10 มกราคม 2548 – สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ร่วมกับ 26 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ เปิดตัวโครงการภาคีบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก หวังสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่เป็นคลังสมองชาติ ช่วยพัฒนาวงการศึกษาไทย พร้อมยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ
ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว.ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยขาดแคลนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ซึ่งไม่เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งบัณฑิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เนื่องจากการผลิตบัณทิตในสาขาวิทยาศาสตร์นั้นประสบปัญหาจำนวนบุคลากรในการให้คำแนะนำหรือคำปรึกษา และเครื่องมือในการทดลองวิเคราะห์ทดสอบ ไม่เพียงพอต่อความต้องการ รวมทั้งปัญหาค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบสูงในกรณีที่ไม่ได้รับทุน ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว วว. จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษา 26 แห่งทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ริเริ่มโครงการภาคีบัณฑิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก เพื่อสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของภาคการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีระยะเวลาโครงการ 3 ปี ทั้งนี้ในปีแรกตั้งเป้าหมายผลิตบัณฑิตในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกให้ได้จำนวน 20 คน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผลสำเร็จจากการดำเนินโครงการสร้างภาคีบัณฑิตระหว่าง วว.กับสถาบันการศึกษาทั้ง 26 สถาบันทั่วภูมิภาคในครั้งนี้ จะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดของภาคอุตสาหกรรมและประเทศไทยในที่สุด
“…ตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา วว.ได้ใช้ประสบการณ์ในการวิจัย และความรู้ความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา อาทิ สาขาสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ จุลินทรีย์ อาหาร วิศวกรรม และเซรามิกยุคใหม่ รับนักศึกษาเข้ามาทำวิทยานิพนธ์และมีนักวิชาการเฉพาะสาขาเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศร่วมศึกษาวิจัยและทำวิทยานิพนธ์จนสำเร็จการศึกษาแล้วกว่า 100 คน ซึ่งโครงการภาคีบัณฑิตฯ จะช่วยให้การทำงานของ วว.และสถาบันการศึกษาต่างๆ มีกรอบและหลักเกณฑ์การดำเนินการที่ชัดเจน รวมทั้งสามารถขยายผลได้ในวงกว้าง นับเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่เข้มแข็งและเป็นมิติใหม่ให้กับวงการวิทยาศาสตร์และการศึกษาของไทย…” ดร.นงลักษณ์ ปานเกิดดี ผู้ว่าการ วว.กล่าว
น.ส.สุมาลัย ศรีกำไลทอง รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สำหรับกรอบแนวทางของความร่วมมือในโครงการภาคีบัณฑิตฯ วว.จะร่วมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม กำกับดูแลให้คำปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ แนะนำการทำงานวิจัยอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล รวมทั้งการใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อเรียนรู้และทำงานวิจัย เพื่อผลิตและพัฒนาบัณฑิตในระดับปริญญาโทและเอก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการแลกเปลี่ยนนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน ตลอดจนร่วมกันจัดสัมมนาและเผยแพร่ผลงานโครงการภายใต้เครือข่ายการสร้างภาคีบัณฑิต
สำหรับสาขาวิจัยที่ วว.พร้อมจะรับนิสิต/นักศึกษาเข้าร่วมทำวิทยานิพนธ์ คือ สาขาเทคโนโลยีอาหาร สาขาเภสัชและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ สาขาเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว สาขาเทคโนโลยีการเกษตร สาขาชีววิทยา สาขาเทคโนโลยีชีวภาพ สาขาจุลชีววิทยา สาขาสิ่งแวดล้อม นิเวศวิทยาและพลังงาน สาขาเทคโนโลยีวัสดุ (เซรามิกยุคใหม่และโพลิเมอร์) สาขาวิศวกรรม และสาขาบรรจุภัณฑ์ โดยนิสิต/นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถขอใบสมัครเข้าร่วมโครงการได้โดยตรงที่สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมในโครงการภาคีบัณฑิต ซึ่งมีรายนามดังต่อไปนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยรังสิต สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล และสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ทั้งนี้นิสิต/นักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถยื่นใบสมัครได้ที่ผู้ประสานงานของโครงการของแต่ละสถาบัน ผู้ที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาเบื้องต้นจะต้องเข้ารับการสอบสัมภาษณ์จากผู้เชี่ยวชาญ วว.ในสาขาที่เกี่ยวข้อง วว.จะแจ้งผลการคัดเลือกเป็นรายบุคคลในเดือนมีนาคมของทุกปี
หรือติตต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ประสานงานโครงการการสร้างภาคีในการผลิตบัณฑิตระดับปริญญาโท-เอก ระหว่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยกับสถาบันการศึกษา เลขที่ 196 ถ.พหลโยธิน จตุจักร กรุงเทพฯ โทร. 0 2579 1121-30 ต่อ 1298 (ดร.มนตรี อัตถทิพพหลกุล) หรือ 2015 (ดร.สุเมธ ภูมิอภิรดี) หรือ 0 2577 9000 ต่อ 9155, 9156 (ดร.โศรดา วัลลภา) ในวันและเวลาราชการ