ในช่วงปี 2547 นั้น กลุ่มธุรกิจสื่อสารมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญคือ การจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. แล้วเสร็จในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2547 ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญมากต่อทิศทางการดำเนินกิจการโทรคมนาคมในประเทศไทยนับจากนี้ โดยจะมีทั้งหน้าที่ในการกำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมและกำหนดมาตรการให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในกิจการโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้ เป็นการเตรียมความพร้อมก่อนการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมภายใต้ข้อตกลงเงื่อนไขทางการค้ากับองค์การการค้าโลก หรือ WTO ในปี 2549 นี้ด้วย
แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปี 2547 จะมีความผันผวนเนื่องจากมีปัจจัยลบในหลายๆ ด้าน เช่น ความผันผวนของราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น สถานการณ์ในภาคใต้ และการเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ แต่สำหรับธุรกิจสื่อสารนั้นคาดว่าจะเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวน้อยกว่าในส่วนอื่นๆ และคาดว่าจะยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโน้มในปี 2548 นั้นบริการสื่อสารบางประเภทคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตนั้นคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีอัตราการขยายตัวในอันดับที่สูง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้สรุปประเด็นสำคัญไว้มีดังนี้
ปัจจัยที่มีผลต่อการทิศทางของธุรกิจสื่อสารในปี 2548
– คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. ซึ่งจัดตั้งขึ้นแล้วเสร็จในช่วงท้ายของปี 2547 ที่ผ่านมา บทบาทและขอบเขตหน้าที่ของกทช. ในฐานะองค์กรอิสระที่จะเข้ามากำหนดลักษณะและประเภทของกิจการโทรคมนาคม โครงสร้างค่าธรรมเนียม การออกใบอนุญาต ฯลฯ ซึ่งในขณะที่ กทช. อยู่ในขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2548 และในปี 2548 นั้น จะมีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับผู้ให้บริการสื่อสารบางรายที่หมดสัญญาสัมปทานกับหน่วยงานที่ให้สัมปทานเดิม ซึ่งใบอนุญาตที่คาดว่าจะได้รับการพิจารณาก่อนนั้นคงจะเป็นใบอนุญาตสำหรับการให้บริการอินเทอร์เน็ต นอกจากนี้จะยังมีการพิจารณานำเอาการคิดค่าเชื่อมโยงโครงข่ายมาใช้ (interconnection charge) อีกด้วย
– การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ กระบวนการในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจโทรซึ่งได้แก่หน่วยงานรัฐ 2 แห่ง คือ กสท. และ ทศท. ซึ่งต้องเปลี่ยนสภาพจากรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชน และเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และการเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้กำกับดูแล (regulator) มาเป็นผู้ให้บริการ (operator) แข่งขันการให้บริการเท่าเทียมกันของผู้ให้บริการกิจการโทรคมนาคมทุกแห่ง ซึ่งตามแผนการแปรรูปนั้นคาดว่าในปี 2548 กสท. และ ทศท. จะเริ่มเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อการขยายกิจการและสร้างบริการการสื่อสารรูปแบบใหม่ และเข้าแข่งขันให้บริการในลักษณะบริษัทเอกชนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการแข่งขันของตลาดให้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
– โครงการขยายเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน 565,500 เลขหมาย มูลค่า 8,045 ล้านบาท หลังจากที่โครงการประมูลหาผู้ประกอบการที่จะเข้ามาเป็นผู้วางโครงข่ายมีความล่าช้ามากว่า 1 ปี และได้คัดเลือก บริษัท ซีเมนส์จากประเทศเยอรมนีมาเป็นผู้วางโครงข่ายหลังจากชนะการประมูลด้วยการเสนอราคาที่ 7,509 ล้าน อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อความโปร่งใสของโครงการ ซึ่งโครงการโทรศัพท์พื้นฐาน 565,500 เลขหมายนั้นเพื่อบรรเทาความขาดแคลนเลขหมายในพื้นที่นครหลวง 74,670 เลขหมาย และในภูมิภาค 490,830 เลขหมาย ซึ่งหากได้รับการอนุมัติแล้วจะช่วยขยายพื้นที่การให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานได้เพิ่มขึ้น
– โครงการขยายเครือข่ายซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาค ซึ่งได้ผู้ชนะในการประมูลเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา โดยบริษัทหัวเหว่ย ประมูลได้ในราคา 7,199 ล้านบาท หลังจากที่ใช้ระยะเวลามาระยะหนึ่งในการสรรหาผู้ที่จะมาขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบซีดีเอ็มเอในส่วนภูมิภาคที่เหลืออีก 51 จังหวัด เพิ่มเติมจากที่เปิดให้บริการอยู่ในขณะนี้ภายใต้ ชื่อบริการ ฮัทช์ ในพื้นที่กรุงเทพและภาคกลางรวม 25 จังหวัด ซึ่งการขยายเครือข่ายโทรศัพท์ซีดีเอ็มเอทั่วประเทศนั้นจะส่งผลกระทบต่อตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีความเคลื่อนไหวหรือภาวะการแข่งขันของตลาดรุนแรงขึ้น เนื่องจากผู้ใช้บริการมีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางเลือกที่จะใช้บริการทางด้านข้อมูล หรือ บริการเสริมที่มีความรวดเร็วหรือการถ่ายโอนข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นและเป็นการผลักดันให้เป็นการให้เข้าสู่ยุคที่ 3 ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ (3rd Generation) อย่างไรก็ตามแม้ว่าแผนการงานวางโครงข่ายจะแล้วเสร็จในช่วงปลายปีและจะสามารถให้บริการได้ในปี 2549 แต่ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ให้บริการรายเดิมต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
แนวโน้มของบริการสื่อสารในปี 2548
1. โทรศัพท์พื้นฐาน :
หมายเลขโทรศัพท์พื้นฐานจากผู้ให้บริการทั้ง 3 ราย คือ ทศท. , ทรู (เทเลคอมเอเชีย) และ ทีทีแอนด์ที ในปี 2547 นั้นขยายตัวเพิ่มขึ้นไม่มากนัก โดยตัวเลขการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานของทั้งประเทศ ในปี 2547 มีจำนวน 6.7 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 2.2 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.6 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ การขยายตัวของจำนวนโทรศัพท์พื้นฐานที่มีไม่มากนักแม้ว่าจะได้รับผลดีจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวขึ้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ แต่ส่วนหนึ่งก็ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของโทรศัพท์เคลื่อนที่และการปรับลดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่จนมีอัตราที่ต่ำกว่าการให้บริการโทรศัพท์พื้นฐานค่อนข้างมากและมีการใช้งานที่สะดวก แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาจะมีการปรับลดอัตราค่าบริการด้วยการนำระบบโทรทางไกลราคาประหยัดหรือวายเทล 1234 มาใช้ แต่ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการใช้บริการและเพิ่มจำนวนหมายเลขได้มากนัก อย่างไรก็ตามโทรศัพท์พื้นฐานนั้นยังคงมีความจำเป็นและคาดว่าจะมีการเติบโตต่อไปได้โดยเน้นการให้บริการที่ต่อเนื่องจากการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งโทรศัพท์พื้นฐานนั้นยังเป็นช่องทางการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตที่มีต้นทุนค่าเชื่อมต่อที่ต่ำที่สุด
สำหรับแนวโน้มในปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานจะยังคงมีการขยายตัวในระดับต่ำประมาณร้อยละ 2-3% จากปี 2547 โดยมีจำนวนเลขหมายทั้งหมด 7 ล้านเลขหมาย ทั้งนี้เนื่องจากการขยายตัวของโทรศัพท์เคลื่อนที่จะยังคงมีบทบาทที่สำคัญในขณะเดียวกันการขยายโครงข่ายของโทรศัพท์พื้นฐานนั้นยังทำได้ค่อนข้างจำกัด และยังคงมีต้นทุนในการขยายเครือข่ายค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในส่วนของผู้ให้บริการนั้น ภายหลังการจัดตั้ง กทช. หากมีการแปรสัญญาสัมปทานของทั้ง ทีทีแอนด์ที และ ทรู แล้ว คาดว่าจะส่งผลให้การดำเนินธุรกิจของผู้ให้บริการทั้ง 3 รายมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น บริการโทรศัพท์พื้นฐานจะมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น รูปแบบของบริการมีการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะบริการที่ต่อเนื่องจากโทรศัพท์พื้นฐาน เช่น บริการอินเทอร์เน็ตที่จะพัฒนาไปสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมทั้งบริการที่ต้องแข่งขันกับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ต่อเลขหมาย
2. โทรศัพท์เคลื่อนที่ :
จำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงปี 2545 โดยมีอัตราการขยายตัวถึงร้อยละ 133 เนื่องมาจากการปลดล็อกรหัสประจำเครื่อง (EMIE) ทำให้ดูเหมือนว่าตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ชะลอตัวลงในช่วงปี 2546 และ ต่อเนื่องถึงปี 2547 แต่หากพิจารณาจำนวนเลขหมายใหม่ที่ขยายตัวขึ้นแล้ว พบว่า ในปี 2547 จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในปี 2547 นี้จะมีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมประมาณ 27.5 ล้านเลขหมาย คิดเป็นอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ 24 จากปี 2546 และในปี 2548 นั้น คาดว่าจะมีจำนวนเลขหมายที่เปิดใช้เพิ่มขึ้นเป็น 32 ล้านเลขหมาย หรือขยายตัวประมาณร้อยละ 16 โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 52 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ แม้ว่าจำนวนเลขหมายที่เพิ่มขึ้นจะอยู่ในอัตราที่ลดลงแต่หากเปรียบเทียบกับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศแล้ว บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ยังมีอัตราการขยายตัวที่สูงกว่า โดยที่แนวโน้มของตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งด้านบริการเลขหมาย และเครื่องลูกข่ายมีดังนี้
– ตลาดให้บริการเลขหมาย
ในปี 2548 นั้น จำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ขยายตัวลดลงนั้น จะส่งผลให้ภาวะการแข่งขันของตลาดมีความเข้มข้นขึ้น การปรับโปรโมชั่นเพื่อดึงดูดผู้ใช้บริการใหม่และการรักษาฐานลูกค้าเดิมนั้นจะยังคงรุนแรงต่อเนื่องจากปี 2547 โดยที่มีผู้ให้บริการบางรายปรับอัตราค่าโทรศัพท์ระบบพรีเพดลงเหลือนาทีละ 1 บาท (สำหรับบางช่วงเวลา เช่น เวลา 23.00-17.00 ในขณะที่เวลา 17.00-23.00 คิดค่าบริการในอัตราปกติ) ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการกระตุ้นตลาดให้คึกคักเพิ่มขึ้น โดยผู้ใช้บริการในระบบพรีเพดนั้นมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 82 ของจำนวนเลขหมายที่เปิดให้บริการทั้งหมด ในภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นนั้น ทำให้ผู้ให้บริการจำเป็นต้องสร้างแหล่งรายได้ใหม่ ซึ่งได้แก่ บริการเสริมประเภทต่างๆ ที่สามารถสร้างรายได้ต่อหมายเลขให้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
โดยที่บริการทางบันเทิงยังเป็นบริการที่ได้รับความนิยมมาก โดยเฉพาะบริการส่งข้อความสั้น ซึ่งได้รับการพัฒนาไปหลากหลายรูปแบบ ทั้งการร่วมส่งเอสเอ็มเอสตอบคำถามชิงรางวัล การร่วมสนุกกับรายการโทรทัศน์ การรับข้อมูลผ่านเอสเอ็มเอส เป็นต้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ตลาดให้บริการเสริมโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นจะมีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 16,000 ล้านบาท ในปี 2547 และเพิ่มขึ้นเป็น 20,000 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตามในปี 2548 นั้น การดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีภาพของการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของ กทช. ในประเด็นที่เกี่ยวกับการแปรสัญญาสัมปทาน การกำหนดค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Interconnection charge) จะทำให้รายได้ของผู้ให้บริการมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้การดำเนินธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปี 2548 นั้น จะมีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างธุรกิจมากขึ้นเพื่อรองรับการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปี 2549 และการอนุญาตให้มีผู้ประกอบการใหม่เข้าสู่ตลาด ซึ่งจะทำให้ภาวะการแข่งขันการให้บริการเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำลง การเคลื่อนย้ายของกลุ่มทุนจากต่างประเทศจะเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางของตลาดโดยเฉพาะการเข้ามาในลักษณะร่วมทุนกับผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะมีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้ในการให้บริการ และแนวโน้มของการแข่งขันจะเข้าสู่การแข่งขันทางด้านบริการมากกว่าการแข่งขันทางด้านราคา โดยเฉพาะทางด้านการผลิตเนื้อหา (content) ที่จะมีการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ที่เข้าสู่บริการเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น
– ตลาดเครื่องลูกข่าย
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเครื่องลูกข่ายมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้โทรศัพท์มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องลูกข่ายที่ใช้งานรวดเร็วขึ้นตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ในปี 2547 นั้น ความต้องการเครื่องลูกข่ายจอภาพสีและกล้องดิจิทัลเพื่อทดแทนเครื่องลูกข่ายจอภาพขาวดำแบบเดิมทำให้ยอดขายเครื่องลูกข่ายมีจำนวนถึง 7-8 ล้านเครื่อง มากกว่าจำนวนเลขหมายโทรศัพท์ที่เปิดใช้งานใหม่ ในขณะที่เครื่องลูกข่ายจอภาพขาวดำมีการนำมาลดราคาจำหน่ายเพื่อระบายสต๊อกของสินค้า ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงของตลาดเครื่องลูกข่ายเพิ่มขึ้นมากเนื่องจากมีจำนวนผู้ผลิตเพิ่มขึ้น ทั้งจากผู้ผลิตแบรนด์ระดับโลก ผู้ผลิตแบรนด์ขนาดเล็กจากจีน เกาหลี และไต้หวัน
นอกจากนี้ยังมีเครื่องเฮ้าส์แบรนด์ที่ผู้จำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ว่าจ้างผลิตและนำมาติดตราเป็นสินค้าจำหน่ายเอง ทั้งนี้เครื่องแบรนด์ระดับโลกนั้นได้วางจำหน่ายเครื่องที่มีราคาไม่สูงมากนักเพื่อแย่งส่วนแบ่งจากแบรนด์ขนาดเล็กและเฮ้าส์แบรนด์ ทำให้กำไรต่อเครื่องของผู้จำหน่ายปรับตัวลดลง ในขณะที่แบรนด์ขนาดเล็กและเฮ้าส์แบรนด์ที่จะสามารถแชร์ส่วนแบ่งตลาดได้นั้นจะต้องอาศัยราคาจำหน่ายที่ต่ำกว่าและการสร้างบริการเสริมเฉพาะกลุ่มรองรับ นอกเหนือไปจากบริการหลังการขายที่เป็นที่ยอมรับจึงจะสามารถอยู่รอดได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ายอดจำหน่ายเครื่องลูกข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีจำนวนประมาณ 6.5 ล้านเครื่อง ในปี 2548 ลดลงจากปี 2547 ประมาณร้อยละ 5-7 เนื่องจากจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะเข้าสู่ระบบใหม่มีจำนวนลดลงจากปีที่ผ่านมา ในขณะที่ในตลาดเครื่องทดแทนนั้นก็มีแนวโน้มของจำนวนเครื่องลดลงเช่นกัน
3. บริการอินเทอร์เน็ต
ปัจจุบันมีผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตหรือ ไอเอสพีเอกชน จำนวน 18 ราย ที่ได้รับสัมปทานการให้บริการจาก กสท. แต่ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการเพียง 5-6 รายเท่านั้นที่ยังดำเนินการทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากที่ผ่านมาไอเอสพีเอกชนบางรายต่างประสบกับปัญหาทางด้านสภาพคล่องทางการเงิน จำนวนผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยหลังจากเปิดให้เอกชนเข้ามาให้บริการนั้นแม้ว่าจะมีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดแต่ก็นับว่ายังมีอัตราที่ต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งประเทศและเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งนี้อุปสรรคสำคัญนั้นมาจากค่าบริการที่ยังอยู่ในอัตราที่สูง และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตทำได้ไม่สะดวกเนื่องจากการขาดแคลนเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นยังมีอยู่จำกัด
อย่าไรก็ตามหลังจากที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือกระทรวงไอซีที เปิดโครงการคอมพิวเตอร์ราคาประหยัดจำหน่ายให้กับประชาชนทั่วไป ทำให้ตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ขยายตัวมาก พร้อมทั้งการเปิดโครงการอินเทอร์เน็ตเอื้ออาทรหรืออินเทอร์เน็ตชั่วโมงละบาท การปรับลดค่าบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ลงเหลือค่าบริการรายเดือนต่ำสุดเพียง 590 บาท และการประกาศลดค่าเช่าวงจรต่างประเทศของ กสท. ที่ให้ไอเอสพีเช่าลงร้อยละ 25-30 นั้นจะเป็นการกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่า ในปี 2547 นั้น จำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจะมีจำนวนประมาณ 7 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 11 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในปี 2547 โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งในด้านค่าบริการที่ลดลง การใช้อินเทอร์เน็ตในองค์กรธุรกิจเพิ่มขึ้น และการสนับสนุนจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตในภาครัฐ ตามโครงการ e-government
สำหรับแนวโน้มของบริการอินเทอร์เน็ตในปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาวะการแข่งขันของตลาดให้บริการอินเทอร์เน็ตจะยังอยู่ในระดับสูง แม้ว่าจะมีแนวโน้มของการเติบโตของปริมาณการใช้งานที่เพิ่มขึ้นประมาณ 20% มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรวม 8.2 ล้านคน แต่ในด้านรายได้จากการให้บริการนั้นอาจมีการเติบโตไม่มากนัก เนื่องจากยังมีการแข่งขันทางด้านราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามภายหลังการปรับลดค่าเช่าวงจรอินเทอร์เน็ตของ กสท. ลงร้อยละ 25-30 อาจส่งผลให้การบริหารต้นทุนของไอเอสพีได้ดียิ่งขึ้น โดยจะช่วยให้ไอเอสพีสามารถทำกำไรได้เพิ่มขึ้นและช่วยพัฒนาคุณภาพของการให้บริการที่ดีขึ้นได้ และมีแนวโน้มของการเติบโตที่ก้าวไปสู่การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นบริการที่ได่รับความนิยมเพิ่มขึ้นเนื่องจากค่าบริการที่ลดต่ำลง
นอกจากนี้ยังมีผู้ให้บริการรายใหม่ที่จะเข้ามาเปิดให้บริการ หลังจากการจัดตั้ง กทช. และในปี 2548 นั้นจะมีผู้ให้บริการ 2-3 รายที่สัญญาการให้บริการเดิมจะหมดอายุลง อย่างไรก็ตาม บทบาทของอินเทอร์เน็ตจะเพิ่มสูงขึ้น และจะมีการต่อยอดของบริการไปสู่ระบบออนไลน์ทั้งของภาครัฐและเอกชน บริการที่เป็นรูปแบบของอี-คอมเมิร์ซที่เต็มรูปแบบ ในขณะที่ผู้ให้บริการเองจะเข้าสู่ภาวะการแข่งขันอย่างเต็มที่เช่นกันในภายหลังการเปิดเสรีกิจการโทรคมนาคมในปี 2549 แล้วจะมีผู้ให้บริการจากต่างประเทศสนใจที่จะเข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย เนื่องจากยังเล็งเห็นแนวโน้มการเติบโตของบริการอินเทอร์เน็ตที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องของไทย อย่างไรก็ตามในส่วนบทบาทหน้าที่ของ กทช. นั้นจะเป็นผู้กำหนดจำนวนผู้ให้บริการ อัตราค่าบริการและแนวโน้มของการแข่งขันที่จะมีขึ้นในอนาคต
สรุปและข้อคิดเห็น
ความเคลื่อนไหวของธุรกิจสื่อสารในปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า บริการสื่อสารบางประเภทคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลง เช่น บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ในขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตนั้นคาดว่าจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) มีอัตราการขยายตัวค่อยข้างสูง โดยได้รับปัจจัยบวกจากการปรับลดอัตราค่าบริการลงค่อนข้างมาก นอกจากนี้ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจยังได้รับผลต่อเนื่องมาจากการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ที่จะเข้ามามีบทบาทต่อการการกำหนดกฎระเบียบและการแข่งขันของธุรกิจ รวมถึงโครงการสื่อสารต่างๆ เช่น โครงการขยายเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนระบบซีดีเอ็มเอ ของ กสท. และ โครงการขยายเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐาน 5.6 แสนเลขหมาย จะทำให้เกิดการแข่งขันของตลาดเพิ่มขึ้น
สำหรับแนวโน้มของการใช้บริการในปี 2548 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อัตราการเติบโตของเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานจะอยู่ในอัตราเพียงร้อยละ 2.2 ในขณะที่โทรศัพท์เคลื่อนที่จะมีจำนวนผู้ใช้ขยายตัวขึ้นประมาณร้อยละ 16 และจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 โดยมูลค่าตลาดของธุรกิจสื่อสารนั้นจะมีมูลค่าประมาณ 2 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า การกระจุกตัวของการให้บริการสื่อสารนั้นยังคงอยู่ในบริเวณเขตกรุงเทพและปริมณฑลมากกว่าในบริเวณต่างจังหวัด โดยในเขตกรุงเทพและปริมณฑลนั้นมีสัดส่วนของโทรศัพท์พื้นฐานประร้อยละ 38.9 ของจำนวนประชากร ในขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดนั้นมีสัดส่วนของโทรศัพท์พื้นฐานประมาณร้อยละ 5.5 ของจำนวนประชากรเท่านั้น
สำหรับการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตนั้นในเขตกรุงเทพและปริมณฑลมีส่วนของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณร้อยละ 26.6 ของจำนวนประชากรและในเขตต่างจังหวัดนั้นมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตประมาณร้อยละ 9.7 ของจำนวนประชากร ทำให้การแข่งขันของธุรกิจสื่อสารนั้นจะมีแนวโน้มเข้าไปสู่ในระดับภูมิภาคเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นการขยายฐานผู้ใช้บริการให้เพิ่มขึ้น ในขณะที่ตลาดในเขตกรุงเทพนั้นยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการนำเสนอบริการใหม่ๆ ที่จะตอบสนองความต้องการหรือไลฟ์สไตร์ที่อาศัยเทคโนโลยีที่เข้ามาเพิ่มความสะดวกสบายให้กับชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น
สัดส่วนการใช้เทคโนโลยีและการสื่อสารของประชากรในปี 2547
ประเภทของเครื่องมือสื่อสาร / ร้อยละต่อประชากร เขตกรุงเทพและปริมณฑล / ต่างจังหวัด
โทรศัพท์เคลื่อนที่ / 47.8 / 24.6
โทรศัพท์พื้นฐาน 38.9 / 5.5
อินเทอร์เน็ต 26.6 / 9.7
ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ
* รวบรวมโดย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด