“โฆษณา” ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวสินค้า คงจะเป็นโฆษณาที่เข้าถึงคนได้อย่างใกล้ชิด สื่อความหมายตรงตัว
ในไต้หวัน พฤติกรรมของคนส่วนใหญ่จะหมกมุ่นอยู่กับการทำงานโดยเฉลี่ย 13-14 ชั่วโมงต่อวัน ชีวิตของคนในประเทศนี้ส่วนใหญ่จึงอยู่ในออฟฟิศ ซึ่งคนในประเทศนี้มีอัตราของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตโดยเฉลี่ยสูงถึง 11 ล้านคน จากประชากรที่มีอยู่ทั้งประเทศประมาณ 22 ล้านคน
ดังนั้นรูปแบบการโฆษณาส่วนใหญ่จึงเน้นการเข้าถึงตัวผู้บริโภคโดยตรง โฆษณาได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในรูปแบบต่างๆ ที่จะสามารถเข้าถึงตัวผู้บริโภคได้ง่าย ถึงตัว รวดเร็ว โดยไม่ต้องอาศัยสื่อที่เป็น mass อย่างโทรทัศน์เพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตาม สื่อโทรทัศน์ที่มีกว่า 100 ช่อง ยังคงเป็นตัวกลางที่ดีที่ใช้ขายของอย่างตรงไปตรงมา เข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคโดยตรง เช่นเดียวกับการจัดกิจกรรม (event) นอกสถานที่ของเจ้าของสินค้า และบริการต่างๆ ดังเช่นกรณีของ BenQ จัดกิจกรรมโปรโมตฟุตบอลยูโร 2004 ในฐานะของผู้สนับสนุนหลักก็ได้มีการจำลองสนามฟุตบอลบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า New York New York พร้อมแผ่นโปสเตอร์ขนาดใหญ่ และยังมีการทำรูปโดมฟุตบอลบริเวณหน้าห้างเพื่อให้ผู้บริโภคได้สัมผัสถึงกระแสของฟุตบอล แม้ว่าคนในไต้หวันจะไม่ค่อยตื่นตัวกับกีฬาฟุตบอลมากเท่ากับคนไทยก็ตาม
เมื่อฟุตบอลไม่ใช่เกมกีฬาที่ popular สำหรับคนไต้หวัน หากแต่เป็นบาสเกตบอลกีฬายอดนิยมของชาวไต้หวัน ด้วยเหตุนี้เอง โฆษณาจึงเป็นโจทย์ยาก ที่จะทำอย่างไรให้คนตื่นตัว สนใจ และให้คนได้สัมผัสถึงอารมณ์ความสนุกสนานของการเล่นฟุตบอล
เมื่อเข้าไปดูในร้านสะดวกซื้อเปิดตลอด 24 ชั่วโมง จะมีตู้โฆษณาสินค้าตั้งไว้ภายในร้าน หรือแม้แต่ใบเสร็จรับเงินในบริเวณท้ายรายการ ก็จะมีพื้นที่สำหรับโฆษณาสินค้าด้วยเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เห็นในเมืองไทยนัก
ส่วนในตลาดกลางคืนอย่าง Shingling Night Market ที่เป็นแหล่ง shopping ขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง เป็นเพียงจุดเดียวที่ได้เห็นภาพโฆษณาขนาดใหญ่ติดอยู่ที่ตัวตึก แต่ก็ไม่มากนักเมื่อเทียบกับเมืองไทย นั่นอาจจะเป็นเพราะว่า lifestyle ของคนในประเทศนี้ส่วนใหญ่อยู่แค่การทำงาน และกลับบ้านพักผ่อนก็เป็นได้
ร้านหนังสือที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นอีกหนึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สื่อออกมาอย่างชัดเจน สำหรับคนในประเทศนี้ ซึ่งมีนิสัยรักการอ่านเป็นส่วนใหญ่
ความแตกต่างของ lifestyle ในแต่ละประเทศ เป็นผลให้รูปแบบการโฆษณามีสีสันแตกต่างกันไป สำหรับคนในไต้หวันแล้ว สื่อที่เป็นภาพพิมพ์บนกระดาษ ในหนังสือ โทรทัศน์ หรืออินเทอร์เน็ต น่าจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนในประเทศนี้ได้อย่างง่ายดายที่สุด มากกว่าโฆษณากลางแจ้ง ที่ทำเป็น bill broad ขนาดใหญ่ ซึ่งการโฆษณาในลักษณะนี้จะพบเห็นได้เฉพาะบริเวณที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้นอย่างเช่น โรงหนัง เป็นต้น
นี่อาจจะเป็นเพียงภาพเล็กๆ ที่ได้มีโอกาสสัมผัสกับโฆษณาในประเทศไต้หวัน เมื่อครั้งไปเยือนตามคำเชิญของ BenQ
อย่างไรก็ตาม การทำโฆษณาขึ้นมาสักชิ้น ต้องศึกษา lifestyle ของผู้บริโภค แก่นของสินค้าที่ต้องการนำเสนอออกมาให้ดีก่อน เพื่อจะได้เข้าถึงตัวลูกค้า สื่อออกมาได้อย่างตรงจุด เกิดความคุ้มค่าอย่างสูงสุด มิใช่เสียเม็ดเงินไปอย่างสูญเปล่า