พลิกฟื้นการเจรจา WTO รอบใหม่ : ไทยได้-เสียอะไร ?

องค์การการค้าโลก (WTO) ณ นครเจนีวา สามารถผ่าทางตันได้ผลสรุปแผนการดำเนินงานการเจรจาการค้ารอบใหม่ (รอบโดฮา) หรือที่เรียกว่า “July Package” เพื่อผลักดันให้การเจรจาเดินหน้าต่อไปตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีโดฮา (Doha Ministerial Declaration) ซึ่งรัฐมนตรี WTO เห็นชอบเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2544 ณ เมือง โดฮา ประเทศกาตาร์ หลังจากที่การวางกรอบการเจรจาการค้ารอบใหม่นี้ ชะงักงันตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพราะสมาชิก WTO กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีความเห็นแตกแยกกันในประเด็นเกี่ยวกับการเปิดเสรีสินค้าเกษตร

การได้ข้อสรุป July Package ในเดือนกรกฎาคม 2547 เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วมีท่าทีอ่อนลงโดยยอมลดการอุดหนุนภายในประเทศสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร และยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตร เพราะเล็งเห็นถึงท่าทีที่เข้มแข็งของประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องการให้ประเทศพัฒนาแล้วยกเลิกการอุดหนุนภาคเกษตรอย่างเป็นรูปธรรม และตระหนักดีว่าหากการเจรจาครั้งนี้ล้มเหลวอีกครั้งจะเกิดผลเสียหายต่อการค้าโลก นับว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะเห็นการเริ่มต้นการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบใหม่ให้บังเกิดผล คืบหน้า ไม่หยุดชะงักงันจนทำให้การเจรจายืดเยื้อ และกินเวลานาน อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกยังคงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการเจรจาตามแผนการดำเนิน-งานที่ตั้งไว้อย่างจริงจังเพื่อเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรี WTO ในเดือนธันวาคม 2548 ณ ประเทศฮ่องกง

สรุปแผนการดำเนินงาน (July Package) ของรอบโดฮา

สาขาเกษตรกรรม
– ลดการอุดหนุนภายในประเทศลง 20% ในปีแรก
– ยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกทุกรูปแบบภายในระยะเวลาที่จะกำหนดต่อไป
– เปิดตลาดสินค้าเกษตรทุกรายการมากขึ้น โดยลดภาษีสินค้าที่มีอัตราภาษีสูงมากกว่าสินค้าที่มีอัตราภาษีต่ำ
– ขยายปริมาณนำเข้าภายใต้ระบบโควตาภาษี

สาขาอุตสาหกรรม
– ลดภาษีนำเข้าโดยใช้สูตรในการคิดคำนวณ ซึ่งจะต้องหารือกันต่อไป ทั้งนี้ อัตราภาษีที่อยู่ในระดับสูงจะลดลงเร็วกว่าอัตราภาษีที่ค่อนข้างต่ำ และให้มีการลดภาษีเป็นรายสาขา (Sectoral Approach)
– ลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษี

สาขาการค้าบริการ
– ยื่นข้อเสนอเบื้องต้นสำหรับการเปิดเสรีภาคบริการโดยเร็ว และยื่นข้อเสนอที่ปรับปรุงการเปิดเสรีเพิ่มเติมภายในเดือนพฤษภาคม 2548
การอำนวยความสะดวกทางการค้า
-เริ่มเจรจาเพื่อเร่งรัดให้การเคลื่อนย้ายสินค้าสะดวกขึ้น และปรับปรุงความร่วมมือด้านศุลกากร

ประเด็นเรื่องสินค้าเกษตรเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมาก และมีความสำคัญต่อการเจรจาการค้าเสรีมาโดยตลอด เพราะเกี่ยวข้องกับรายได้และความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่ของทุกประเทศ ความขัดแย้งด้านการค้าสินค้าเกษตรเป็นสาเหตุให้การเจรจาของรัฐมนตรี WTO ณ เมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ในเดือนกันยายน 2546 ประสบความล้มเหลว เพราะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถประนีประนอมกันได้ โดยประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่า กลุ่มประเทศตนเสียเปรียบประเทศพัฒนาแล้วอย่างมาก เพราะประเทศพัฒนาแล้วไม่ยอมลดการอุดหนุนด้านการเกษตรภายในประเทศ เป็นผลให้ราคาสินค้าเกษตรของโลกตกต่ำ กระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งภาคเกษตรเป็นภาคการผลิตหลักที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา

โดยพบว่า 96% ของเกษตรกรทั่วโลก หรือราว 1.3 พันล้านคน อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา และ 900 ล้านคนอยู่ในเขตชนบทที่ยากจน นอกจากนี้ ประเทศพัฒนาแล้วยังพยายามผลักดันให้นำประเด็นใหม่ๆ ซึ่งตนเองได้เปรียบเข้าสู่การเจรจาที่เรียกว่า “Singapore Issue” ได้แก่ การลงทุน นโยบายการแข่งขัน การอำนวยความสะดวกทางการค้า และความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ แต่ประเทศกำลังพัฒนาเห็นว่ายังไม่ควรเปิดการเจรจาในประเด็นใหม่ๆ หากการเจรจาเปิดเสรีในด้านการเกษตรยังไม่ได้ข้อยุติ จนเป็นเหตุให้การประชุมครั้งนั้นไม่สามารถตกลงกันได้

WTO VS FTA : 2 ขั้วต่อรองเจรจาการค้า

ก่อนหน้าความล้มเหลวในการเจรจา WTO ที่เมืองแคนคูน การเจรจาพหุภาคีเคยประสบภาวะชะงักงันในลักษณะคล้ายคลึงกันมาแล้วในการประชุมรัฐมนตรี WTO ในปี 2542 ณ นครซีแอตเติล ประเทศสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เห็นว่า หลังการเจรจารอบอุรุกวัยบรรลุผลสำเร็จในปี 2536 อำนาจการเจรจาต่อรองของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนา เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ โดยมีความพยายามผลักดันให้สมาชิกปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้าภายใต้ผลการเจรจารอบอุรุกวัย โดยเฉพาะเรื่องการเปิดตลาดตามความตกลงสินค้าเกษตรและสิ่งทอ แต่ปรากฏว่าข้อตกลงด้านเกษตรและสิ่งทอมีจุดอ่อน ประเทศพัฒนาแล้วไม่ได้เปิดเสรีภาคเกษตรและสิ่งทอตามข้อตกลงอย่างแท้จริง เห็นได้จากประเทศพัฒนาแล้วยังคงปกป้องภาคเกษตรอย่างมาก จนประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถส่งสินค้าเกษตรเข้าประเทศเหล่านี้ได้นอกจากนี้ประเทศพัฒนาแล้วยังต้องการนำเรื่องใหม่ๆ เข้ามาเจรจาเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ใน WTO เช่น เรื่องมาตรฐานแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อโดยรัฐ ซึ่งประเทศกำลังพัฒนามองว่าเป็นการกีดกันการค้ารูปแบบหนึ่ง จนกระทั่งการประชุมรัฐมนตรี WTO ณ นครซีแอตเติล ประสบความล้มเหลว ไม่สามารถเปิดการเจรจาการค้ารอบใหม่ได้

การเจรจาภายใต้กรอบ WTO ที่ประสบความล้มเหลวหลายครั้ง ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเริ่มเห็นว่า การเจรจาการค้าพหุภาคีใช้เวลานานและการเจรจาคืบหน้าล่าช้า จึงหาทางออกด้วยการหันมาสนใจการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีระดับทวิภาคี (Free Trade Area : FTA) และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Trading Agreement : RTA) เนื่องจากมาตรา 4 ของข้อตกลง ทั่วไปว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (GATT) และมาตรา 5 ของความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ของ WTO เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกสามารถจัดทำ FTA ทวิภาคี และความตกลง RTA ได้ เพื่อกระตุ้นกระบวนการเปิดเสรีการค้าของโลกให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

ปัจจุบันความตกลง FTA และ RTA ที่มีผลบังคับใช้และแจ้งต่อ WTO มีจำนวนรวม 172 ความตกลง และอยู่ระหว่างการเจรจาอีกกว่า 100 ความตกลง อาทิ สหรัฐอเมริกาได้จัดทำความตกลง FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ มากมาย เช่น ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ชิลี อิสราเอล จอร์แดน ปานามา บาห์เรน และโมรอคโค รวมทั้งอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำกับอีกหลายประเทศ รวมทั้งไทยด้วย สำหรับไทยอยู่ระหว่างการจัดทำ FTA ทวิภาคีกับประเทศต่างๆ 7 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู บาห์เรน และ 1 กลุ่มเศรษฐกิจ ได้แก่ BIMST-EC โดยได้จัดทำความตกลง FTA กับออสเตรเลียเสร็จสมบูรณ์แล้วซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2548

การเจรจาการค้ารอบใหม่ … ผลดี & ข้อควรระวัง

ผลดี

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลประโยชน์ของประเทศไทยภายใต้แผนการดำเนินงาน “July Package” ดังนี้

การที่ประเทศพัฒนาแล้วยอมลดการอุดหนุนภายในด้านการเกษตร โดยในปีแรกที่มีผลบังคับใช้จะลดการอุดหนุนภายในประเทศลง 20% คาดว่าจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกสูงขึ้น ไทยมีแนวโน้มส่งออกสินค้าเกษตรได้มากขึ้น และแข่งขันได้ดีขึ้น โดยเฉพาะข้าว และน้ำตาล ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วให้การอุดหนุนภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมการเกษตรภายในประเทศตนเองอย่างมาก โดยเฉพาะสหรัฐฯ สหภาพยุโรป เป็นผลให้ราคาสินค้าเกษตรของโลกตกต่ำ ดังนี้

– สหรัฐฯ ปัจจุบันให้การอุดหนุนภายในประเทศสินค้าเกษตรปีละ 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยอุดหนุนสินค้าข้าว 607 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ สินค้าน้ำตาล 1,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
– สหภาพยุโรป ให้การอุดหนุนภายในประเทศสินค้าเกษตร 100,000 ล้านยูโร/ปี โดยอุดหนุนสินค้าข้าว 556 ล้านยูโร และสินค้าน้ำตาล 5,800 ล้านยูโร

นอกจากนี้การยกเลิกการอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้ว รวมทั้งการลดภาษีนำเข้าและขยายโควต้านำเข้า จะเป็นผลดีโดยตรงต่อสินค้าเกษตรส่งออกของไทยที่มีศักยภาพ เช่น ข้าว เพราะปัจจุบันนี้ภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรของประเทศพัฒนาแล้วสูงมาก เช่น ญี่ปุ่นตั้งภาษีนำเข้าข้าวสูงถึง 490%

– สำหรับสินค้าอุตสาหกรรม ได้กำหนดให้ประเทศกำลังพัฒนามีระยะเวลานานกว่าในการลดภาษีและยืดหยุ่นสำหรับอัตราการลดภาษีบางรายการ ทำให้คาดว่าไทยจะ ส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปประเทศพัฒนาแล้วได้มากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีเวลาปรับตัวอีกระยะหนึ่งในการลดภาษีนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม

– ไทยจะได้ประโยชน์จากการเจรจาจัดทำข้อตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนศุลกากร และลดต้นทุนการขายสินค้าระหว่างประเทศ

ข้อควรระวัง

1. การเปิดเสรีภาคเกษตรและยกเลิกการอุดหนุนสินค้าเกษตรภายใต้กรอบ WTO ทำให้ไทยอาจต้องนำเข้าสินค้าเกษตรจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น สินค้าเกษตรอ่อนไหว 23 รายการของไทยที่มีโควตานำเข้า เช่น ถั่วเหลือง ข้าวโพด จะต้องลดภาษีหรือขยายโควตานำเข้าเพื่อแลกกับการเข้าสู่ตลาดของประเทศอื่น และผลจากความตกลงนี้ทำให้ไทยต้องลดเงินอุดหนุนสินค้าเกษตรเช่นเดียวกัน พร้อมทั้งปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรภายในประเทศด้วย เพราะปัจจุบันไทยให้การอุดหนุนสินค้าเกษตรผ่านกองทุนช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) โดยมีการแทรกแซงราคาข้าว แต่ไม่เกินวงเงินที่ไทยผูกพันไว้กับ WTO นอกจากนี้ สินค้าเกษตรที่ไทยนำเข้ามาเป็นวัตถุดิบ เช่น กากถั่วเหลือง เมล็ดถั่วเหลือง ข้าวสาลี ข้าวโพด ซึ่งปัจจุบันได้รับการอุดหนุนการผลิตและการส่งออกของผู้ผลิตบางประเทศ ราคาสินค้านำเข้าดังกล่าวมีแนวโน้มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย

2. กฎหมายการเกษตรฉบับใหม่ (New Farm Act) ของสหรัฐฯ เพิ่มจำนวนเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรถึง 80% แม้ว่า July Package จะกำหนดกรอบการเปิดเสรีภาคเกษตร และยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร แต่ก็เปิดช่องให้สหรัฐฯ นำการอุดหนุนตาม Farm Act ฉบับใหม่ (ซึ่งขณะนี้ถือว่าผิดกฎของ WTO) ไปใส่ไว้ในการอุดหนุนภายในประเทศที่อนุโลมให้ทำต่อไปได้ ทำให้การอุดหนุนการผลิตสินค้าเกษตรภายในของสหรัฐฯ ไม่ได้ลดลงจริง นอกจากนี้ สหภาพยุโรป และประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ญี่ปุ่น เกาหลี สามาถนำสินค้าเกษตรเกือบ 1,500 รายการไปจัดเป็นสินค้าอ่อนไหวที่ต้องการปกป้องเป็นพิเศษ โดยยังไม่ลดภาษีหรือขยายโควต้านำเข้าให้มากขึ้น ซึ่งสมาชิก WTO จะหารือกันในรายละเอียดเรื่องนี้ในเดือนกันยายน 2547 อีกครั้ง ดังนั้น จึงเห็นว่าไทยควรผนึกกำลังกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อุดช่องโหว่เหล่านี้เพื่อไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้วให้การอุดหนุนภาคเกษตรอีกต่อไป

3. แรงกดดันจากประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มีการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และเปิดเสรีภาคบริการ โดยเฉพาะด้านการเงิน การธนาคาร โทรคมนาคม การก่อสร้าง ค้าปลีก บริการวิชาชีพ เช่น วิศวกร สถาปนิก ทนายความ ดังนั้น การที่ประเทศพัฒนาแล้วมีท่าทีผ่อนปรนโดยยอมยกเลิกการอุดหนุนด้านการเกษตร เพราะต้องการแลกเปลี่ยนให้ประเทศกำลังพัฒนาเปิดเสรีด้านการค้าบริการและปกป้องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นเป็นการตอบแทน ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นจุดอ่อนของประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงไทย ซึ่งส่วนใหญ่ยังมิได้ให้ความคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ประเทศกำลังพัฒนามองว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องเสียค่าลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรให้แก่ประเทศเจ้าของสินค้าทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้น รวมถึงยารักษาโรคร้ายแรง เช่น ยารักษาโรคเอดส์ ส่วนธุรกิจบริการหลายๆ ด้าน เช่น การเงิน การธนาคาร ไทยยังไม่พร้อมเปิดเสรีอย่างเต็มที่ เพราะจะกระทบต่อความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ

บทสรุป & ข้อเสนอแนะ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าการค้าพหุภาคียังคงมีความสำคัญต่อระบบการค้าของโลกและต่อประเทศกำลังพัฒนา เพราะทำให้การค้าโลกอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ และกติกาสากลเดียวกัน แม้ว่าในอดีตประเทศพัฒนาแล้วมีอำนาจทางเศรษฐกิจ และกำหนด กฎเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาค่อนข้างเสียเปรียบ เช่น เรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม และแรงงาน แต่ตลอดระยะเวลาการเจรจาต่อรองทางการค้าพหุภาคีมากกว่า 50 ปีที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาได้เรียนรู้ประสบการณ์เจรจาต่อรองการค้า ซึ่งขณะนี้เห็นชัดว่าหลังการเจรจาการค้ารอบอุรุกวัย ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมในการเจรจา การค้าพหุภาคีมากขึ้น และคาดว่าพลังการต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาที่เข้มแข็งขึ้นจะทำให้ผลการเจรจามีความสมดุลมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง WTO ที่ต้องการให้การค้าโลกเสรีและมีความเป็นธรรม (Free and Fair Trade)

ทั้งนี้ ประเทศพัฒนาแล้วก็คงตระหนักถึงพลังต่อรองของประเทศกำลังพัฒนาจึงยอมประนีประนอมโดยลดการอุดหนุนภาคเกษตรไม่เช่นนั้นก็คงไม่สามารถเจรจาจนได้ข้อสรุปแผนการดำเนินงานของการเจรจารอบโดฮา “July Package” ได้ แต่ภาระหนักของประเทศกำลังพัฒนาที่จะต้องดำเนินต่อไป คือ ผลักดัน July Package ให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเจรจาต่อรองกับประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าที่เท่าเทียมกัน โดยจะต้องใช้กลยุทธ์ในการต่อรอง และต้องอาศัยข้อมูลการค้าที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งความรวดเร็วของข้อมูลข่าวสาร

การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีไม่สามารถทดแทนการค้าพหุภาคี ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถึง 147 ประเทศได้ แม้ว่าการเจรจาพหุภาคีจะใช้เวลานาน แต่ผลของข้อผูกพันกว้างกว่า เพราะครอบคลุมสมาชิกทั้งหมด นอกจากนี้ WTO ยังคงเป็นเวทีที่ดีที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการร่วมมือกันผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วเปิดเสรีด้านการเกษตร ทั้งนี้ จากรายงานของ Organization for Economic Cooperation and Development (OECD) ระบุว่า ประเทศร่ำรวยได้จ่ายเงินเพื่อสนับสนุนเกษตรกรในประเทศสูงมาก คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 1,000,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็น 4 เท่าของเงินช่วยเหลือที่ประเทศร่ำรวยให้แก่ประเทศ ยากจน นอกจากนี้ ธนาคารโลกประมาณการว่า หากประเทศพัฒนาแล้วลดข้อกีดกันทางการค้าในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคเกษตร รวมทั้งยกเลิกการให้การอุดหนุนภาคเกษตรจะ ทำให้ GDP ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาในปี 2558 เพิ่มขึ้นอีก 0.6%

ดังนั้น การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาในปัจจุบัน ซึ่งเป็นรอบแห่งการเจรจาการค้าเพื่อการพัฒนา (Development Round) จึงคาดหวังว่าจะมีการปรับผลประโยชน์ระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาให้มีความสมดุลมากขึ้น และปริมาณการค้าที่ขยายตัวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศยากจนในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนที่ยากจนในประเทศเหล่านี้ และเกิดการค้าที่เป็นธรรมมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ไทยควรเตรียมพร้อมต่อการเจรจาการค้าโลกรอบใหม่ ดังนี้

• พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้/ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย/กฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ และตื่นตัวด้านการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจรจาการค้าทั้งระดับพหุภาคี และ FTA ทวิภาคี ที่อยู่ในขั้นตอนการเจรจากับหลายประเทศในขณะนี้

• พิทักษ์ปกป้องผลประโยชน์ด้านทรัพย์สินทางปัญญาของไทย รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ โดยร่วมมือกับประเทศกำลังพัฒนาในเวทีการค้าพหุภาคี ดังนี้

o ผลักดันให้ขยายความคุ้มครองสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indicattion) ให้ครอบคลุมถึงสินค้าไทย ที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ และไหมไทย
oมให้การคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่น (Traditional Knowledge and Folklore) สำหรับการบริการทางการแพทย์และการนวดแผนโบราณของไทย ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสมบัติที่ล้ำค่าของไทย
o แก้ไขปัญหายาราคาแพง โดยผลักดันให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่จำเป็นได้