พิษน้ำมันถล่มเงินเยน : พะวงมติ G7 ถล่มดอลลาร์

ตลาดเงินตราต่างประเทศ ได้รับความสนใจกันเป็นพิเศษ ควบคู่ไปกับตลาดน้ำมันโลก หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบทำสถิติสูงสุดผ่านแนวต้าน 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลกระทบให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นลดลงต่ำสุดในรอบ 6 สัปดาห์ เมื่อกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ซื้อขายในอัตราเฉลี่ยราว 111 เยน/ดอลลาร์ ในขณะเดียวกัน เงินดอลลาร์ก็มีค่าอ่อนแอในรอบ 2 เดือน เมื่อเทียบกับเงินยูโร เนื่องจากนักค้าเงินพากันวิตกกังวลเกี่ยวกับการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ (G7) ในช่วงวันที่ 1-2 ตุลาคมนี้ ทำให้มีการเทขายเงินดอลลาร์และถือสกุลเงินยูโรเพิ่มขึ้น เพราะเกรงว่าที่ประชุมอาจเตือนเกี่ยวกับความไม่สมดุลทางการค้าของสหรัฐฯ ที่มีผลส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งเกินไป

เงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่าผันผวนอยู่ในช่วง 1.79-1.81 ดอลลาร์/ปอนด์ ปัจจัยที่อิทธิพลต่อค่าเงินปอนด์ ได้แก่ ข่าวการซื้อกิจการในอังกฤษของบริษัทยักษ์ใหญ่เม็กซิโก และการแสดงความคิดเห็นของสมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ สำหรับราคาทองคำในตลาดโลก ทะยานสูงสุดในรอบกว่า 5 เดือนในตลาดลอนดอน ซื้อขายที่ราคาเฉลี่ยราว 417 ดอลลาร์/ออนซ์ ในขณะที่ราคาพุ่งผ่าน 420 ดอลลาร์/ออนซ์ในตลาดซื้อขายล่วงหน้านิวยอร์ก

เงินดอลลาร์อเมริกันมีค่าเข้มแข็งเมื่อเทียบกับเงินเยน เป็นผลจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังคงโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 28 กันยายน ได้เขย่าวงการค้าน้ำมันต่างประเทศอย่างหนัก เมื่อราคาซื้อขายอยู่ที่ 50.47 ดอลลาร์/บาร์เรล ทำให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่นทรุดฮวบลงทันที เนื่องจากนักค้าเงินมองว่าญี่ปุ่นพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากตลาดโลกเกือบทั้งหมด ในขณะที่สหรัฐฯซึ่งก็เป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่ยังมีอัตราการพึ่งพาที่น้อยกว่าญี่ปุ่น จึงทำให้เงินดอลลาร์มีค่าได้เปรียบเหนือเงินเยน ยิ่งไปกว่านั้น การที่ราคาน้ำมันแพงลิบลิ่ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจกลุ่มประเทศเอเชีย ซึ่งถือกันว่าเป็นตลาดส่งออกสินค้าของญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนราว 40% ของปริมาณการส่งออกของญี่ปุ่นทั้งหมด ทำให้ตลาดเงินวิตกกันว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่กำลังฟื้นตัว อาจอับเฉาลงอีก เพราะวิกฤตราคาน้ำมันโลกส่งผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อมต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น

สาเหตุอื่นๆที่กดดันค่าเงินเยน ได้แก่ ราคาหุ้นในตลาดโตเกียวซบเซา รวมถึงความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยญี่ปุ่นกับอัตราดอกเบี้ยในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอื่นๆ ที่สูงกว่า ทำให้นักลงทุนต่างประเทศสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในสกุลเงินอื่นๆมากกว่าที่จะถือสกุลเงินเยน ที่ให้ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ยต่ำมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่า ญี่ปุ่นมีการปรับคณะรัฐมนตรีในตอนต้นสัปดาห์ โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจและการเงินการคลัง เพื่อให้โครงการปฏิรูปเศรษฐกิจและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของญี่ปุ่นบรรลุผลสำเร็จเร็วขึ้น แต่ปรากฏว่าการปรับคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินเยนแต่ประการใด ยิ่งไปกว่านั้น กระแสข่าวลือที่ว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดเงินก็ไม่ได้มีผลต่อเงินเช่นกัน

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินเยนมีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่อัตราเฉลี่ยราว 110 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากข่าวความวุ่นวายทางการเมืองในไนจีเรีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ 1 ใน 10 ของโลก ลดความรุนแรงลง ทำให้ตลาดน้ำมันคลายความกังวล และราคาน้ำมันปรับลดลงต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรล ขณะเดียวกัน รายงานข่าวที่ว่าสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านๆมา ช่วยประคับประคองให้ราคาน้ำมันในต่างประเทศมีเสถียรภาพดีขึ้นบ้าง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ G7 ที่เตรียมประชุมร่วมกัน ยังได้มีแผนที่จะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลตลาดน้ำมันให้โปร่งใส เพื่อป้องกันการเก็งกำไร ทำให้ตลาดน้ำมันโลกคลายความตึงตัว และช่วยให้ค่าเงินเยนขยับสูงขึ้น

เงินดอลลาร์มีค่าลดลงเป็นลำดับเมื่อเทียบกับเงินยูโร ปัจจัยสำคัญที่ฉุดค่าเงินดอลลาร์ ได้แก่ การที่ตลาดเงินได้เทขายเงินดอลลาร์ ก่อนหน้าที่จะมีการประชุม G7 เพราะกลัวว่าที่ประชุม G7 จะกดดันให้สกุลเงินตราสำคัญอื่นๆเคลื่อนไหวตามพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ ต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลง เมื่อเทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าสหรัฐฯกำลังประสบปัญหาขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างมาก การที่ปรับให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนแอลงบ้าง จะช่วยการส่งออกของสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ ตลาดเงินจึงชะลอการซื้อเงินดอลลาร์ แถมยังมีการขายเงินดอลลาร์ออกมา เมื่อเทียบกับเงินยูโร

อนึ่ง ถึงแม้รายงานตัวเลข GDP ของสหรัฐฯ ไตรมาสที่สอง ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 3.3% จากเดิมอยู่ที่ระดับ 2.8% รวมถึงผลการสำรวจกิจกรรมธุรกิจรายภาคของสหรัฐฯสดใส แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ค่าเงินดอลลาร์กระเตื้องขึ้นแต่อย่างใด

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าเข้มแข็งในช่วงต้นสัปดาห์ ได้รับแรงสนับสนุนจากข่าวที่ว่าบริษัทผลิตปูนซีเมนต์ชั้นนำของเม็กซิโกตกลงซื้อกิจการ RMC ของอังกฤษด้วยเงินสดคิดเป็นมูลค่า 2.3 พันล้านปอนด์ ส่งผลให้ตลาดเงินคึกคัก เพราะคาดว่าความต้องการเงินปอนด์จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ การที่ค่าเงินดอลลาร์ซวนเซก็มีผลดีแก่ค่าเงินสเตอร์ลิงด้วย

อย่างไรก็ตาม เงินปอนด์กลับมีค่าต่ำลงในเวลาต่อมา หลังจากที่ Kate Barker สมาชิกคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอังกฤษ แสดงความคิดเห็นต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่าแนวโน้มการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอังกฤษน่าจะยุติลงแล้ว เพราะข้อมูลเศรษฐกิจอ่อนกำลังลง โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งธนาคารกลางอังกฤษได้พยายามลดความร้อนแรงในระบบเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยถึง 5 ครั้ง ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้สถานการณ์ฟองสบู่เริ่มคลี่คลาย จึงอาจไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก

เงินปอนด์มีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในตอนปลายสัปดาห์ เมี่อเทียบกับเงินดอลลาร์ เป็นผลจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนไหวอย่างหนักเมื่อเทียบกับเงินยูโร จึงพลอยกดให้ค่าเงินดอลลาร์ทรุดลง เมื่อเทียบกับเงินปอนด์

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ สุกใสที่สุดในรอบ 5 เดือนครึ่ง ปัจจัยสำคัญที่ส่งเสริมราคาทองคำ ได้แก่

• ราคาน้ำมันโลกที่สูงอย่างรวดเร็ว ปลุกความหวาดกลัวเกี่ยวกับเงินเฟ้อรุนแรง และเศรษฐกิจโลกหวั่นไหว ทำให้ความต้องการถือทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น

• เงินดอลลาร์มีค่าลดลงต่ำสุดในรอบ 2 เดือนเมื่อเทียบกับเงินยูโร ทำให้ชาวยุโรปซื้อทองคำได้ในราคาถูกลง

• ธนาคารกลางอาร์เจนติน่ามีแผนการที่จะซื้อทองคำเพิ่ม เพื่อเป็นทุนสำรองของประเทศทั้งสิ้น 55.1 ตัน

• ปริมาณความต้องการซื้อทองคำในอินเดียและประเทศตะวันออกกลาง เพิ่มมากขึ้นในระยะนี้ เนื่องจากย่างเข้าฤดูเทศกาลมงคลของอินเดีย และกลุ่มประเทศเศรษฐีน้ำมันในตะวันออกกลางต้องการลงทุนในหลักทรัพย์มีค่าประเภทอื่นๆ อาทิ ทองคำ ฯลฯ

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 27 กันยายน 2547 เทียบกับวันที่ 30 กันยายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2296 ดอลลาร์/ยูโร (1.2439 ดอลลาร์/ยูโร) 111.34 เยน (110.04 เยน) และ 1.8093 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8124 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2547 เท่ากับ 410.10 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 417.40 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2547