3 ดีไซเนอร์ไทยเผยเคล็ดชนะใจพิชิตรางวัลระดับโลก งานประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์ (WOW) ประเทศนิวซีแลนด์

การท่องเที่ยวนิวซีแลนด์จับมือสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอและสายการบิน แอร์นิวซีแลนด์ สถาบันตักส์ศิลาแฟชั่นและบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) จัดงานประกาศศักยภาพแห่งศักดิ์ศรีต้อนรับ 3 ดีไซเนอร์ไทยที่สร้างเกียรติประวัติประดับวงการแฟชั่นไทยคว้า 4 รางวัลจากการประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์ หรือ “World of WearableArt Awards”ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเนลสัน ประเทศนิวซีแลนด์ งานดังกล่าวจะจัดขึ้นในวันพุธที่ 29 กันยายน 2547 เวลา 18.00 น ณ รีโทรไลฟ์คาเฟ่ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ผลงานของดีไซเนอร์ไทยที่ได้รับรางวัลสาขาต่างๆ มีรายนามดังนี้

รางวัลชนะเลิศ สาขาชุดชั้นในมหัศจรรย์ (Scenic Circles Bizarre Bra)

– นายสีห์ภูมิ ศรีโสภา ชื่อผลงาน “Hot Speaker”

รางวัลชนะเลิศ สาขาชุดของเด็ก (Children’s Section)

– นายกฤษฎา ทองปาน ชื่อผลงาน “ท่วงทำนองแห่งฝัน” (Mascot of a Child’s Dream)

รางวัลรองชนะเลิศ สาขาพื้นผิววัสดุสะท้อนแสง (Reflective Surfaces) และรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (Mainpower Creative Excellence Award)

– นางสาววสุภา อัศวสุปรีชา ชื่อผลงาน “ความทรงจำติดปีก” (Fly of Memory)

การประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์ หรือ World of WearableArt Awards (WOW) จัดเป็นงานประกวดเครื่องแต่งกายที่สวมใส่ได้ระดับโลกที่เต็มไปด้วยสีสัน ความคิดสร้างสรรค์ทั้งศิลปะแบบสุดยอด อีกทั้งการแสดงที่หรูหราอลังการที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็ว่าได้ โดยปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 17 และมี ผลงานที่ส่งเข้าประกวดถึงกว่า 200 ชิ้นจาก 32 ประเทศทั่วโลกเพื่อเฟ้นหาผลงานที่ควรค่าแก่รางวัลเพียง 30 ชิ้นในสาขาต่างๆ

นายสีห์ภูมิ ศรีโสภา หนึ่งในศิลปินนักออกแบบชาวไทยที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสาขาชุดชั้นในมหัศจรรย์ (Scenic Circles Bizarre Bra) เจ้าของผลงาน “Hot Speaker” กล่าวว่า ผลงานชุดชั้นในที่ตกแต่งด้วยไมโครโฟนมากมายนี้ ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพของนางเฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีหญิงของ นิวซีแลนด์ ซึ่งมักจะถูกรุมล้อมขอสัมภาษณ์จากสื่อต่างๆ

ฯพณฯ เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีหญิงนิวซีแลนด์ กล่าวว่า “ดิฉันรู้สึกชื่นชมผลงานของดีไซเนอร์ชาวไทยเป็นอย่างมาก ผลงานทุกชิ้นเป็นผลงานที่มีความคิดสร้างสรรค์และนำมาซึ่งแนวคิดใหม่แก่การประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์”

นอกจากนี้ยังรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าว ที่ผ่านมา ฯพณฯ เฮเลน คลาร์ก ยังได้ให้เกียรติเป็นนางแบบกิติมศักดิ์ เดินบนเวทีประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์ถึง 2 ครั้ง

“อาภรณ์แห่งศิลป์ “WearableArt” เป็นศิลปะประยุกต์และไร้ขีดจำกัดซึ่งถือกำเนิดจากประเทศ นิวซีแลนด์ แต่ปัจจุบันเป็นที่นิยมและได้รับความสนใจจากศิลปินนักออกแบบทั่วโลกซึ่งรวมถึงประเทศไทยในการสร้างสรรค์ผลงานจากแรงบันดาลใจ” ฯพณฯ เฮเลน กล่าวปิดท้าย

นายชาคริต เชาวนะโรจนารุจิ นายกสมาคมนักออกแบบไทยและผู้ก่อตั้งสถาบันตักส์ศิลา กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2546 ทางสถาบันฯ ร่วมกับการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สายการบินแอร์นิวซีแลนด์ และบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ริเริ่มโครงการ Dare to Win : Road to World of WearabelArt ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาเด็กไทยจากนักศึกษาด้านศิลปะแฟชั่น สร้างเสริมทักษะและจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนให้ดีไซเนอร์ไทยมีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานเพื่อส่งไปประลองยุทธ์ที่เวที WOW ในปีเดียวกันนั้น นายวรชัย ตองอ่อน ดีไซเนอร์จากประเทศไทยได้ส่งผลงานเข้าประกวดในชุด “นกยูง” และสามารถคว้ารางวัลประเภท Avant Garde หรือประเภทล้ำยุค มาฝากชาวไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนับเป็นความสำเร็จก้าวแรกของความร่วมมือในการสนับสนุนโครงการดังกล่าวฯ”

นายชาคริตกล่าวเสริม “หลังจากที่ดีไซน์เนอร์ไทยได้คว้ารางวัลกลับมาในปี พศ 2546 แล้ว เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ซูซี่ มอนครีฟ ศิลปินผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ WOW ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของดีไซเนอร์ไทย ถึงขนาดบินมายังประเทศไทยเพื่อคัดเลือกผลงานไปแสดงและประกวดที่ประเทศนิวซีแลนด์ ในวันนั้นมีชุดที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรกถึง 13 ชุด ซึงเป็นสิ่งที่ ยืนยันได้ว่าเยาวฃนไทยมีศักยภาพและความเป็นมืออาชีพอย่างสูงและมีผลงานที่ไม่น้อยหน้าประเทศอื่นๆ ทั่วโลกอย่างแน่นอน”

นายวิรัตน์ ตันเดชานุรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า “WOW เป็นกิจกรรมระดับโลก ที่น่าจะเป็นกรณีศึกษาของประเทศไทยในแง่การสร้างเมืองๆ หนึ่งในประเทศให้มีเอกลักษณ์ เฉพาะตัวและมีแรงดึงดูดให้คนทั่วโลกเดินทางไปชมงานนี้อย่างคับคั่งทุกปี นอกจากนี้ การที่ทางสถาบันฯ ให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์หลักเพื่อจุดประกายและเปิดโอกาสให้
ดีไซเนอร์ไทยได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมแสดงผลงานและทำความรู้จักกับดีไซเนอร์ทั่วโลก ซึ่งจัดได้ว่าเป็นอีกบทบาทหนึ่งที่น่าจะมีส่วนร่วมเสริมสร้างโลกทัศน์ วิสัยทัศน์และทัศนคติให้กับดีไซเนอร์ไทยได้กลับมาแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนๆดีไซเนอร์และผู้ที่สนใจด้านศิลปะแฟชั่นเพื่อพัฒนามาตรฐานวงการแฟชั่นไทยต่อไป”

สำหรับกรรมการที่ได้ให้เกียรติเข้าร่วมตัดสินหาผลงานที่ชนะเลิศในแต่ละประเภทเป็นตัวแทนศิลปินอันทรงคุณวุฒิจากหลากหลายแขนงอันได้แก่ แดน เฮนนาห์ (Dan Hennan) เจ้าของรางวัลออสการ์ในสาขาผู้ออกแบบฉากยอดเยี่ยมจากภาพยนต์มหากาพย์เรื่อง The Lord of the Rings มาร์การ์ริตา โรเบิร์ตสัน (Magaritta Robertson) นักออกแบบเสื้อผ้าชื่อดังจากเมืองดะนีดิน ไซมอน ฮาเมส (simon Hames) จากเมืองเวลลิงตัน อดีตผู้ชนะเลิศรางวัล Supreme Montana Award แชลลี เบอร์ตัน (sally Burton) จากเมืองเนลสันและที่ขาดไม่ได้คือ ซูซี่ มอนครีฟ (Suzie Moncrieff) ศิลปิน ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์การจัดงานอาภรณ์แห่งศิลป์ซึ่งคณะกรรมการทั้งหมดได้ร่วมกันคัดเลือกผลงานที่ส่งเข้ามาจากทุกมุมโลก

คณะกรรมการกล่าวถึงผลงานซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ สาขาชุดของเด็กว่า “ผลงานท่วงทำนองแห่งฝัน หรือ Mascot of the Child’s Dream” ของนายกฤษดา ทองปาน เป็นผลงานที่สมบูรณ์แบบอย่างไม่มีที่ติ ด้วยโครงสร้างอันสวยงาม สีสันอันน่าอัศจรรย์ ลักษณะที่พลิ้วไหว สามารถชนะใจคณะกรรมการได้อย่างขาดลอย

ในขณะที่ ผลงานความทรงจำติดปีก Fly of Memory ของนางสาววสุภา อัศวสุปรีชา ซึ่งได้รับรางวัลถึง 2 รางวัลคือ รางวัลรองชนะเลิศสาขาพื้นผิววัสดุสะท้อนแสง (Reflective Surfaces) พ่วงด้วยรางวัลความคิดสร้างสรรค์ยอดเยี่ยม (Mainpower Creative Excellence Award) คณะกรรมการให้ความเห็นว่า วัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ผลงานฃิ้นนี้ทำขึ้น
จากแผ่นฟิล์มซึ่งสะท้อนแสงได้อย่างสวยงามเพื่อกระทบกับผิววัสดุ

นอกจากนี้ หลังจากที่งานประกวดอาภรณ์แห่งศิลป์ได้ดำเนินมากว่า 17 ปีที่เมืองเนลสัน ในปี 2548 การประกวดจะย้ายไปจัดที่เมืองเวลลิงตัน เมืองหลวงของประทศนิวซีแลนด์ เนื่องจากความต้องการ ที่จะได้ชมโชว์และการประกวดที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมก็มีมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งแนวโน้มที่จะกลายเป็นงาน แสดงระดับโลกที่ใหญ่มากขึ้นทุกปีเช่นกัน ประกอบกับสถานที่แสดงเก่า คือ Trafalgar Centre ก็ดูมีขนาดที่เล็กเกินไปไม่สามารถขยับขยายได้อย่างเต็มที่การย้ายสถานที่จัดแสดงงานไปยังเมืองเวลลิงตันมีความพร้อมทั้งทางสภาพเศรษฐกิจ ศิลปะ วัฒนธรรม โครงสร้างพื้นฐานและ ประชากร ซึ่งจะส่งผลให้ดีให้กับงานประกวดในทุกๆด้าน อย่างไรก็ตามพิพิธภัณฑ์และสำนักงานอำนวยการ รวมทั้งการประกวดรอบคัดเลือกครั้งแรกก่อนการตัดสินจริงก็จะยังคงจัดขึ้นที่เมืองเนลสันเช่นเดิม