ธนินท์ เจียรวนนท์ คนไทยในทำเนียบนักธุรกิจโลก

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สร้างความสำเร็จให้แก่ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) บริษัทไทยที่โด่งดังในเวทีการค้าโลก ก็คือ “ผู้นำ” และผู้นำคนปัจจุบันของซีพี ซึ่งคือ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นั้น เป็นบุคคลที่ทุกคนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศต่างรู้จักดีว่าเป็นผู้หนึ่งที่มีกลยุทธ์และวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นนักธุรกิจไทยที่มีชื่อเสียงติดอันดับอยู่ในทำเนียบธุรกิจโลก

ล่าสุดเมื่อ 23 มีนาคมที่ผ่านมา Harvard Business School สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาได้เชิญ นายธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมการสอนวิชา Food Policy and Agribusiness (นโยบายอาหารและธุรกิจเกษตร) ของศาสตราจารย์ Raymond Goldberg และ ฯพณฯ Dan Glickman อดีตรัฐมนตรีเกษตรสมัยประธานาธิบดี บิล คลินตัน ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่ Kennedy School of Government ในฮาร์วารด์ และยังได้พบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็นกับศาสตราจารย์ Lawrence H. Summers ประธานมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสมัยประธานาธิบดีบิล คลินตัน อีกด้วย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของบริษัทเกษตรอุตสาหกรรมในเอเชียที่ได้รับการยกย่องจากฮาร์วาร์ด สถาบันการศึกษาชั้นนำที่มีชื่อเสียงของโลก

ก่อนหน้านี้ Harvard Business School ได้จัดทำกรณีศึกษา (case study) เกี่ยวกับธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์แห่งประเทศไทย เพื่อใช้เป็นตำราเรียนให้แก่นักศึกษาปริญญาโทด้านเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งฮาร์วาร์ดได้ทำกรณีศึกษาเกี่ยวกับเครือซีพีไว้ทั้งหมดสามครั้ง ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

นอกจากนี้ INSEAD สถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงในฝรั่งเศส และมีสาขาที่สิงค์โปร์ ยังหยิบยกเรื่องราวของซีพีไปทำเป็นกรณีศึกษาในประเด็นการก้าวสู่การเป็นครัวของโลก

ทุกวันนี้ซีดีจึงไม่ได้เป็นเพียงองค์กรธุรกิจที่แสวงหาแต่ผลกำไร แต่สามารถกล่าวได้ว่า ซีพี คือสถาบันแห่งหนึ่งที่มีส่วนในการสร้างสรรค์สังคม เปิดโลกทรรศน์ใหม่ๆ ให้แก่ผู้ที่ต้องการเรียนรู้อย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน ซีพี อยู่เป็นประจำ ประตูบ้านของซีพีจึงเปิดกว้างพร้อมต้อนรับทุกคนที่มุ่งมั่นในการแสวงหาความรู้จากประสบการณ์จริงของบริษัทชั้นนำแห่งหนึ่งในประเทศไทย

นายธนินท์ เจียรวนนท์ เคยเล่าถึงการขยายกิจการของซีพีไปยังต่างแดนว่า เป็นสิ่งที่ทำมาตั้งแต่รุ่นบิดาก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งครั้งนั้นบิดาได้เปิดร้านจำหน่ายสินค้าเมล็ดพันธุ์พืชทั้งในสิงค์โปร์ ฮ่องกง และมาเลเซีย โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงเทพฯ และหาดใหญ่ ต่อมารุ่นลูกจึงได้สืบสานแนวคิด วิสัยทัศน์ ในการมองโลกที่กว้างไกล มองเห็นว่าหากจะเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ จะหยุดยั้งการลงทุนไว้ที่ประเทศไทยประเทศเดียวไม่ได้

“ในซีกโลกตะวันตก เราก็เข้าไปลงทุนด้วย คือเราจะไปเอาความรู้และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเท่านั้นเอง ถ้าคิดจะไปเอากำไรจากประเทศเหล่านี้ ผมคิดว่าค่อนข้างยาก เพราะเขาโตเต็มที่แล้ว” ธนินท์กล่าวถึงเหตุผลประการหนึ่งในการลงทุนที่ประเทศซีกโลกตะวันตก

ความสำเร็จของบริษัทคนไทยเฉกเช่นซีพี ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2532 ที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ก้าวขึ้นเป็นประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ นิตยสารฟาร์อีสเทิร์น อิโคโนมิค รีวิว ได้นำเรื่องราวของเขาขึ้นปก พร้อมทั้งวิเคราะห์ว่า เครือซีพีภายใต้การนำของเขามีเครือข่ายธุรกิจแทบทุกแขนงกระจายในแทบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2534 เป็นต้นมา นิตยสารฟอร์บส ซึ่งทรงอิทธิพลในสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับให้นายธนินท์ เจียรวนนท์ เป็น 1 ใน 500 มหาเศรษฐีโลก และล่าสุดเมื่อต้นปี 2547 ฟอร์บสได้จัดอันดับให้อยู่ในทำเนียบเศรษฐีของโลกในอันดับที่ 342 มีทรัพย์สินอยู่ราว 1.7 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ

ฟอร์จูน นิตยสารเศรษฐกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ได้จัดอันดับผู้ทรงอำนาจทางธุรกิจระดับโลกที่อยู่นอกสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปี 2546 ซีพีก็เป็นบริษัทเดียวในอาเซียนที่ติดอันดับ 1 ใน 25 ของโลก โดยอยู่ในอันดับที่ 24

นิตยสารไทม์ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ได้จัดอันดับให้ซีพีเป็น 1 ใน 6 ตระกูลนักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ในเอเชีย โดยติดอันดับร่วมกับนักธุรกิจชั้นนำในเอเชีย อาทิ มิโนรุ มอริ (Minoru Mori) จากตระกูลมอริแห่งประเทศญี่ปุ่น และ ลี กา-ซิง (Li Ka-shing) จากตระกูลลี ฮ่องกง เศรษฐีที่รวยที่สุดในเอเชีย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง เช่น ไทม์, ไฟแนนเชียลไทม์, บิสซีเนสวีค, ดิ อีโคโนมิสต์, นิวส์วีค ยกย่องเครือเจริญโภคภัณฑ์ ให้เป็นบริษัทดีเด่นด้านการบริหารทุกปี รวมทั้งสัมภาษณ์นายธนินท์ เจียรวนนท์ ขึ้นปกหลายครั้ง แสดงให้เห็นถึงการยอมรับในระดับโลกได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังได้รับความสนใจจากสื่อโทรทัศน์ต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น CNN หรือ NHK

ด้านความสัมพันธ์กับผู้นำคนสำคัญของโลก นายธนินท์ เจียรวนนท์ นอกจากจะได้รับการยกย่องทางสังคมทั้งในประเทศไทยแล้ว ยังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งสำคัญในสาธารณรัฐประชาชนจีนด้วย บุคคลสำคัญของโลกที่นายธนินท์ เจียรวนนท์ ได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ล้วนแต่ทรงอิทธิพลทั้งสิ้น เช่น เติ้ง เสี่ยว ผิง, เจียง เจ๋อ หมิน, จู หรง จี, หู จิน เทา, เหวิน เจีย เป่า, อดีตประธานาบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช จูเนียร์ และเจ้าชายฟิลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ เป็นต้น

หากมองทางด้านความสัมพันธืกับนักธุรกิจระดับโลก นายธนินท์ เจียรวนนท์ ก็ได้พบและเจรจาทางธุรกิจกับ บิล เกตต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลกมาแล้ว และยังได้พบกับแซม วอลตัน เจ้าของห้างสรรพสินค้าวอลมาร์ทจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีของโลกเช่นกัน

แสดงให้เห็นถึงการยอมรับเครือเจริญโภคภัณฑ์ และ นายธนินท์ เจียรวนนท์ นักธุรกิจไทยในทำเนียบนักธุรกิจชั้นนำของโลก