เงินดอลลาร์เฉา : พิษน้ำมัน กดดันเศรษฐกิจโลก

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าลดลงต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับเงินยูโร เมื่อวิกฤตราคาน้ำมันแพงยังไม่มีท่าทีว่าจะคลี่คลาย ส่งผลกดดันแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผนวกกับสถานการณ์วุ่นวายเรื้อรังในอิรัก ล้วนเป็นปัจจัยลบต่อค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ ได้รับผลดีจากรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง ทำให้อังกฤษมีโอกาสปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในไม่ช้านี้ สำหรับราคาทองคำต่างประเทศ พุ่งสูงขึ้นรับค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำและความหวั่นวิตกเกี่ยวกับภัยเงินเฟ้อทั่วโลก ราคาเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 385-395 ดอลลาร์/ออนซ์

เงินดอลลาร์สหรัฐฯมีค่าอ่อนแอลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราเฉลี่ยราว 1.20 ดอลลาร์/ยูโร และ 112 เยน เหลือประมาณ 1.22 ดอลลาร์/ยูโร และ 110 เยน ในช่วงปลายสัปดาห์ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่าเงินอเมริกันหวั่นไหว สรุปได้ดังนี้

1. พิษน้ำมันแพง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงแปรปรวน ทั้งๆที่มีการประชุมนัดสำคัญในช่วงสุดสัปดาห์ก่อน ได้แก่ การประชุมของกลุ่ม OPEC และการประชุมกลุ่ม G7 ถึงแม้การประชุมทั้งสองจะแยกกัน แต่มีประเด็นและสาระเกี่ยวข้องกับสถานการณ์น้ำมันโลกด้วยกันทั้งคู่ โดยการประชุม OPEC ได้มีการหารือเกี่ยวกับการเพิ่มโควต้าการผลิต โดยซาอุดิ อาระเบีย พร้อมที่เพิ่มปริมาณการผลิตมากขึ้น แต่สมาชิกอื่นๆยังคงลังเล ทำให้ผลสรุปการประชุมยังคลุมเครือ ส่วนการประชุม G7 ได้เตือนถึงผลกระทบของราคาน้ำมันแพงที่อาจทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซา และเรียกร้องให้ผู้ผลิตน้ำมันดิบเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลก ยิ่งไปกว่านั้น ราคาน้ำมันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ สร้างความปั่นป่วนให้แก่เศรษฐกิจทั่วโลก

2. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯฝ่อ ตลาดเงินเริ่มไม่มั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยได้ในเร็วๆนี้หรือไม่ เนื่องจากตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม ยอดขายบ้านเก่าและยอดขายบ้านใหม่เดือนเมษายน รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าถาวรเดือนเมษายน ล้วนไม่ค่อยน่าพอใจนัก พลิกความคาดหมายของตลาด ทำให้นักค้าเงินชะลอการซื้อเงินดอลลาร์ลง โดยเฉพาะการปรับเพิ่มอัตราการขยายตัวของ GDP ไตรมาสแรก 2547 จาก 4.2% เป็น 4.4% ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดเงินคาดการณ์ไว้ ทำให้มีการเทขายเงินดอลลาร์ออกมาด้วย

3. ตัวเลขเยอรมันหนุนเงินยูโร รายงานอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมันไตรมาสแรก 2547 เพิ่ม 0.4% ซึ่งนับเป็นอัตราสูงสุดตั้งแต่ปี 2544 เป็นผลจากภาคการส่งออกเข้มแข็ง ถือว่าเป็นข่าวดีแก่นักลงทุนกระตุ้นให้หวนกลับมาหาเงินยูโรอีกครั้ง

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าโน้มสูงขึ้นเป็นลำดับ หลังจากที่เงินดอลลาร์อ่อนแรงลง ประกอบกับรายงานเศรษฐกิจอังกฤษยังอยู่ในเกณฑ์สดใส จนเก็งกันว่าธนาคารกลางอังกฤษมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราอีกในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยอังกฤษสูงถึง 4.25% เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่ นาย Steve Nickell สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษออกมาแสดงความคิดเห็นว่าทางการคงจะค่อยๆปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่ตลาดเงินเชื่อว่าอังกฤษมีการปรับดอกเบี้ยค่อยข้างรวดเร็วเฉียบขาด ทำให้ถ้อยแถลงของนาย Nickell ไม่ได้ฉุดค่าเงินปอนด์อ่อนลงแต่อย่างใด

ราคาทองคำในต่างประเทศ กระเตื้องขึ้นอย่างมาก ซื้อขายจากราคาเฉลี่ยราว 385 ดอลลาร์/ออนซ์ ในต้นสัปดาห์ มาเป็นราคาเฉลี่ยราว 395 ดอลลาร์/ออนซ์ ในช่วงท้ายสัปดาห์ เนื่องจากปริมาณความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้น หลังจากที่ประเทศต่างๆวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยจากการก่อการร้ายสากล รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันสูงขึ้น ปลุกกระแสเงินเฟ้อ ทำให้ความต้องการถือทองคำเป็นหลักทรัพย์ปลอดภัยที่สุดยามสถานการณ์โลกปั่นป่วนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งความอ่อนแอของเงินดอลลาร์ ก็ช่วยสนับสนุนราคาทองคำอีกแรงหนึ่งด้วย

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 24 พฤษภาคม 2547 เทียบกับวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2008 ดอลลาร์/ยูโร (1.2276 ดอลลาร์/ยูโร) 112.82 เยน (110.88 เยน) และ 1.7910 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8388 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2547 เท่ากับ 385.05 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 395.25 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2547