ขณะนี้มีความวิตกว่าภาวะราคาน้ำมันที่ได้สูงขึ้นมากอาจจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ก่อนหน้านี้ ภาครัฐและภาคเอกชนได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชีย หรือที่เรียกกันว่าดีทรอยต์แห่งเอเชีย (Detroit of Asia) ด้วยหวังจะให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังภูมิภาคนี้ ทั้งนี้ในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย ได้มีการกำหนดเป้าปริมาณผลิตรถยนต์ในปี พ.ศ. 2553 ไว้ที่ 1.8 ล้านคัน และเป้าปริมาณส่งออกไว้ที่ 8 แสนคัน
ในอดีตตั้งแต่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยเมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยมีจุดประสงค์เพื่อทดแทนการนำเข้า บรรดาค่ายรถผู้ผลิตรถยนต์ใหญ่ๆจากต่างประเทศได้ทยอยเข้ามาลงทุนในไทย โดยมุ่งหวังยอดขายในประเทศเป็นหลักและมองการส่งออกเป็นเป้าหมายรอง อย่างไรก็ตาม ต่อมาในปี 2540 สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศไทย ยังผลให้อุปสงค์ต่อการซื้อรถยนต์ของประชาชนตกฮวบลงทันที จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกให้กับปริมาณผลิตส่วนเกิน ดังนั้นการส่งออกจึงได้กลายมาเป็นเป้าหมายที่โดดเด่นให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์ในไทย ทำให้ปริมาณส่งออกรถยนต์จากไทยก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจากเพียง 14,020 คันในปี 2539 เพิ่มขึ้นตามลำดับจนเป็น 235,022 คันในปี 2546 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับการเติบโต 16.7 เท่าภายในเวลาเพียง 7 ปี อีกทั้งคาดว่าปริมาณส่งออกจะเพิ่มสู่ระดับ 3 แสนคันในปี 2547 นี้
ปริมาณส่งออกรถยนต์ที่เริ่มก้าวกระโดดมาตั้งแต่ปี 2540 ได้ทำให้สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ต่อปริมาณผลิตในประเทศเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับประมาณ 1 ใน 3 หรือเฉลี่ยร้อยละ 35.7 ในช่วงระหว่างปี 2541-46 คาดว่าในปี 2547 สัดส่วนการส่งออกจะอยู่ใกล้เคียงกับระดับดังกล่าว นอกจากนี้หากปริมาณการผลิตและการส่งออกรถยนต์เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ 1.8 ล้านคันและ 8 แสนคันตามลำดับในปี 2553 ก็หมายความว่า ตั้งแต่นี้เป็นต้นไปปริมาณการผลิตและส่งออกรถยนต์จะต้องขยายตัวอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 19 และร้อยละ 13.5 ตามลำดับ ซึ่งหากอัตราการเติบโตดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องหลังปี 2553 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็คาดว่าภายในเวลาไม่ถึง 10 ปีนับจากนี้ ไทยจะกลายเป็นประเทศที่มีการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกมากกว่าที่ใช้ในประเทศ กล่าวคือในปี 2556 ไทยจะมีปริมาณการส่งออกกว่า 1.34 ล้านคันจากปริมาณการผลิตทั้งหมดประมาณ 2.6 ล้านคัน หรือมีสัดส่วนการส่งออกกว่าร้อยละ 50 ของยอดผลิต ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกรถยนต์อย่างเต็มตัว
แม้ภาวะน้ำมันแพงของโลกในขณะนี้อาจส่งผลกระทบต่อแนวโน้มตลาดรถยนต์ของโลกในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเชื่อว่าภาวะการส่งออกรถยนต์ของไทยจะยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2547 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป ปริมาณส่งออกจะขยายตัวมากยิ่งขึ้นอีก เนื่องจาก :
1. ปัจจัยด้านอุปทานการผลิต
ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆจากต่างประเทศได้ทยอยเข้ามาตั้งหรือขยายโรงงานผลิตในประเทศไทยเพิ่มขึ้นๆ ทั้งนี้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตหลายรายได้ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังไทยเพื่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตภายใต้โครงการ IMV (Innovative International Multipurpose Vehicle)ของค่ายโตโยต้าซึ่งตั้งเป้าส่งออกรถยนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิกอัพให้ได้ 1 แสนคันในปีหน้าหรือเท่ากับเกือบ 4 เท่าของปริมาณส่งออกปี 2546 เช่นเดียวกับค่ายอีซูซุ/ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ที่มีเป้าว่าจะส่งออกรถปิกอัพเพิ่มขึ้นให้ถึงระดับแสนคัน รวมทั้งค่ายรถอื่นๆ อาทิ ฟอร์ด มอเตอร์และมาสด้า ฮอนด้า ฯลฯ ที่จะมีการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลจากการขยายการผลิตดังกล่าวจะทำให้ปริมาณผลิตเพื่อการส่งออกทยอยป้อนสู่ตลาดมากขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปลายปี 2547 นี้เป็นต้นไป การโยกย้ายฐานการผลิตจากโรงงานของค่ายรถใหญ่ๆในต่างประเทศมายังไทย จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มปริมาณรถยนต์ส่งออกในลักษณะโยกย้ายอุปทาน (Shift of Production Supply)จากโรงงานที่เคยผลิตเดิมมาให้โรงงานในไทยอย่างชัดเจน
2. ปัจจัยด้านการตลาด
การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซี่ยนหรืออาฟต้า(ASEAN Free Trade Area :AFTA) ที่ได้ดำเนินการลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือร้อยละ 0-5 มาตั้งแต่ปี 2546 เป็นการขยายตลาดส่งออกให้กับอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทย ดังจะเห็นได้จากมูลค่าส่งออกรถยนต์ของไทยไปยังกลุ่มอาเซี่ยนได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากจากประมาณ 73 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2545 ขึ้นมาเป็น 454 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2546 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าในปีเดียว นอกจากนี้ยังคาดว่าผลจากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Area: FTA) ในลักษณะทวิภาคีที่ไทยจัดทำกับบางประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับออสเตรเลียซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป จะสนับสนุนการส่งออกรถยนต์จากไทยไปตลาดออสเตรเลียด้วย ทั้งนี้ในปี 2546 ที่ผ่านมามูลค่าส่งออกรถยนต์จากไทยไปออสเตรเลียเท่ากับ 558 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 21 ของมูลค่าส่งออกรถยนต์ทั้งหมดของไทย คาดว่าการที่ออสเตรเลียจะลดภาษีนำเข้ารถปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดเล็กจากประเทศไทยจะยิ่งทำให้การส่งออกไปออสเตรเลียซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นตลาดสำคัญของรถยนต์ไทยขยายตัวยิ่งขึ้นอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถปิกอัพของไทยซึ่งปัจจุบันครองสัดส่วนร้อยละ 85 ของปริมาณความต้องการรถปิกอัพทั้งหมดในออสเตรเลีย
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการย้ายฐานการผลิตของค่ายรถต่างๆมายังไทยเพื่อการส่งออก ประกอบกับการเปิดเขตการค้าเสรีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับทวิภาคี จะเป็นตัวเร่งที่ทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยก้าวกระโดดต่อไปอีก ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกรถยนต์ได้ถึง ระดับ 8 แสนคันเร็วกว่าเป้าหมายปี 2553 ที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์