ในที่สุดอินโดนีเซียก็ได้ประธานาธิบดีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนกว่า 200 ล้านคน ในรอบ 59 ปีที่ผ่านมา คือ ประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน ซึ่งกำหนดเข้าพิธีสาบานตนเพื่อรับตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 ตุลาคม 2547 ถือว่าเป็นการผลัดเปลี่ยนผู้นำของเอเชียที่สำคัญอีกวาระหนึ่งก่อนสิ้นสุดปี 2547 สำหรับประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับที่ 4 ของโลกอย่างอินโดนีเซีย หลังจากประเทศเอเชีย-แปซิฟิกมีการเลือกตั้งมาเป็นระยะในช่วงก่อนหน้านี้นับตั้งแต่มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และล่าสุดออสเตรเลีย
ทางด้านประเทศไทย อินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันยาวนาน และมีความใกล้ชิดทางด้านเศรษฐกิจอย่างมากในฐานะประเทศสมาชิกรุ่นบุกเบิกด้วยกัน ทำให้คาดว่าประธานาธิบดียูโดโยโน ซึ่งชาวอินโดนีเซียเทคะแนนเสียงให้เป็นผู้นำประเทศคนใหม่ จะผลักดันให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เป็นผลดีแก่ชาวอินโดนีเซีย และประเทศสมาชิกอาเซียนโดยรวมด้วย
ไทยและอินโดนีเซียเป็นสมาชิกร่วมก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ร่วมกับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ในปี 2510 ซึ่งในปัจจุบันได้ขยายประเทศสมาชิกอาเซียนรวมทั้งหมดเป็น 10 ประเทศ โดยอินโดนีเซียเป็นที่ตั้งของสำนักเลขาธิการอาเซียน (ASEAN Secretariat)
ทั้งนี้ จากการที่อาเซียนประกาศจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ให้สมบูรณ์ภายในปี ค.ศ. 2020 (พ.ศ.2563) ทำให้ไทยกับอินโดนีเซียรวมทั้งประเทศอาเซียนอื่นๆ มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างกันมากขึ้นเป็นลำดับ ทั้งด้านการค้า บริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยจะได้ประโยชน์จากการมีฐานการผลิตและตลาดร่วมกัน ซึ่งตลาดอาเซียนถือได้ว่าเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากถึง 520 ล้านคน ดังนั้นหากประธานาธิบดียูโดโยโนสามารถนำประเทศอินโดนีเซียไปสู่ความสงบร่มเย็น และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแล้ว อินโดนีเซียในฐานะประเทศพี่เบิ้มของอาเซียนก็จะสามารถเป็นพลังผลักดันให้ความร่วมมือต่างๆ ของอาเซียนประสบผลสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากความร่วมมือภายใต้อาเซียน ไทยและอินโดนีเซียยังมีความร่วมมือในระดับภูมิภาคอื่นๆ ที่สำคัญเพื่อส่งเสริมการค้าและพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน เช่น
– ความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (APEC)
– ความร่วมมือเอเชีย-ยุโรป (ASEM)
– โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจอินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)
ประธานาธิบดียูโดโยโน อดีตนายพลกองทัพบก ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่ในสมัยอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โต และรัฐมนตรีความมั่นคงในสมัยประธานาธิบดีเมกาวาตี โดยนายยูโดโยโนได้ลาออกจากคณะรัฐบาลเมกาวาตีในเดือนมกราคม 2547 และก่อตั้งพรรคเดโมแครติคของตนเอง โดยได้รับคะแนนเสียงอันดับ 1 ในการลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรกของอินโดนีเซียในวันที่ 5 กรกฎาคม 2547 และชนะคะแนนประธานาธิบดีเมกาวาตีในการเลือกตั้งฯ รอบที่สอง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2547 ชัยชนะของประธานาธิบดียูโดโยโนแสดงให้เห็นว่า ประชาชนอินโดนีเซียต้องการการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ/สังคม และต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง เพราะหลังการปกครองของนางเมกาวาตีตั้งแต่ปี 2544 รวมเวลา 3 ปี ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ การกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกของประธานาธิบดียูโดโยโนหลังได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีได้สัญญาว่าจะเร่งการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ราว 6.6% ต่อปี
ปัญหาท้าทายผู้นำใหม่
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ปัญหาเร่งด่วนที่ประธานาธิบดี ยูโดโยโนจะต้องแก้ไขทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และความอยู่ดีกินดีของประชาชน เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้บรรลุเป้าหมายอัตราการขยายตัว 6.6% ต่อปีตามที่วางแผนไว้ มีดังนี้
1. ด้านเศรษฐกิจ
ในช่วงอดีตประธานาธิบดีเมกาวาตีบริหารประเทศนับว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียค่อนข้างมีเสถียรภาพ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตต่อเนื่องในอัตรา 4.3% ในปี 2545 4.5% ในปี 2546 และประมาณการว่าเศรษฐกิจ อินโดนีเซียจะขยายตัว 4.8% ในปี 2547 สำหรับในปี 2548 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะเติบโต 5.5% ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขคาดการณ์ของทางการอินโดนีเซียในอัตรา 5.4% ในปี 2548 ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียที่ฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้น เศรษฐกิจ อินโดนีเซียช่วงปี 2511-2540 เติบโตอย่างแข็งแกร่งอยู่ในระดับ 6-7% ต่อปี ประธานาธิบดียูโดโยโนจึงมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ดังต่อไปนี้ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแกร่งดังเช่นช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย
o กอบกู้การลงทุนจากต่างประเทศ – ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2547 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของอินโดนีเซียมีมูลค่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงถึง 33.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 การลงทุนของต่างชาติในอินโดนีเซียซบเซาลง ตั้งแต่หลังวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และในปี 2546 มีมูลค่า 13,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 เมื่อเทียบกับปี 2538 ซึ่งมีการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุด ทั้งนี้ การลงทุนของต่างชาติในอินโดนีเซียลดลง เพราะอินโดนีเซียมีปัญหาความไม่แน่นอนของกฎหมาย และปัญหาการคอร์รัปชั่น ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่มั่นใจและชะลอการลงทุนในอินโดนีเซีย
o ฟื้นฟูอุตสาหกรรมน้ำมัน – อินโดนีเซียเป็นสมาชิกลุ่มโอเปค – ประเทศ ผู้ผลิตน้ำมันส่งออก แต่กลับกลายเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิเป็นครั้งแรกในปี 2547 เพราะการลงทุนด้านการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอินโดนีเซียลดลงมากกว่า 50% ในปี 2546 และการผลิตน้ำมันดิบของอินโดนีเซียลดลงมากกว่า 6% ต่อปี ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่วนหนึ่งมาจากการหมดอายุของแหล่งน้ำมัน แต่สาเหตุหลัก คือ การคอร์รัปชั่นอย่างเรื้อรัง กฎระเบียบที่ขาดความชัดเจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน และเหตุการณ์ความไม่มั่นคงของจังหวัดที่เป็นแหล่งน้ำมันสำคัญอย่าง Aceh ซึ่งมีการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราช
o คลี่คลายวิกฤตน้ำมันแพง – จากสถานการณ์ราคาน้ำมันแพงอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้อินโดนีเซียใช้เงินอุดหนุนพยุงราคาน้ำมันสำเร็จรูปไว้แล้วกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งทำให้งบประมาณของรัฐบาลขาดดุล และคาดว่าปีนี้ทางการอินโดนีเซียจะใช้เงินอุดหนุนราคาน้ำมันสำเร็จรูปถึง 6,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งอาจเกิดผลเสียในระยะยาวต่อเศรษฐกิจ เพราะประชาชนชาวอินโดนีเซียยังมิได้ตระหนักถึงการประหยัดน้ำมันอย่างแท้จริง ขณะเดียวกันการขาดดุลงบประมาณจำนวนมากจะนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าประธานาธิบดียูโดโยโนจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน ซึ่งจำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับการส่งเสริมการลงทุนด้านการขุดเจาะน้ำมันและก๊าซ รวมทั้งการแสวงหาพลังงาน ทดแทนอย่างจริงจังด้วย
o บรรเทาปัญหาการว่างงาน/ความยากจน – ประชากรของอินโดนีเซียราว 40 ล้านคนจากประชากรทั้งหมดราว 214 ล้านคน ประสบปัญหาการว่างงาน และกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมดของอินโดนีเซียมีค่าจ้างเฉลี่ยเพียง 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 80 บาท) ต่อวันเท่านั้น ดังนั้นการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนจึงเป็นงานเร่งด่วนที่สำคัญ ทั้งนี้ การรักษาอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการกระตุ้นการ ลงทุนจากต่างประเทศจะส่งเสริมการสร้างงาน และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในที่สุด
2. ด้านสังคม
o ขจัดปัญหาคอร์รัปชั่น – สมัยนางเมกาวาตีเป็นประธานาธิบดีได้มีความพยายามปราบปรามคอร์รัปชั่นอย่างแข็งขัน โดยจัดตั้งคณะกรรมการปราบปรามคอร์รัปชั่น แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่หมดสิ้นไป โดย Berlin-Based Transparency International ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศได้จัดอันดับให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นมากที่สุดในเอเชีย นับเป็นอุปสรรคต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
o เสริมสร้างความมั่นคง/ความปลอดภัย-นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้ากว่าประเทศเอเชียอื่นๆ อินโดนีเซียซึ่งเป็นประเทศมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดของโลกยังประสบปัญหาด้านความมั่นคง โดยอินโดนีเซียตกเป็นเป้าหมายโจมตีของผู้ก่อการร้ายต่อต้านตะวันตก นับตั้งแต่เกิดเหตุระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2545 การระเบิดที่โรงแรมแมริออตในกรุงจาการ์ตาในปี 2546 และการโจมตีหน้าสถานทูตออสเตรเลีย ณ กรุงจาการ์ตา ในเดือนกันยายน 2547 โดยเหตุการณ์ความไม่สงบเหล่านี้ เป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุนและการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย ทำให้ชาวต่างชาติไม่กล้าเข้ามาลงทุนและชะลอการเดินทางไปท่องเที่ยวในอินโดนีเซีย
o ปรับปรุงระบบกฎหมาย – นักลงทุนต่างชาติมักประสบปัญหาความไม่แน่นอนของกฎหมาย/กฎระเบียบของอินโดนีเซีย รวมทั้งกระบวนการยุติธรรมที่มีความไม่ชัดเจน ทำให้นักลงทุนต่างชาติลังเลที่จะเข้ามาลงทุน เช่น การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกฎระเบียบไม่แน่นอน ทางการอินโดนีเซียจึงควรปรับปรุงกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้โปร่งใสและเป็นธรรมตามมาตรฐานสากล
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมมีความเชื่อมโยงกัน รัฐบาลชุดใหม่ของอินโดนีเซียจึงควรแก้ไขปัญหาทั้ง 2 ด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งนี้ ล่าสุดประธานาธิบดียูโดโยโนประกาศจัดตั้งสภาความมั่นคงแห่งชาติเพื่อรวมศูนย์แก้ไขปัญหาการก่อกบฎและการก่อการร้ายต่างๆ และสภาที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ ผู้นำธุรกิจ และนักวิชาการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ตกต่ำ รวมทั้งปัญหาการว่างงาน และการลงทุนที่ลดลง ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาที่ดี
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงได้รับปัจจัยเกื้อหนุนบางประการ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจของอินโดนีเซียขยายตัวต่อเนื่อง ได้แก่
? การลงทุนโดยตรงจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ สิงคโปร์ และมาเลซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสิงคโปร์ได้เข้าไปลงทุนโดยตรงในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเท่าตัวในระหว่างปี 2541-2545 โดยเป็นการลงทุนในภาคการธนาคาร ภาคโทรคมนาคม และปาล์มน้ำมัน นอกจากนี้ แอร์เอเชียซึ่งเป็นสายการบินต้นทุนต่ำของมาเลเซียได้เข้าซื้อสายการบินเอกชนแห่งหนึ่งของอินโดนีเซีย รวมทั้งจะร่วมลงทุนกับหุ้นส่วนท้องถิ่นอีกแห่งเพื่อเปิดสายการบินต้นทุนต่ำแห่งใหม่ ทั้งนี้ เนื่องจากการเติบโตของบริษัทสิงคโปร์และมาเลเซียภายในประเทศตนเองมีข้อจำกัด จึงต้องขยายตัวโดยออกไปลงทุนในต่างประเทศ ทั้งนี้ อินโดนีเซีย เป็นแหล่งลงทุนที่มีศักยภาพ อีกทั้งมีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ที่ตั้งของประเทศใกล้เคียงกัน และขนบธรรมเนียมคล้ายคลึงกัน
? ความต้องการบริโภคของคนอินโดนีเซียขยายตัวสูง – ยอดขายรถยนต์ของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเติบโต 32% คิดเป็นจำนวน 465,000 คัน ในปี 2547 เมื่อเทียบกับปี 2546 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของอินโดนีเซียค่อนข้างต่ำ รวมทั้งราคารถยนต์ในอินโดนีเซียชะลอตัวลง และมีหลากหลายรูปแบบ ทำให้อินโดนีเซียกลายเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากมาเลเซียและไทย และเติบโตเร็วที่สุดในเอเชียเป็นอันดับ 2 รองจากจีน โดยคาดว่ายอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้น 3 เท่า เป็น 1.3 ล้านคัน ภายในปี 2553 ทั้งนี้ นอกจากจีนและอินเดียแล้ว อินโดนีเซียจะเป็นตลาดที่มียอดขายรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย
ไทย & อินโดนีเซีย : สัมพันธ์รอบด้าน
ไทยกับอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันมามากกว่า 50 ปี สำหรับด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ด้านการค้า การลงทุน และการเดินทางท่องเที่ยวไปมาระหว่างกัน สรุปได้ดังนี้
การค้าไทย-อินโดนีเซีย – ปัจจุบันอินโดนีเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 7 คิดเป็นสัดส่วน 3.17% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ขณะที่เป็นแหล่งนำเข้าของไทยอันดับที่ 11 คิดเป็นสัดส่วน 2.29% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-สิงหาคม) มูลค่าการค้าไทยกับอินโดนีเซีย 3,413.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 2.73% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด นับว่ามูลค่าการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากสัดส่วน 1.49% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย ทั้งหมดในปี 2539 เป็น 2.59% ในปี 2546 เนื่องจากพันธกรณีการลดภาษีเพื่อส่งเสริมการค้าภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน นอกจากนี้ ไทยเกินดุลการค้ากับอินโดนีเซียช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 เพิ่มขึ้น 94% จาก 291.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2546 เป็น 564.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2539 ที่ไทยเกินดุลการค้ากับอินโดนีเซียเพียง 30.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
หากเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยอินโดนีเซียนับว่าเป็นตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าที่สำคัญของไทยเป็นอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยฟิลิปปินส์ตามหลังมาอยู่ในอันดับ 4
การลงทุนไทย-อินโดนีเซีย – การลงทุนของไทยในอินโดนีเซียช่วงปี 2543-2546 มีมูลค่าสะสมรวมราว 960 ล้านบาท ในขณะที่อินโดนีเซียเข้ามาลงทุนในไทยคิดเป็นมูลค่าสะสมประมาณ 2,400 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาเป็นรายปีพบว่า การลงทุนของอินโดนีเซียในไทยลดลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โครงการของอินโดนีเซียที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ลดลงจาก 536 ล้านบาทในปี 2545 เป็น 368.1 ล้านบาทในปี 2546 และช่วงเดือน 6 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม – มิถุนายน) โครงการที่ขออนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีเพียง 92.5 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากเหตุการณ์ความตึงเครียดจากภัยก่อการร้ายในอินโดนีเซีย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดลง แต่คาดว่าเมื่อประธานาธิบดียูโดโยโนกุมบังเหียนประเทศเรียบร้อยแล้วเหตุการณ์ต่างๆ จะคลี่คลายดีขึ้น ส่งเสริมให้การลงทุนระหว่างไทย-อินโดนีเซียสดใสอีกครั้ง
การท่องเที่ยวไทย-อินโดนีเซีย – ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2547 นักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียที่เดินทางมาไทยเพิ่มขึ้นมากที่สุดในอาเซียนและในเอเชียตะวันออก คือเพิ่มขึ้นถึง 60.22% จากช่วงเดียวกันของปี 2546 โดยมีจำนวน 91,076 คน คิดเป็นสัดส่วน 1.65% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาไทย ชาวอินโดนีเซียที่เดินทางมาไทยกระเตื้องขึ้นในช่วงครึ่งปีแรก 2547 หลังจากที่นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยลดลงถึง 16.06% ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2546 เพราะเกิดโรคระบาดซาร์รุนแรงในช่วงนั้น ทั้งนี้ อินโดนีเซียนับเป็นนักท่องเที่ยวอาเซียนอันดับ 3 ที่เดินทางมาไทย รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ตามลำดับ การที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 5% ในปี 2548 น่าจะช่วยให้ชาวอินโดนีเซียเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนประมาณ 175,000 คน
ส่วนนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินโดนีเซียในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-มีนาคม) มีจำนวน 6,449 คน เพิ่มขึ้น 122.76% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 เนื่องจากนักท่องเที่ยวไทยบางส่วนเริ่มมั่นใจในการเดินทางไปอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง หลังเกิดเหตุการณ์ระเบิดที่เกาะบาหลีในปี 2545 ทำให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปอินโดนีเซีย ลดลงอย่างมากในปี 2546
สรุป
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่มีความเชื่อมโยงกันในหลายระดับ มีส่วนทำให้เกิดผลกระทบถึงกันอย่างรวดเร็ว ดังนั้น ภารกิจของประธานาธิบดีสุสิโล บัมบัง ยูโดโยโน ที่จะทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน จึงเป็นผลดีต่อไทยด้วย เพราะถือว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่สำคัญของไทยตลาดหนึ่ง แม้ว่ากำลังซื้อของอินโดนีเซียจะไม่มากนักในปัจจุบัน แต่มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจอินโดนีเซียจะกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้งดังเช่นก่อนเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ นอกจากนี้ตลาดอินโดนีเซียยังมีศักยภาพสำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่น่าจะสามารถขยายตัวได้อีกมาก เพราะขณะนี้สัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับอินโดนีเซียยังไม่สูงนัก
ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียถือว่าเป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยด้วย
แม้ว่าขณะนี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตแข็งแกร่งกว่าอินโดนีเซีย แต่ไทยจะต้องเสริมสร้างขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพราะจากการจัดอันดับขีดความสามารถทางการแข่งขันประจำปี 2547-2548 จาก 104 ประเทศทั่วโลกของ World Economic Forum พบว่าขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยลดลงจากอันดับที่ 32 ของโลก มาอยู่ที่อันดับ 34 โดยไทยต้องแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาหลัก รวมทั้งเร่งพัฒนาด้านเทคโนโลยีด้วย