ธ.กสิกรไทย คว้าแชมป์ธนาคารแห่งปี 2547

เผยผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี 2547 ธนาคารกสิกรไทยคว้าแชมป์ไปครองติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ตามติดด้วยธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน นั่งอันดับ 2 ส่วนธนาคารกรุงเทพและธนาคารนครหลวงไทย รั้งอันดับ 4

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนตุลาคม 2547 ที่กำลังวางแผงในขณะนี้ ประกาศผลการจัดอันดับธนาคารแห่งปี ประจำปี 2547 หรือ Bank of The Year 2004 ปรากฏว่า ธนาคารกสิกรไทย สามารถคว้าแชมป์ธนาคารแห่งปี 2547 มาครองได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการครองตำแหน่งติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ด้วยผลงานโดดเด่นรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผลตอบแทนในด้านต่างๆ ที่มีอัตราสูงอยู่ในอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับธนาคารทั้งระบบ ทั้งอัตราผลกำไรสุทธิต่อรายได้รวม 29.18% อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ 1.44% และอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 22.62% โดยเฉพาะประสิทธิภาพในการหารายได้ของพนักงานที่สูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 3.97 ล้านบาทต่อคน

ตามติดด้วยธนาคารไทยพาณิชย์และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน สร้างผลงานโดดเด่นขึ้นมายืนคู่กันในอันดับ 2 โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ที่ก้าวกระโดดขึ้นมาจากอันดับ 11 เมื่อปีที่แล้ว ส่วนธนาคารกรุงเทพและธนาคารนครหลวงไทย พร้อมใจกันอยู่ในอันดับ 4

ทางด้านธนาคารกรุงไทย อยู่ในอันดับ 6 ส่วนอันดับ 7 เป็นของ 2 ธนาคารคือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยาและธนาคารเอเชีย สำหรับธนาคารไทยธนาคารที่ปีนี้ขาดทุนถึง 3,816.21 ล้านบาท ทำให้ตกจากอันดับ 2 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 9 และอันดับ 10 ในปีนี้ตกเป็นของธนาคารยูโอบีรัตนสิน

ส่วนธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ และธนาคารทหารไทย มีผลขาดทุนเป็นจำนวนมากจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ โดยธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ ขาดทุนสุทธิ 1,662.91 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย ขาดทุนสุทธิ 12,733.20 ล้านบาท จึงรั้งท้ายอยู่ในอันดับ 11 และ 12 ตามลำดับ

ทั้งนี้สมรภูมิการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ในรอบปีที่ผ่านมา ยังคงดุเดือดและเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อฉกฉวยโอกาสในการหารายได้ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น ด ังจะเห็นได้จากการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลให้สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ถึง 8 แสนล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 4 แสนล้านบาท และคาดว่าจะลดน้อยลงไปอีกในสิ้นปีนี้

ควบคู่ไปกับปรากฎการณ์การควบรวมกิจการของสถาบันการเงิน หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแผนแม่บททางการเงิน (Financial Master Plan) เมื่อปลายปี 2546 ซึ่งส่งสัญญาณถึงสภาพการแข่งขันที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป พร้อมกับบทพิสูจน์การดำรงอยู่ของสถาบันการเงินนับจากนี้ไปว่า ‘เล็กอยู่ยาก’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ‘ใหญ่แล้วจะอยู่ง่าย’ ทุกคนจึงต้องปรับตัวเพื่อให้พร้อมกับการทำธุรกิจการเงินยุคใหม่ทั้งสิ้น

ดังนั้น เกณฑ์ในการจัดอันดับแห่งปี 2547 จึงยังคงเน้นให้ความสำคัญกับผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ โดยพิจารณาจากอัตราส่วนทางการเงินต่างๆ ที่เป็นมาตรฐานสากล ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการของธนาคารพาณิชย์โดยภาพรวม และในปีนี้ได้เพิ่มเกณฑ์ทางด้านอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เข้ามาประกอบการจัดอันดับ เพื่อแสดงถึงการให้ความสำคัญในการคืนผลตอบแทนกลับไปยังผู้ถือหุ้นอย่างเป็นรูปธรรม

โดยนำตัวเลขผลประกอบการในช่วง กรกฎาคม 2546 – มิถุนายน 2547 ของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 12 แห่ง มาคำนวณอัตราส่วนทางการเงินที่วัดประสิทธิภาพของธนาคารในด้านต่างๆ เพื่อจัดดับธนาคารแห่งปี ดังนี้ 1. อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (Return on Asset : ROA) 2. อัตราผลตอบแทนจากส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity : ROE) 3. อัตรากำไรสุทธิต่อรายได้รวม (Net Profit Margin)

4. กำไรต่อหุ้น (Earnings per Share : EPS) 5. รายได้รวมต่อพนักงาน (Total Income/ Head Counts) 6. มูลค่าตามบัญชีต่อหุ้น (Book Value per Share) 7. สินทรัพย์รวม (Total Assets) 8. อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม (NPLs/Total Loans) 9. อัตราส่วนเงินให้กู้ยืมต่อเงินฝาก (Loans/Depositis) 10. อัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Bis Ratio) และ 11.อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เพื่อว ัดผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นได้รับในรูปของเงินปันผลเปรียบเทียบกับราคาหุ้นเฉลี่ยในรอบ 1 ปี