ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด … ยังคงบ่งชี้แนวโน้มการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น

ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุด ยังคงชี้ถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯ โดยมีตัวแปรที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้:

• ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (non-farm payroll)

ที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.57 แสนตำแหน่ง ซึ่งแม้ว่าจะต่ำกว่าค่าคาดการณ์ของตลาดที่ 1.75 แสนตำแหน่ง แต่ก็เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 1.37 แสนตำแหน่งในเดือนก่อนหน้า (โดยตัวเลข 1.37 แสนตำแหน่งของเดือนพฤศจิกายน ก็เป็นตัวเลขที่ถูกปรับขึ้นจากตัวเลขที่ได้ประกาศไปล่วงหน้าที่ 1.12 แสนตำแหน่ง) ทั้งนี้ แม้ว่าตัวเลขในเดือนธันวาคมจะไม่ได้แข็งแกร่งมากเท่าที่ตลาดคาดไว้ แต่ก็ไม่ได้อ่อนแอเกินไปจนทำให้ตลาดต้องปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 กุมภาพันธ์ 2548 ของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยหากพิจารณาตัวเลขทั้งปี 2547 จะพบว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นรวมกว่า 2.2 ล้านตำแหน่ง หรือคิดเป็นขนาดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยประมาณ 1.9 แสนตำแหน่งต่อเดือน สูงกว่า 1.5 แสนตำแหน่งต่อเดือน ซึ่งเป็นระดับที่สอดคล้องกับการเติบโตของประชากรแรงงานสหรัฐฯ นั่นหมายความว่า อัตราการว่างงานน่าที่จะมีแนวโน้มที่ค่อย ๆ ปรับลดลงในอนาคตอันใกล้นี้ โดยการใช้ทรัพยากรในระบบที่ทยอยเพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ย่อมที่จะส่งผลกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯได้ในที่สุด (Phillips Curve Relationship)

• ก่อนหน้านี้ ตัวเลขการสำรวจแนวโน้มการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ (ISM Manufacturing Index)

ก็ได้ปรับตัวขึ้นมาที่ระดับ 58.6 ในเดือนธันวาคม (ทั้งนี้ ระดับที่สูงกว่า 50.0 สะท้อนถึงการคาดการณ์ในทางบวก ว่าจะมีการขยายตัวในช่วงข้างหน้า) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตัวเลขคำสั่งซื้อใหม่ (New Orders Index) ได้ทยานขึ้นถึงระดับ 67.4 นอกจากนี้ ตัวเลขการสำรวจแนวโน้มการขยายตัวของภาคบริการ (ISM Non-manufacturing Index) ก็ขึ้นมาสูงถึงระดับ 63.1 โดยดัชนีดังกล่าวอยู่เหนือระดับ 60.0 ติดต่อกันเป็นเดือนที่สองแล้ว

• ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคก็อยู่ในระดับที่สูงเช่นเดียวกัน

โดยดัชนีความเชื่อมั่นของ Conference Board ได้ขึ้นไปถึงระดับ 102.3 ในเดือนธันวาคม 2547 จาก 92.6 ในเดือนก่อนหน้า อันเป็นผลจากภาวะการจ้างงานที่ดีขึ้น และราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลง

จากตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้ ประกอบกับถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC minute) ที่ออกมาในสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งแสดงความมั่นใจต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมทั้งแสดงท่าทีว่าต้องการควบคุมเงินเฟ้อ (โดยถึงแม้ว่าแรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐฯในขณะนี้ จะยังคงไม่น่าวิตก ดังจะเห็นได้จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในหมวดการใช้จ่ายเพื่อการบริโภค หรือ Core PCE Price Index ที่ปรับขึ้นเพิ่มเพียง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า ติดต่อกันมา 4 เดือนแล้ว โดยอยู่ที่ 1.5% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่อัตราดอกเบี้ย fed funds ของสหรัฐฯก็ถือได้ว่ายังคงอยู่ในระดับที่ต่ำเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือ Headline CPI inflation ซึ่งตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 3.5%) ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด น่าจะยังคงสามารถทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น หรือ Fed Funds Rate ต่อไปได้อีกในปี 2548 โดยเฟดน่าที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ทั้งในการประชุมในเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม ที่จะถึงนี้ ครั้งละ 0.25% ในขณะเดียวกัน Fed Fund Futures ก็ได้สะท้อนการคาดการณ์ว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds อาจขยับขึ้นเป็น 3.0% ในเดือนพฤษภาคม ด้วยความเป็นไปได้ถึงประมาณ 84% ทำให้โดยรวมแล้ว คาดว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ณ ปลายปี 2548 ไม่น่าที่จะต่ำกว่าระดับ 3.50% โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ยดังกล่าว น่าที่จะอยู่ที่ 3.75-4.00%

แน่นอนว่า แนวโน้มการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯดังกล่าว จะทำให้เกิดประเด็นตามมา ก็คือค่าผลต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของสหรัฐฯกับอัตราดอกเบี้ยของญี่ปุ่นและกลุ่มยูโร (ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อาจจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยสำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่นในปี 2548 นี้ ในขณะที่อาจจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นโดย ECB ไม่เกิน 0.5% สำหรับกลุ่มยูโร) ซึ่งน่าที่จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญแก่ค่าเงินดอลลาร์ฯ แม้ว่าค่าเงินดอลลาร์ฯจะยังคงเผชิญกับแรงกดดันจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯก็ตาม ในขณะเดียวกัน การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของสหรัฐฯนั้น ก็อาจจะส่งผลกดดันต่อการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นกัน แต่ทั้งนี้ย่อมขึ้นอยู่กับว่าตัวเลขเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะออกมาเป็นเช่นไรด้วย โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ณ ปลายปี 2548 อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะเวลา 14 วัน (R/P 14 days) ของธนาคารแห่งประเทศไทย น่าที่จะขึ้นไปที่ระดับ 2.75-3.00% จากระดับ 2.00% ณ ปลายปี 2547 ที่ผ่านมา