FTA ไทย-สหรัฐฯ : จับประเด็นร้อนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกับการค้า

สิ่งแวดล้อมมีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศมากขึ้นเป็นลำดับโดยเฉพาะอย่างยิ่งได้มีการนำมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้เป็นเงื่อนไขหนึ่งในการเจรจาการค้าเสรี (Free Trade Agreement : FTA) โดยประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมักกำหนดกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดเชื่อมโยงไปถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังมิได้ให้ความคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร

ในส่วนของประเทศไทยจะต้องปรับตัวต่อกระแสการค้าที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น และที่สำคัญขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี และมีกำหนดที่จะเจรจาครั้งที่ 2 กับสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 11-15 ตุลาคม 2547 ณ เกาะฮาวาย ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหัวข้อหนึ่งในการเจรจาด้วย คาดว่าสหรัฐฯ จะใช้กรอบการเจรจาในแนวทางเดียวกับความตกลง FTA ทวิภาคีที่สหรัฐฯ ได้จัดทำไปแล้วกับสิงคโปร์ และชิลี โดยได้รวมด้านสิ่งแวดล้อม (Chapter on Environment) เป็นข้อหนึ่งของความตกลงดังกล่าว

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐและเอกชนไทยจะต้องตื่นตัวและเตรียมพร้อมต่อประเด็นสิ่งแวดล้อมที่สหรัฐฯ ต้องการผลักดันให้ประเทศคู่ค้าออกกฎหมายที่มีระดับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมภายในประเทศในระดับที่สูง และการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ

สหรัฐฯ & ไทย : คุ้มครองสิ่งแวดล้อมแค่ไหน ?

– กติกาสากล
แม้ว่าองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO) มิได้มี ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่ได้กำหนดว่า มาตรการทางการค้าที่เกี่ยวกับการค้าสินค้าและบริการของประเทศสมาชิก WTO ต้องสอดคล้องกับหลักการของการค้าพหุภาคี คือ ประเทศสมาชิกต้องยึดหลักการปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน (Non-discrimination principle) ระหว่างประเทศสมาชิกหนึ่งกับคนในชาติ (National Treatment) และกับประเทศสมาชิกอื่นใดๆ (Most Favored Nation Treatment) ความตกลงของ WTO บางประเด็นมีส่วนเกี่ยวโยงกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ เช่น

• ความตกลงเกี่ยวกับการกีดกันการค้าด้านเทคนิค (Agreement on Technical Barriers to Trade : TBT) ระบุว่ามาตรการปกป้องทางสิ่งแวดล้อมสามารถใช้ได้ หากสอดคล้องกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติ
• ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights : TRIPS) ระบุว่าประเทศสมาชิกอาจปฏิเสธการให้สิทธิบัตรสำหรับการคิดค้น หากเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อม
• ความตกลงด้านเกษตร (Agreement on Agricultural) ระบุว่ามาตรการอุดหนุนภายในประเทศที่ส่งผลบิดเบือนการค้าน้อยสามารถอนุโลมให้ใช้ได้ ซึ่งรวมถึงการอุดหนุนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการปกป้องด้านสิ่งแวดล้อม

ที่ผ่านมาประเทศพัฒนาแล้วมักกำหนดมาตรฐานด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่สูงเป็นเงื่อนไขในการนำเข้าสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนา จนเกิดคดีพิพาททางการค้าภายใต้ WTO เรื่อยมา ยกตัวอย่างเช่น

* กรณี Tuna-Dolphin – สหรัฐฯ กำหนดกฎระเบียบเรื่องการนำเข้าปลาทูน่ากระป๋อง โดยประเทศผู้ส่งออกปลาทูน่ากระป๋องมายังสหรัฐฯ จะต้องได้รับใบรับรองความปลอด-ภัยของปลาโลมา (Dolphin-safe certification) ซึ่งหมายความว่า การจับปลาทูน่าจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อปลาโลมา พร้อมทั้งกำหนดการติดฉลากให้ชัดเจน ซึ่งประเทศกำลังพัฒนาถือว่าการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวเปรียบเสมือนเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งของสหรัฐฯ

* กรณี Shrimp-Turtle – ไทยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ได้แก่ อินเดีย มาเลเซีย และปากีสถาน ฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลก กรณีที่สหรัฐฯ ใช้มาตรการห้ามนำเข้ากุ้งทะเลจากไทย อินเดีย มาเลเซีย และปากีสถาน โดยอ้างว่าวิธีการจับกุ้งทะเลของประเทศเหล่านั้นเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของเต่าทะเล อย่างไรก็ตาม WTO ตัดสินให้สหรัฐฯ แพ้คดีนี้ เพราะสหรัฐฯ เลือกปฏิบัติระหว่างประเทศสมาชิก WTO โดยสหรัฐฯ ได้ให้เวลาปรับตัวกับชาวประมงในกลุ่มประเทศอเมริกากลางและประเทศแถบแคริบเบียนในการใช้อุปกรณ์ที่ให้ความปลอดภัยกับเต่าทะเล พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือทางการเงินและเทคนิคแก่ประเทศเหล่านั้นด้วย แต่ไม่ได้ปฏิบัติเช่นเดียวกันนี้กับประเทศอินเดีย มาเลเซีย ปากีสถาน และไทย

ขณะนี้ WTO อยู่ระหว่างการหารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างกฎเกณฑ์ของ WTO กับมาตรการทางการค้าภายใต้ความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (Multilateral Environmental Agreements : MEAs) และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมต่อการเปิดโอกาสของสินค้าจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าสู่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว โดยลดมาตรการกีดกันและ บิดเบือนทางการค้า

– กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

หากกล่าวถึงการเข้าเป็นภาคีของกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ สหรัฐฯ เข้าเป็นภาคีสมาชิกกฎหมายพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม (Multilateral Environment Agreements : MEAs) หลายฉบับ ยกเว้น 3 ฉบับที่ยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี ได้แก่ อนุสัญญาบาเซล (Basel Convention on the Control of Transboundary Movements of Hazardous Waste and their Disposal) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (The Convention on Biological Diversity : CBD) และพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol)

สำหรับไทยได้เข้าเป็นภาคีความตกลง MEAs เกือบทั้งหมดแล้ว เช่น พิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) อนุสัญญาบาเซล อนุสัญญาไซเตส (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Floras : CITES) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ยกเว้นยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ

– กฎหมายภายในประเทศ

สหรัฐฯ : กฎหมายของสหรัฐฯ ด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ เช่น Marine Mammal Protection Act (MMPA) ว่าด้วยเรื่องการปกป้องสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม ได้แก่ ปลาวาฬ ปลาโลมา สิงโตทะเล และแมวน้ำ และ Endangered Species Act ว่าด้วยเรื่องการ ปกป้องเต่าทะเลทั้ง 6 ชนิดของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายอื่นๆ ได้แก่ National Environmental Policy Act, Clean Air Act, Clean Water Act และ Oil Pollution Act

กฎหมายส่งเสริมการค้าของสหรัฐฯ (TPA) กำหนดให้ทบทวนประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในการจัดทำความตกลงทางการค้าในรูปแบบต่างๆ ได้แก่ (1) การเจรจาการค้าพหุภาคี (2) ความตกลงเขตการค้าเสรีทวิภาคี และพหุภาคี และ (3) ความตกลงเปิดเสรีทางการค้าใหม่ๆ ในสาขาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้กำกับนโยบายของสหรัฐฯ รับทราบถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทั้งผลดีและผลเสียจากการ จัดทำข้อตกลงทางการค้า และชี้ให้เห็นถึงความสมดุลและสอดคล้องกันระหว่างเป้าหมายทางการค้าและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทบทวนด้านสิ่งแวดล้อมนี้เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อให้กระบวนการเจรจาการค้าคล่องตัว โดยผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และสภาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ (Council on Environmental Quality) จะตรวจสอบการดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดไว้

ไทย : กฎหมายภายในของไทยที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญ เช่น

– พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 กำหนด มาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม การทำรายงานการวิเคราะห์และประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรฐานควบคุมมลพิษ การตรวจสอบและควบคุมมลพิษ และมาตรการส่งเสริมคุณภาพ สิ่งแวดล้อม

– พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 กำหนดที่ตั้ง สภาพแวดล้อม ลักษณะอาคารและลักษณะภายในโรงงาน กำหนดมาตรฐานและวิธีการปล่อยของเสีย มลพิษ หรือสิ่งใดๆ ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นจากการประกอบกิจการโรงงาน

– พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 กำหนดเกณฑ์ควบคุมวัตถุอันตราย โดยการนำเข้า ผลิต ขนส่ง ใช้งาน การกำจัดและส่งออก ไม่ให้มีผลกระทบและเป็นอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช สมบัติหรือสิ่งแวดล้อม

– พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เกี่ยวกับการควบคุมผู้ประกอบการขนส่ง/ผู้รับจ้างกำจัดขยะมูลฝอยและของเสีย และกำหนดเกณฑ์ควบคุมเหตุเดือดร้อนรำคาญของส่วนรวมที่เกิดจากกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สารอันตราย ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ขี้เถ้าพิษ ที่มีผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

– พระราชบัญญัติการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรและการนำเข้ามาใน ราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 กำหนดสินค้าที่ควบคุมการส่งออก (ปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ Convention on International Trade in Endangered Species : CITES)

การปรับตัวของไทยต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้ FTA

การเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ ประกอบด้วยหัวข้อการเจรจากว่า 20 หัวข้อ ครอบคลุมประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมด้วย ทางการไทยจึงควรเตรียมการเตรียมการแต่เนิ่นๆ เพื่อให้การเจรจาในประเด็นนี้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ขณะนี้ภาครัฐได้ดำเนินการหลายๆ เรื่อง ดังนี้

1. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดตั้งคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมการหารือ/พิจารณาประเด็นสำคัญๆ สำหรับการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ

2. การปรับปรุงกฎหมาย/กฎระเบียบภายในประเทศด้านสิ่งแวดล้อมให้โปร่งใสและรัดกุมยิ่งขึ้น ที่สำคัญ ได้แก่ พระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 รวมทั้งจัดทำร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ และร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดการของเสียอันตรายจากซากผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้การปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ได้ปรับปรุงมาตรฐานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment Impact Assessment : EIA) โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการพิทักษ์ปกป้องสภาพแวดล้มมากขึ้นในทุกขั้นตอน ตั้งแต่ก่อนเริ่มดำเนินโครงการต่างๆ ที่อาจกระทบต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ โดยการจัดทำประชาพิจารณ์ ประกาศให้ประชาชนในท้องถิ่นได้รับทราบข้อมูล และมีความเข้าใจตรงกัน เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งทางสังคม รวมทั้งเน้นผลกระทบต่อสังคม และสุขภาพให้มากขึ้นด้วย

3. กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมจัดตั้งบริษัทเพื่อทำหน้าที่จัดการของเสียบรรจุภัณฑ์ และวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม 5 ประเภท ได้แก่ บรรจุภัณฑ์แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ และอลูมิเนียม เพื่อรองรับต่อกระแสการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ประเทศผู้นำเข้าเริ่มให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมสำหรับบรรจุภัณฑ์สินค้าที่ส่งออกมากขึ้น

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีความเห็น ในการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่มาแรงควบคู่กับการเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศคู่ค้าต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ ดังนี้

1. ปัจจุบันไทยมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมหลายฉบับที่กำหนดกฎเกณฑ์ การดำเนินการต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แต่ก็ยังประสบปัญหาการปล่อยของเสีย/สารพิษจาก โรงงานลงสู่แม่น้ำลำคลอง การลักลอบทิ้งขยะอันตราย ซึ่งอาจกระทบต่อเกษตรกรผู้ใช้แหล่งน้ำและผืนดินในการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ รวมทั้งเกิดผลเสียต่อระบบนิเวศน์วิทยา ดังนั้นการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ทำให้เกิดผลดีในแง่กระตุ้นให้ไทยออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกวดขันยิ่งขึ้น รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แม้การปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมจะส่งผลให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าและบริการมีต้นทุนการผลิต/การดำเนินการที่สูงขึ้น เพื่อให้การผลิต สินค้าและบริการไม่ทำลายสภาพแวดล้อม และในระยะยาวจะเป็นผลดีกับประเทศไทยและ ประชาชนชาวไทยส่วนรวมในการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยภาคเอกชนชนไทยจะต้องปรับตัวโดยปรับปรุงกระบวนการผลิตและการค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของประเทศให้คงสภาพเดิมอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยขจัดปัญหาความขัดแย้งกับประเทศคู่ค้าของไทยที่มักใช้ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้างในการกีดกันการค้ากับสินค้าส่งออกของไทย

2. การปรับปรุงพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 โดยระบุถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพิทักษ์สิ่งแวดล้อมให้ชัดเจนขึ้น โดยให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิเข้าร่วมในการแสดงความคิดเห็นเบื้องต้น รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะเกิดผลดีต่อชุมชน และสร้างความโปร่งใสในการจัดทำโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การกำหนดแนวทางจัดทำรายงาน EIA โดยครอบคลุมประเด็นด้านสังคมและสุขภาพที่ชัดเจน นับว่าเป็นเครื่องมือในการควบคุมปัญหามลพิษที่มีประสิทธิภาพและครบวงจรมากขึ้น

3. ทางการไทยควรปลูกจิตสำนึกของประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสมบัติส่วนรวมของประเทศ และควรกระตุ้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อไป

ข้อควรระวัง

– สหรัฐฯ อาจใช้ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งสหรัฐฯ อาจหยิบยกประเด็นเรื่องส่วนประกอบของสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และการเคลื่อนย้ายของเสียอันตราย มาเป็นข้อกีดกันการค้า ดังนั้นไทยจะต้องปฏิบัติตามพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยเรื่องของสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยเรื่องการเคลื่อนย้ายของเสียอันตรายอย่างเคร่งครัด ซึ่งไทยเป็นภาคีพิธีสารและอนุสัญญาดังกล่าว

– การค้าโลกมีแนวโน้มที่จะนำประเด็นเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไป เชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น และขณะนี้หลายประเทศ รวมทั้งไทย ได้พยายามปรับตัวโดยกำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับฉลากเขียว แสดงให้เห็นว่าสินค้าเหล่านี้ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อไม่ให้ประเทศอื่นใช้สิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้างกีดกันทางการค้า รวมทั้งการใช้ฉลากเขียวเพื่อชักจูงให้ผู้บริโภคหันมาใช้สินค้าเหล่านี้มากขึ้น แต่มาตรฐานการปกป้องสิ่งแวดล้อมแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ประเทศพัฒนาแล้วมักกำหนดมาตรฐานการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่สูง จนประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถปฏิบัติตามได้ หรือมีต้นทุนการดำเนินการที่สูงจนไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ จึงเห็นควรผลักดันในเวทีการค้าโลกให้กำหนดมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมร่วมกันอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

สรุป

การจัดทำ FTA ไทย-สหรัฐฯ ที่ครอบคลุมประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ประกอบกับกระแสการค้าโลกที่มีแนวโน้มเชื่อมโยงเรื่องสิ่งแวดล้อมกับการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ที่กำหนดมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในระดับสูงและต้องการให้ประเทศอื่นปฏิบัติตาม ทางการไทยควรมีจุดยืนในการเจรจาต่อรองในประเด็นดังกล่าว โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติส่วนรวมเป็นหลัก ทั้งในเรื่องการค้าระหว่างประเทศที่เป็นธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศอย่างยั่งยืน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยในระยะยาว