากตลาด

จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยวันศุกร์คงมีแนวรับที่ระดับ 655 และ 660 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 675 จุด ขณะที่ การขาดปัจจัยใหม่ๆ เข้ามากระตุ้นกิจกรรมการซื้อขายในตลาด ตลอดจน ปัจจัยลบเดิมๆ จากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความรุนแรงทั้งในประเทศและต่างประเทศ คงจะยังมีผลกดดันต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาดอยู่

สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

Baht/USD
เงินบาทอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 1 สัปดาห์ สวนทางกับค่าเงินเยน จากแรงเข้าซื้อเงินดอลลาร์ที่หนาแน่น โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลง ท่ามกลางปริมาณการซื้อขายที่เบาบาง

Yen/USD
เงินเยนแข็งค่าขึ้นมากที่สุดในรอบ 5 สัปดาห์ โดยรายงานรัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยถึงปริมาณเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นประจำสัปดาห์สิ้นสุดเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ระดับ 1.1483 ล้านล้านเยน (หรือ 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์) สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่ญี่ปุ่นมียอดการส่งออกเพิ่มขึ้น และยอดเกินดุลการค้าสูงกว่าที่คาดในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งสะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การแข็งค่าของเงินเยน อาจถูกสกัดไว้บางส่วนโดยการเข้าแทรกแซงของทางการในช่วงก่อนสิ้นปีงบประมาณ หรือก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้

USD/Euro
เงินยูโรอ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 3 สัปดาห์ ก่อนการเปิดเผยตัวเลขความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนี ที่คาดว่าจะลดลงในเดือนนี้ โดยเงินยูโรยังคงมีแนวโน้มอ่อนค่าลง จากความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางยุโรปจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในไม่ช้านี้ หลังเศรษฐกิจยุโรปยังคงมีแนวโน้มซบเซา

จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ค่าเงินบาทในวันศุกร์นี้ คงจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 39.40-39.50 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทน่าที่จะแข็งค่าขึ้น ตามทิศทางค่าเงินเยน ที่แข็งค่าขึ้นจากความมั่นใจต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นอาจมีการเข้ามาแทรกแซงค่าเงินเยนในไม่ช้านี้ ก็ตาม

สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับขึ้นลงในช่วงแคบๆ ระหว่าง –1 ถึง 2 bps. โดยสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 2.53% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 2.52% เมื่อวันก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย เพิ่มขึ้น 30.04% จากวันก่อน ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ขยับขึ้นเล็กน้อย หลังคำแถลงของประธานเฟดสาขา Atlanta ระบุว่าการยืนอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำที่นานเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาได้ อย่างไรก็ตาม อัตราผลตอบแทนก็ยังคงทรงตัวใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 8 เดือนอยู่ ในขณะที่ตลาดรอตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนมีนาคมที่มีกำหนดจะประกาศออกมาในวันที่ 2 เม.ย. นี้