ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ราคาวัสดุก่อสร้างมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2547 ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นอีกร้อยละ 10.2 ต่อเนื่องจากปี 2546 ที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 7.7 โดยราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2547 นั้น ส่วนสำคัญเป็นผลสืบเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์เหล็กที่สูงขึ้นร้อยละ 32 ส่วนวัสดุก่อสร้างอื่นที่มีราคาสูงขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์จากไม้ ท่อพีวีซี คอนกรีตบล็อค อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น แต่โดยรวมยังได้รับผลดีจากวัสดุก่อสร้างหลักคือปูนซีเมนต์ที่มีราคาลดลง โดยส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้ผลิตสามารถบริหารต้นทุนได้ดีขึ้นจากประสิทธิภาพการใช้กำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น
ปัจจัยภายนอกประเทศนับตัวแปรสำคัญที่ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างในประเทศปรับตัวสูงขึ้นในปีที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกทะยานสูงขึ้นอย่างมากตามการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ซึ่งตามคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตสูงถึงร้อยละ 5 ในปี 2547 ซึ่งนับว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 27 ปี นับตั้งแต่ปี 2520 โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนในปีที่ผ่านมามีการเจริญเติบโตสูงถึงร้อยละ 9.5 สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งความต้องการในจีนถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ระดับราคาสินค้าวัตถุดิบต่างๆในโลกพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าน้ำมัน เหล็ก ทองแดง หรืออลูมิเนียม ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำเข้าสินแร่เหล็กและทองแดงรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ
การที่เศรษฐกิจจีนมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2547 มีการขยายตัวร้อยละ 9.5 สูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.1 แม้ว่าทางการจีนจะได้ใช้มาตรการต่างๆเพื่อชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจ เช่น การควบคุมสินเชื่อที่ให้แก่ภาคธุรกิจที่มีการขยายการลงทุนอย่างร้อนแรงเกินไป (เหล็ก อลูมิเนียม อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น) การเพิ่มระดับสำรองขั้นต่ำของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่มาตรการต่างๆกลับยังไม่ก่อผลชัดเจนในการแตะเบรคเศรษฐกิจจีน เพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจนำไปสู่การชะลอตัวอย่างรุนแรง (Hard-landing) ซึ่งอาจนำไปสู่ผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม สัญญาณการชะลอตัวของภาคการลงทุนในจีนได้แสดงให้เห็นในระดับหนึ่ง โดยการลงทุนในทรัพย์สินถาวรมีอัตราการขยายตัวร้อยละ 25.8 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2547 จากที่ขยายตัวสูงร้อยละ 43 ในช่วงไตรมาสแรกของปี
แม้มีสัญญาณการชะลอตัวลง แต่ความต้องการที่ยังคงขยายตัวสูงก็อาจเป็นแรงหนุนให้ระดับราคายังมีทิศทางปรับสูงขึ้นได้ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมเหล็ก ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาได้มีสถานการณ์ขาดแคลนเหล็กในญี่ปุ่น ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นต้องปรับแผนลดเป้าหมายการผลิตลง และมีแนวโน้มว่าในปีนี้ผู้ผลิตสินแร่เหล็กจะพิจารณาปรับราคาขึ้นอีกอย่างน้อยร้อยละ 40 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในจีน
ในด้านราคาน้ำมัน น้ำมันเป็นต้นทุนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงในอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างหลายประเภท เช่น แก้วและกระจก ปูนซีเมนต์ ซึ่งใช้พลังงานในกระบวนการผลิตสูงและมีต้นทุนค่าขนส่งสูง ในปีที่ 2547 โดยเฉลี่ยแล้วน้ำมันเบนซินปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 14.8 น้ำมันดีเซลสูงขึ้นร้อยละ 4 น้ำมันเตาปรับตัวลดลงร้อยละ 4.9 ซึ่งต้นทุนด้านน้ำมันในภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มาจากมันมันดีเซลและน้ำมันเตา ทำให้ผลกระทบต่ออุตสาหกรรมในช่วงปี 2547 ยังไม่สูงนัก แต่ในปี 2548 รัฐบาลมีแนวทางที่จะปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลในช่วงประมาณเดือนเมษายน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดีเซลมีการปรับขึ้นประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร ภายใต้สมมติฐานที่ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาน้ำมันดิบเบรนท์ในตลาดโลกคลายตัวลงมาอยู่ที่ประมาณ 38-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากระดับปัจจุบันที่เคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 43-46 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล (เนื่องจากแรงกดดันด้านความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว ความกังวลต่อความไม่สงบก่อนการเลือกตั้งในอิรัก และการที่โอเปคอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตลงในการประชุมในวันที่ 30 มกราคม ซึ่งความกังวลดังกล่าวน่าจะมีทิศทางผ่อนคลายลงหลังจากการเลือกตั้งผ่านพ้นไป ขณะที่โอเปคก็ตัดสินใจรักษากำลังการผลิตไว้ที่ระดับเดิม) ซึ่งคาดว่ารัฐบาลคงจะประกาศปรับราคาน้ำมันอย่างค่อยเป็นไปจนไปสู่ระดับราคาจริง ซึ่งโดยเฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันดีเซลอาจสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ผลจากราคาน้ำมันดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนของอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 0.4-1.0% นอกจากนี้ยังอาจมีต้นทุนอื่นๆที่เพิ่มสูงขึ้นตามแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อภายในประเทศ ขณะเดียวกันอุปสงค์ต่อวัสดุก่อสร้างในประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามวัฏจักรที่ขับเคลื่อนโดยการลงทุน แรงผลักดันจากทั้งด้านต้นทุนและด้านอุปสงค์เป็นเหตุผลที่อาจทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในปี 2548
อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างที่มีสัดส่วนต้นทุนน้ำมันสูง
ประเภทธุรกิจ สัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อปัจจัยการผลิตขั้นกลางทั้งหมด (%)
การผลิตแก้วและผลิตภัณฑ์แก้ว 15.4
การทำเหมืองหินและย่อยหิน 14.8
การผลิตซีเมนต์ 11.0
การผลิตผลิตภัณฑ์จากดินที่ใช้กับงานก่อสร้าง 9.3
โดยเฉลี่ยอุตสาหกรรมทุกประเภท 5.0
ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คำนวณจากตารางปัจจัยการผลิต
โดยสรุปแล้ว จากการวิเคราะห์ผลจากปัจจัยข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างในปี 2548 อาจยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่อัตราการเพิ่มขึ้นคงไม่รุนแรงเท่ากับในปี 2547 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2) โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 7.2 ซึ่งคาดการณ์ดังกล่าวอยู่ภายใต้สมมติฐานที่ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กยังคงปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 10 ขณะที่วัสดุก่อสร้างอื่นๆปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 3-5 โดยเศรษฐกิจจีนมีการเติบโตที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 8-8.5 และระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกหลังจากการประกาศลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลอ่อนตัวลงจากระดับปัจจุบันมากกว่าร้อยละ 10
อย่างไรก็ตาม แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสถานการณ์ราคาวัสดุก่อสร้างจะไม่รุนแรงเท่ากับปีที่ผ่านมา แต่ทิศทางความต้องการสินค้าในจีนและราคาน้ำมันในตลาดโลกยังคงเป็นตัวแปรสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะจะมีผลต่อทิศทางต้นทุนวัตถุดิบและราคาสินค้าในประเทศ ซึ่งถ้าราคาสูงมากเกินไปอาจส่งผลต่อภาวะการลงทุนในโครงการก่อสร้างในประเทศ รวมทั้งอาจกระทบความต้องการที่อยู่อาศัยของภาคครัวเรือนที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น