สงครามชิงเจ้าเวหา แอร์บัส-โบอิ้ง….ชี้ภาพอนาคตธุรกิจการบินโลก

การเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาของเครื่องบินแอร์บัสรุ่นA380 สะท้อนให้เห็นถึงการขับเคี่ยวชิงความเป็นเจ้าเวหาในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของสองบริษัทผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ บริษัทแอร์บัส(Airbus)ของยุโรป และบริษัทโบอิ้ง(Boeing)ของสหรัฐ เครื่องบินแอร์บัสรุ่นA380 ซึ่งมีสมญาว่า Super Jumbo นี้ เป็นผลงานการผลิตของบริษัทแอร์บัส อินดัสตรี อันเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง 4 ชาติใหญ่ในยุโรป คือ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน และอังกฤษ ที่ได้ใช้งบประมาณในการพัฒนาสูงถึงกว่าหนึ่งหมื่นล้านยูโรเป็นเวลาหลายปี

จุดเด่นของเครื่องบินรุ่นนี้คือความมหึมาที่สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากถึง 555 ที่นั่ง หรือมากกว่าโบอิ้ง 747 จัมโบเจ็ตที่จุได้ประมาณ 416 ที่นั่ง อยู่ถึงกว่าร้อยละ 30 อีกทั้งมีพิสัยบินได้ไกลถึง15,000 กม. นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายต่อผู้โดยสารหนึ่งคนต่อระยะทางหนึ่งไมล์ (cost per passenger per mile) ลงได้ถึงร้อยละ 15-20 เมื่อเทียบกับโบอิ้ง 747 คาดว่า A380 จะสามารถบินให้บริการได้ในปี 2006 นี้ และขณะนี้มีสายการบินต่างๆทั่วโลกรวม 14 สายการบินได้แสดงความจำนงสั่งซื้อแล้วรวม 149 ลำ ซึ่งบริษัทแอร์บัสคาดว่าจะสามารถทำยอดขายเครื่องบินรุ่นนี้ได้กว่า 1,650 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลากว่า 30 ปีที่ผ่านมา บริษัทโบอิ้งของสหรัฐถือได้ว่าเป็นเจ้าเวหาในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์ของโลกและมีชัยเหนือบริษัทแอร์บัสของยุโรปมาตลอด โดยสามารถครองส่วนแบ่งตลาดเกินร้อยละ 50 เสมอมา จวบจนกระทั่งเกิดวิกฤติธุรกิจสายการบินในช่วงระหว่างปี 2001-2003 อันมีสาเหตุมาจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนที่อาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ติดตามมาด้วยสงครามอิรัก-สหรัฐและการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งทั้งหมดได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจสายการบินทั่วโลกโดยเฉพาะสายการบินในสหรัฐ และกระทบต่อเนื่องมายังอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทโบอิ้งของสหรัฐ ทำให้ยอดจำหน่ายหรือยอดส่งมอบเครื่องบินของโบอิ้งที่เคยมีปริมาณสูงสุดถึง 620 ลำในปี 1999 กลับตกฮวบลง จนเหลือเพียง 281 ลำและ 285 ลำในปี 2003 และ 2004 ตามลำดับ

ในขณะที่บริษัทแอร์บัสแม้จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติธุรกิจการบินเช่นกัน แต่ก็น้อยกว่ากรณีของบริษัทโบอิ้งที่ลูกค้าจำนวนมากเป็นสายการบินในสหรัฐซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤติรุนแรงที่สุด ทั้งนี้ยอดส่งมอบเครื่องบินของแอร์บัสค่อนข้างทรงตัวในช่วงเวลาดังกล่าว โดยมียอดส่งมอบจำนวน 305 ลำ ในปี 2003 และ 320 ลำในปี 2004 (ดูตารางประกอบ) ซึ่งทั้งสองปีแอร์บัสสามารถแซงหน้าโบอิ้งได้สำเร็จหลังจากตกเป็นรองมาตลอด 3 ทศวรรษ และขณะนี้จากการที่ภาวะธุรกิจการบินของโลกกำลังมีการฟื้นตัวอย่างช้าๆตั้งแต่ปี 2004 ที่ผ่านมา ทำให้อุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์เริ่มกลับมาคึกคักอีก

รวมทั้งการขับเคี่ยวแข่งขันกันระหว่างบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินรายใหญ่ทั้งสอง ทั้งนี้ในขณะที่แอร์บัสได้พัฒนาเครื่องบินขนาดยักษ์ A380 จนสำเร็จและเพิ่งจะเปิดตัวไปดังกล่าว ทว่าบริษัทโบอิ้งกลับกำลังมุ่งพัฒนาเครื่องบินขนาดกลางรุ่นใหม่ที่มีชื่อว่า 7E7 Dreamliner ซึ่งจุผู้โดยสารได้ประมาณ 250 ที่นั่ง มีรูปลักษณ์เพรียวลมล้ำสมัย มีสมรรถนะสูงสามารถทำความาเร็วได้ถึง 850 กม.ต่อชั่วโมง และที่สำคัญคือสามารถประหยัดเชื้อเพลิงได้ถึงร้อยละ20 เทียบกับเครื่องบินขนาดเดียวกันในปัจจุบัน ทำให้สามารถบินได้ระยะทางไกลๆ คาดว่าเครื่องบินรุ่นนี้จะออกมาให้บริการได้ประมาณปี 2008

เปรียบเทียบยอดส่งมอบเครื่องบินของแอร์บัสและโบอิ้ง
(จำนวนลำ)
ปี 1999
ปี 2000 ปี 2001 ปี 2002 ปี 2003 ปี 2004
แอร์บัส 300 310 325 303 305 320
โบอิ้ง 620 491 527 381 281 285
รวม 920 801 852 684 586 605
หมายเหตุ : ยอดส่งมอบของแอร์บัสเริ่มสูงกว่าของโบอิ้งตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา
ที่มา The Boeing Company, Airbus Industrie, The Economist

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการขับเคี่ยวชิงกันเป็นเจ้าเวหาในอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์ระหว่างแอร์บัสและโบอิ้งในขณะนี้เป็นประเด็นที่น่าติดตามมาก เนื่องจากแผนการพัฒนารูปแบบอากาศยานเพื่อการพาณิชย์ที่แตกต่างกันของผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ทั้งสอง ย่อมสะท้อนถึงมุมมองที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ระหว่างผู้ผลิตทั้งสองต่อภาพอนาคตธุรกิจการบินของโลก ดังนี้คือ :

ในกรณีของบริษัทแอร์บัสนั้นเชื่อว่า เนื่องจากแนวโน้มจำนวนผู้เดินทางโดยทางอากาศที่จะเติบโตอย่างมาก ดังนั้นการเดินทางโดยเครื่องบินกำลังจะกลายเป็นการขนส่งมวลชน (Mass Transit) และในอนาคตสนามบินในเมืองใหญ่ๆทั่วโลกจะทวีความแออัดมาก ทั้งนี้เราจะเห็นแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสายการบิน ที่ควบคู่ไปกับการพัฒนาศูนย์กลางการบินหรือฮับ(Hub)ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมไปถึงการปรับปรุงขยายสนามบินในประเทศต่างๆ เพื่อรองรับจำนวนผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มเป็นทวีคูณ ดังนั้นธุรกิจสายการบินจะมีความต้องการใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถบรรทุกและขนส่งผู้โดยสารได้คราวละมากๆ

บริษัทแอร์บัสเชื่อว่าการเดินทางทางอากาศในอนาคตส่วนใหญ่จะเน้นการเดินทางจากเมืองหลักสู่เมืองหลักที่เป็นศูนย์กลางการบิน(Hub-to-Hub) โดยผู้โดยสารที่เดินทางมาถึงเมืองหลักจะแยกย้ายกันเดินทางต่อไปยังเมืองระดับรองที่เป็นจุดหมายปลายทาง โดยอาจเป็นทางรถยนต์ ทางรถไฟหรือแม้แต่การใช้บริการเครื่องบินเที่ยวรอง ซึ่งรูปแบบการเดินทางเช่นนี้เรียกว่า Hub-and-Spoke Model

นอกจากนี้ในอนาคตการเดินทางติดต่อไปมาหาสู่กันโดยใช้บริการทางอากาศจะเป็นเรื่องปกติและเป็นกิจวัตรที่ผู้คนกระทำเป็นประจำ ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความแออัดของผู้ใช้บริการสายการบินตามสนามบินใหญ่ๆที่เป็นฮับการบิน ดังนั้นการมีเครื่องบินขนาดใหญ่ที่สามารถขนผู้โดยสารออกจากสนามบินได้คราวละ 500-600 คน ย่อมจะช่วยประหยัดทั้งเวลาขึ้นลงของเครื่องบินและการใช้พื้นที่บนลานบิน ตลอดจนการใช้บริการของหอบังคับการบินได้ดีกว่าการใช้เครื่องบินขนาดกลาง-เล็กจำนวน 3-4 ลำ เพราะฉะนั้นบริษัทแอร์บัสจึงเชื่อว่าเครื่องบินขนาดใหญ่อย่าง A380 จะสามารถสนองตอบแนวโน้มธุรกิจสายการบินในอนาคตได้ดีกว่า

ในทางตรงข้าม บริษัทโบอิ้งกลับมีมุมมองที่แตกต่างไปจากของบริษัทแอร์บัส กล่าวคือบริษัทโบอิ้งเห็นว่ารูปแบบการเดินทางในอนาคตจะเป็นในลักษณะรับส่งตรงถึงที่(Direct Point-to-Point)มากกว่า โดยเชื่อว่าผู้เดินทางจะต้องการบริการที่รวดเร็วและตรงสู่จุดหมายปลายทาง ดังนั้นสายการบินต่างๆจะจัดให้มีเที่ยวบินที่หลากหลายเพื่อให้บริการสนองความต้องการของผู้เดินทางไปยังจุดหมายต่างๆ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

ซึ่งรูปแบบการให้บริการแบบ Hub-and-Spoke Model ที่ขนผู้โดยสารจำนวนมากๆไปลงในเมืองใหญ่ๆที่เป็นฮับ ก่อนที่ผู้โดยสารจะแยกย้ายกระจายกันเดินทางไปสู่จุดหมายปลายทางของตนนั้น เป็นรูปแบบการเดินทางที่สิ้นเปลืองเวลา และไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของผู้คนในทศวรรษข้างหน้าที่ปัจจัยด้านเวลาและความรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ดังนั้นบริษัทโบอิ้งจึงมุ่งที่จะพัฒนาอากาศยานขนาดกลางที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว ประหยัดเชื้อเพลิง และสามารถบินได้ระยะทางไกลๆตรงสู่จุดหมาย(Direct Long Haul)โดยไม่จำเป็นต้องแวะจอดระหว่างทาง อีกทั้งโบอิ้งเชื่อว่าในอนาคตนั้น แนวโน้มการเปิดเสรีทางการบินในประเทศต่างๆทั่วโลก จะทำให้มีการพัฒนาสนามบินในเมืองต่างๆมากขึ้น

โดยเฉพาะสนามบินในเมืองระดับรองๆที่จะเพิ่มจำนวนมากขึ้นและจะกลายเป็นสนามบินนานาชาติมากขึ้น ทำให้การเดินทางด้วยเครื่องบินไปสู่เมืองต่างๆ จะกระทำได้ง่ายขึ้น สายการบินต่างๆ จะเปิดเที่ยวบินไปสู่จุดหมายปลายทางใหม่ๆที่ในอดีตไม่เคยมี ซึ่งเครื่องบินที่มีความคล่องตัว มีความเร็วสูง และประหยัดเชื้อเพลิง จึงจะตอบสนองแนวโน้มดังกล่าวได้ดี

ในขณะที่เครื่องบินขนาดมหึมาอย่าง A380 ของแอร์บัสจะใหญ่เกินกว่าที่สนามบินส่วนใหญ่โดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินระดับรองๆจะรองรับได้ โดยคาดว่าในช่วง 4-5 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนสนามบินทั่วโลกไม่เกิน 30 แห่งที่จะใหญ่พอสำหรับ A380 ดังนั้นบริษัทโบอิ้งจึงเชื่อว่าตลาดของ A380 จะมีจำกัด และจะมียอดจำหน่ายไม่เกิน 400 ลำในช่วง 20 ปีข้างหน้า ด้วยวิสัยทัศน์ในการมองภาพอนาคตของธุรกิจการบินที่แตกต่างไปจากบริษัทแอร์บัสนี่เอง บริษัทโบอิ้งจึงมุ่งพัฒนาเครื่องบิน7E7 Dreamliner โดยเชื่อว่าเครื่องบินแบบนี้จะตอบสนองผู้เดินทางส่วนใหญ่ในอนาคตที่จะต้องการเดินทางสู่จุดหมายปลายทางโดยตรง มากกว่าที่จะเดินทางไปกระจุกตัวในสนามบินที่เป็นฮับ

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้แอร์บัสจะได้พัฒนาและผลิตเครื่องบินขนาดยักษ์ A380 ขึ้นมาแล้วสำเร็จ ในขณะที่โบอิ้งก็กำลังมุ่งพัฒนาเครื่องบินขนาดกลางสมรรถนะสูงอย่าง 7E7 Dreamliner เพราะต่างก็เชื่อมั่นในวิสัยทัศน์ในธุรกิจการบินของตนดังกล่าวข้างต้น แต่ทั้งสองบริษัทก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาเครื่องบินแบบอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทแอร์บัสที่กำลังจะพัฒนาเครื่องบินขนาดกลางสมรรถนะสูงและมีความประหยัด เรียกว่ารุ่น A350 เพื่อจะมาแข่งขันโดยตรงกับ Dreamliner ของโบอิ้งในอนาคต

ขณะเดียวกันก็มีกระแสข่าวว่าบริษัทโบอิ้งอาจจะหันมาพัฒนาปรับปรุงเครื่องบินจัมโบเจ็ต 747 รุ่นใหม่ขึ้นมาก็ได้ หากแนวโน้มความนิยมเครื่องบินรุ่น A380 ของแอร์บัสจากสายการบินต่างๆได้รับการตอบรับมากเกินคาด ซึ่งโบอิ้งก็คงไม่ปิดโอกาสตัวเองในการกลับเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดเครื่องบินรุ่นยักษ์ ที่โบอิ้งเองก็เคยครองเป็นเจ้าอยู่นานถึง 35 ปีนับตั้งแต่ปี 1970 ที่จัมโบเจ็ต 747 เริ่มออกมาให้บริการ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายถูกหรือฝ่ายผิดมากกว่ากันระหว่างแนวความคิดของบริษัทแอร์บัสและบริษัทโบอิ้ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็เชื่อว่าวิสัยทัศน์ในการมองภาพธุรกิจการบินของทั้งสองบริษัทต่างก็มีส่วนถูกด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้ในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการทางอากาศในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างมากจนทำให้การเดินทางโดยเครื่องบินกลายเป็นการขนส่งมวลชน แต่ในขณะเดียวกันการเดินทางโดยเครื่องบินก็จะมีจุดหมายปลายทางที่หลากหลายมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้นสายการบินต่างๆจำเป็นจะต้องมีอากาศยานแบบต่างๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป

นอกจากนั้น ในขณะที่ประเทศต่างๆจะมีการพัฒนาสนามบินหลักของตนให้เป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินกันมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็จะมีการพัฒนาสนามบินระดับรองในเมืองต่างๆควบคู่กันไป อีกทั้งแนวโน้มการเปิดเสรีทางการบินที่กำลังขยายตัวไปทั่วโลกจะยิ่งทำให้ภาพของธุรกิจการบินในอนาคตมีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่าบริษัทผู้ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ยักษ์ใหญ่ของโลกทั้งสอง อย่างแอร์บัสและโบอิ้งต่างก็พร้อมที่จะเติบโตไปกับแนวโน้มธุรกิจการบินแห่งโลกอนาคต

นอกจากนั้น สมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association : IATA) รวมทั้งบริษัทโบอิ้งเองยังได้คาดการณ์ว่า ธุรกิจการบินพาณิชย์ของโลกจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า โดยคาดว่าภายในปี 2023 ธุรกิจสายการบินโดยสารจะเติบโตในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5.2 ต่อปี ในขณะที่ธุรกิจสายการบินขนส่งสินค้าหรือแอร์คาร์โกจะขยายตัวเฉลี่ยประมาณร้อยละ 6.2 ต่อปี ซึ่งจะทำให้มีความต้องการเครื่องบินใหม่ๆเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 25,000 ลำในระหว่างช่วงเวลาดังกล่าว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของตลาดธุรกิจการบินของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบเอเชีย-แปซิฟิก รวมทั้งกระแสการเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำหรือโลว์คอสต์ แอร์ไลน์ส ประกอบกับแนวโน้มการเปิดเสรีทางการบิน ล้วนเป็นปัจจัยหลักที่จะหนุนนำให้ความต้องการเครื่องบินพาณิชย์เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงการเติบโตของอุตสาหกรรมผลิตเครื่องบินพาณิชย์ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะต้องขยายตัวควบคู่กันไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งสนามบินในประเทศต่างๆทั่วโลกที่จะต้องมีการพัฒนาปรับปรุงหรือขยายขนาด รวมไปถึงการสร้างสนามบินใหม่ๆในเมืองต่างๆที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากเพื่อรองรับจำนวนเครื่องบินและความต้องการใช้บริการทางอากาศที่จะเพิ่มขึ้นมหาศาล

ทั้งนี้ประเทศไทยเองก็ได้มองเห็นแนวโน้มดังกล่าว ตลอดจนตระหนักถึงความสำคัญของระบบการให้บริการทางอากาศต่อการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ จึงได้ตั้งเป้าหมายที่จะให้สนามบินสุวรรณภูมิซึ่งจะเริ่มเปิดให้บริการในปี 2548 นี้ เป็นศูนย์กลางการบินหรือฮับของภูมิภาคเอเชีย ด้วยประสิทธิภาพในการรองรับผู้เดินทางทางอากาศจำนวน 45 ล้านคนต่อปี และอาคารผู้โดยสารขนาด 563,000 ตารางเมตร ตลอดจนทางวิ่งที่มีความยาวถึง 4,000 เมตรซึ่งจะสามารถรองรับเครื่องบินขนาดใหญ่อย่างแอร์บัส A380 ได้นี้ จะทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านบริการทางอากาศของภูมิภาค และเมื่อรวมไปถึงแผนการสั่งซื้อเครื่องบินแอร์บัส A380 จำนวนถึง 6 ลำของบริษัท การบินไทย ด้วยแล้ว ก็เป็นการยืนยันถึงความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบการให้บริการทางอากาศของไทยสู่ความเป็นเลิศเคียงคู่ไปกับแนวโน้มของโลก