ภัยแล้ง : ปัจจัยพึงระวังปี’48

ปัญหาภัยแล้งในปี 2548 มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงกว่าในปี 2547 เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนสำคัญมีน้อยกว่าในปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2547 ลดลง ซึ่งถ้าในช่วงกลางปี 2548 ที่เป็นช่วงฤดูแล้งเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงเป็นระยะเวลานานหรือเกิดภาวะภัยแล้งก็จะทำให้ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอสำหรับการเกษตร ซึ่งก็จะส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับปี 2547

จากรายงานเบื้องต้นภัยแล้งของกรมส่งเสริมการเกษตรระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2547–24 มกราคม 2548 รายงานความเสียหายจากภัยฝนทิ้งช่วงต่อเนื่องภัยแล้งว่าพื้นที่การเกษตรประสบภัย 51 จังหวัด เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 1,541,712 ราย พื้นที่การเกษตรประสบภัยจำนวน 26.77 ล้านไร่ คาดว่าจะเสียหาย 18.17 ล้านไร่ โดยเสียหายสิ้นเชิงแล้ว 11.82 ล้านไร่ จังหวัดที่ได้รับผลกระทบมากลำดับแรก ได้แก่นครราชสีมา 2.40 ล้านไร่ บุรีรัมย์ 0.70 ล้านไร่ และอุบลราชธานี 0.70 ล้านไร่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าว

นอกจากภัยแล้งในช่วงปลายปี 2547 จะส่งผลต่อปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญหลายประเภทแล้ว ช่วงฤดูแล้งกลางปี 2548 มีการคาดการณ์ว่าภาคเกษตรของไทยจะเผชิญปัญหาขาดแคลนน้ำมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละเขื่อนสำคัญน้อยกว่าทุกปี ซึ่งเท่ากับว่าปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรในปี 2548 ก็จะมีแนวโน้มลดลง

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินมูลค่าความเสียหายของผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงปลายปี 2547 ไว้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ส่วนมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูแล้งปี 2548 นี้ทางบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการประเมินสถานการณ์และเตรียมรับมือไว้แล้ว อันเป็นผลมาจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2547 ดังนั้นคาดว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นกระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไม่มากนัก กล่าวคือทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงกับความเสียหายจากภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วงในปี 2547 เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ส่วนหนึ่งได้รับชดเชยจากระดับราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งคาดการณ์ได้ว่ารายได้ของเกษตรกรในปี 2548 จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่น่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับในปี 2547

อย่างไรก็ตามภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นับว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสำหรับประเทศไทย กล่าวคือ แม้ว่าปริมาณการส่งออกสินค้าเกษตรบางประเภทลดลง เนื่องจากภัยแล้งส่งผลให้ผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งต้องเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิต แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นโอกาสของไทยที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรในปี 2548 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความต้องการของตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรเริ่มหันมาสต็อกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2548 ในกรณีที่ภาวะความแห้งแล้งเกิดขึ้นยาวนานถึงช่วงกลางปี 2548

ดังนั้นคาดว่าปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นไม่กระทบต่ออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจมากนัก กล่าวคือทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลงประมาณร้อยละ 0.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ เนื่องจากผลผลิตสินค้าเกษตรที่ลดลง ส่วนหนึ่งได้รับชดเชยจากระดับราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งคาดการณ์ได้ว่ารายได้ของเกษตรกรในปี 2548 จะยังคงเพิ่มขึ้น แต่น่าจะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับในปี 2547
นอกจากการติดตามแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่เน้นให้ภาคเกษตรกรรมมีน้ำเพียงพอเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้ว ทางรัฐบาลยังมีการกำหนดแนวนโยบายในการแก้ปัญหาในระยะยาวอีกด้วย

เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องภาวะการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน โดยกรอบของนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาลคือ แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 5 ปี (2547-2551) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงการเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เสร็จเรียบร้อย โดยในส่วนที่ได้มีการจัดสรรน้ำในเขตชลประทานไปแล้วจำนวน 22 ล้านไร่ จะจัดสรรเพิ่มอีก 11 ล้านไร่ และในพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงอีก 25 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีก 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานจะดำเนินการในลักษณะขุดสระเก็บน้ำหรือบ่อบาดาลหมู่บ้านในทุกหมู่บ้านกว่า 25,000 แห่ง

ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แผนระยะยาวในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้รับการหยิบยกมาเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนคือ โครงการชลประทานระบบท่อ ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำแผนการวางระบบน้ำทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการสำรวจออกแบบก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมนำร่องไปก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ หรืออาจแยกตามภูมิภาคหรือจังหวัดละ 1 แห่งก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายมีความสมบูรณ์ รูปแบบการดำเนินการโครงการชลประทานระบบท่อนั้น รัฐบาลจะก่อสร้างระบบและท่อส่งให้ ส่วนการบริหารจัดการซ่อมบำรุงต้องเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่จะต้องจัดประชุมคัดเลือกตัวแทนเป็นกรรมการรับผิดชอบต้องจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการกันเอง ซึ่งอาจใช้วิธีติดมิเตอร์ควบคุมและวัดปริมาณการใช้เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและช่วยกันดูแลรักษา โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการปรับโครงสร้างการผลิต หน่วยงานส่งเสริมด้านวิชาการเทคโนโลยีลงไปช่วยดูแลพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงการในการขุดบ่อให้กับเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง

กรอบนโยบายการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวนี้นับว่าเป็นแนวทางที่ดี และการที่เกิดภาวะแห้งแล้งในลักษณะที่ผิดปกติในครั้งนี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งวางแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และเริ่มร่างแผนปฏิบัติการเพื่อที่จะให้บรรลุผลของนโยบายตามที่วางไว้ ซึ่งเมื่อมีการวางแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีระบบแล้ว จะแก้ปัญหาได้ไม่แต่เฉพาะปัญหาในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาน้ำเพื่อการบริโภคของคนในเมือง และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมได้อีกด้วย