ในวันที่ 19 มกราคม 2548 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (Monetary Policy Committee: MPC) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการประชุมเป็นครั้งแรกในปีนี้เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินนโยบายการเงิน หรือทิศทางอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 14 วัน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.0% หลังจากที่ทางการไทยได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวแล้ว 3 ครั้งๆ ละ 0.25% ในปี 2547 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้ภาวะที่ธปท.ต้องพิจารณาปัจจัยมากมายในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทย การตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมรอบนี้คงจะขึ้นอยู่กับว่าธปท.มีความมั่นใจมากน้อยเพียงใดต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หรือธปท.จะให้น้ำหนักกับผลกระทบของเศรษฐกิจในระยะสั้นจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่ยังมีความไม่ชัดเจนในปัจจุบันมากเพียงไร โดยปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่คาดว่าจะอยู่ในการพิจารณาของธปท. คงจะได้แก่
ปัจจัยทางด้านต่างประเทศ
– ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงผันผวนในทิศทางที่ปรับขึ้น จากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่กลับมาเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางขาขึ้นในช่วงเดือนมกราคม 2548 หลังจากที่ได้ปรับลดลงไปในเดือนธันวาคม 2547 (โดยล่าสุด ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 45.10 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในวันที่ 17 มกราคม เทียบกับที่ลดลงไปต่ำสุดที่ 36.19 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรลในช่วงกลางเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา) คาดว่าจะมีผลกระทบต่อแนวโน้มการปรับตัวของราคาน้ำมันภายในประเทศผ่านภาระต้นทุนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาที่ระดับราคาสินค้าทั่วไปและทิศทางอัตราเงินเฟ้อในประเทศให้มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมื่อรวมกับผลจากภาวะแห้งแล้ง การขาดแคลนวัตถุดิบ และการเพิ่มเพดาน/ยกเลิกการตรึงราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในช่วงครึ่งแรกของปีของรัฐบาลแล้ว แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจปรับตัวเร่งขึ้นในช่วงไตรมาส 2 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 3 ของปีนี้
– อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่มีแนวโน้มขยับขึ้นในอัตราที่ก้าวกระโดด จากแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง และทิศทางอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระดับที่ควบคุมได้ ตลอดจนท่าทีในเชิงบวกต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯจากเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐฯหลายท่าน ทำให้เริ่มจะมีการคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟดอาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) ในทิศทางที่ก้าวกระโดดมากขึ้น จากเดิมที่คาดว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดน่าจะเป็นไปในลักษณะที่ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯอาจขยับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 3.75-4.0% ณ ปลายปี 2548 จากระดับ 2.25% ในปัจจุบัน ซึ่งผลต่างในระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อาจมีผลต่อฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิของประเทศ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่คาดว่าจะมีผลต่อการตัดสินใจของธปท.
จากปัจจัยทางด้านต่างประเทศดังกล่าว ทั้งราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มผันผวนในทิศทางที่ปรับขึ้น และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่อาจขยับขึ้นในทิศทางที่ก้าวกระโดด ล้วนมีผลสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.เป็นไปในลักษณะที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในระยะข้างหน้า อย่างไรก็ตาม การที่เงินดอลลาร์สหรัฐฯยังคงมีแนวโน้มปรับตัวผันผวนในทิศทางที่อ่อนค่าลงจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกนอกประเทศของเอกชนไทยยังคงต้องขออนุญาตจากธปท. ก็คาดว่าจะช่วยพยุงฐานะเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในภูมิภาค รวมทั้งประเทศไทย ไม่ให้ถูกกระทบกระเทือนมากนักจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐฯ และทำให้การเดินหน้าเพิ่มความเข้มงวดของอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไปของธปท.สามารถทำได้อย่างไม่ลำบากนัก นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองว่า ปัจจัยทางด้านต่างประเทศเป็นสิ่งที่ธปท.ไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด ดังนั้น ธปท.จึงน่าจะมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศเป็นหลักมากกว่า โดยการตัดสินใจสำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19 มกราคม คงจะขึ้นอยู่กับ ความมั่นใจของธปท.ที่มีต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า หรือธปท.จะมีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในระยะใกล้ซึ่งถูกกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งผลกระทบของเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวยังไม่อาจประเมินออกมาได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน
ปัจจัยในประเทศ
– แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า จากการที่หลายฝ่ายยังมีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยอาจมีการขยายตัวมากกว่าร้อยละ 5.0 ได้ในปี 2548 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างแข็งแกร่งแม้ว่าจะชะลอตัวลงจากการคาดการณ์การขยายตัวที่ 6.2% ในปี 2547 ประกอบกับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าอาจเร่งตัวขึ้นมามีค่าเฉลี่ยเหนือ 3.0% ในปี 2548 เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 2.7% ในปี 2547 ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธปท.อย่างค่อยเป็นค่อยไปเข้าสู่ระดับปกติก็น่าจะเป็นสิ่งที่มีความสมเหตุสมผลสำหรับการรักษาเสถียรภาพของระดับราคาและอัตราเงินเฟ้อตามกรอบ Inflation Targeting และสำหรับทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่ในปัจจุบันยังมีค่าที่ติดลบอยู่
– ผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่ชัดเจนในระยะใกล้จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ แม้ว่าหลายฝ่ายจะมีการประเมินถึงผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่มีระดับไม่รุนแรงนักต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย แต่จากปัจจัยทางด้านข้อมูลที่ยังไม่ครบถ้วนในปัจจุบัน (ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคล่าสุดมีถึงเดือนพฤศจิกายน 2547) อาจทำให้ธปท.มีความยืดหยุ่นที่จะเลื่อนจังหวะเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไปเป็นการประชุม MPC ครั้งหน้าในวันที่ 3 มีนาคม 2548 เพื่อรอดูและประเมินสถานการณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นก่อนที่จะเดินหน้านโยบายอัตราดอกเบี้ยที่มีความเข้มงวดมากขึ้นสู่ระดับปกติในอนาคต
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ภายใต้ภาวะที่ธปท.ต้องพิจารณาปัจจัยแวดล้อมรอบด้านประกอบการตัดสินใจทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19 มกราคม 2548 นั้น ธปท.คงจะมีการให้น้ำหนักกับปัจจัยในประเทศเป็นหลัก แม้ว่าปัจจัยทางด้านต่างประเทศ ทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวผันผวนในทิศทางที่ปรับขึ้นและแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่อาจขยับขึ้นในทิศทางที่ก้าวกระโดด อาจจะสนับสนุนให้การดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธปท.เป็นไปในลักษณะที่เพิ่มความเข้มงวดมากขึ้นในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของธปท.ในวันที่ 19 มกราคม 2548 นี้ คงจะขึ้นอยู่กับ การประเมินแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าของธปท.ว่าจะสามารถรักษาระดับการเติบโตอย่างน้อยร้อยละ 5.0 ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่ โดยหากธปท.มีความเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถรักษาระดับการเติบโตที่แข็งแกร่งไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ธปท.ก็คงจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 14 วันอีก 0.25% จากระดับ 2.0% มาอยู่ที่ 2.25% แต่หากธปท.ต้องการที่จะรอดูและประเมินผลกระทบที่ชัดเจนต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในระยะใกล้จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิที่เกิดขึ้น ธปท.ก็มีความยืดหยุ่นที่จะสามารถระงับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ และเลื่อนจังหวะเวลาของการปรับขึ้นออกไปดำเนินในการประชุมครั้งหน้าในวันที่ 3 มีนาคม 2548 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนระยะ 14 วันในกรณีหลังนี้ก็คงจะยืนอยู่ที่ระดับเดิมคือ 2.0%