การค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 2548 : ส่งออกไทยชะลอตัว

บทนำ

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 และปรากฏชัดเจนในปี 2546-47 ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.4 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเศรษฐกิจแดนซามูไรจะกลับคืนมาเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่งในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกำลังประสบปัญหา แต่ในที่สุด การขยายตัวอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นกลับชะลอลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 และมีแนวโน้มว่าอาจขยายตัวในอัตราที่ลดต่ำลงอย่างมากในปี 2548 เหลือเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น การเติบโตที่ลดลงอย่างมากของญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางทางการค้าระหว่างสองประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548

ภาวะทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นปี 2547-48

เศรษฐกิจของญี่ปุ่นซึ่งซบเซามาในช่วงทศวรรษที่ 2533-2543 หลังเกิดภาวะฟองสบู่จนทำให้สถาบันการเงินประสบปัญหาหนี้เสียและควบรวมกิจการจำนวนมาก ได้เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัวเมื่อดัชนีผลผลิตทางอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 และอัตราการว่างงานเริ่มปรับตัวลดลงในเดือนมกราคม 2545 เป็นต้นมา ตามด้วยการบริโภคในประเทศซึ่งฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2545 และคงที่ในอัตราสูงมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน ทำให้การลงทุนฟื้นตัวขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายน 2545 เป็นต้นมา จนในปี 2546 เศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็ได้เติบโตขึ้นอย่างชัดเจนด้วยอัตราการขยายตัวของ GDP ร้อยละ 2.4 โดยพลังขับเคลื่อนสำคัญได้แก่ การส่งออกสินค้าและบริการและการลงทุนภาคเอกชนซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 10.1 และร้อยละ 9.3 ตามลำดับ นอกจากนี้ การบริโภคภาครัฐและเอกชนก็ยังเพิ่มขึ้นจนวนกลับไปสู่การเพิ่มขึ้นของผลผลิตภาคอุตสาหกรรม

การขยายตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ของญี่ปุ่นได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 2547 ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 4.0 เนื่องจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น การส่งออกสินค้าและบริการ (เพิ่มขึ้น 14%) การลงทุนภาคเอกชน (เพิ่มขึ้น 9.5%) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เพิ่มขึ้น 6.1%) การบริโภคภาคเอกชน (เพิ่มขึ้น 3.5%) และการลงทุนสร้างที่พักอาศัย (เพิ่มขึ้น 2.3%) เป็นต้น ผลกำไรของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำไรภาคอุตสาหกรรมเพิ่มร้อยละ 5.4 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2547 การขยายตัวของธุรกิจเอกชนทำให้อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในปี 2547 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 5.0 ก่อนหน้านี้ โดยการจ้างงานผู้ที่เรียนสายวิชาชีพและผู้ที่จบมหาวิทยาลัยสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2547 การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นสามารถสังเกตได้ชัดเจนจากการลงทุนสร้างบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานจำนวนมากบริเวณกรุงโตเกียว รวมทั้งการขยายตัวของธุรกิจก่อสร้างบริเวณ Chugoku และ Kyushu ซึ่งเป็นฐานอุตสาหกรรมสำคัญที่ทำการค้ากับจีน โดย Chugoku เป็นฐานผลิตเคมีภัณฑ์ เหล็ก และยานยนต์ ส่วน Kyushu เป็นฐานอุตสาหกรรมเหล็กและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2547 เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวในช่วงไตรมาสหลังของปี โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงในเดือนกันยายน 2547 หลังจากนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เริ่มช้าลงอย่างชัดเจน โดยการขยายตัวของการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโตช้าลง รวมทั้งผลจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ สินค้า IT และเครื่องจักรกล โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ จอ LCDs อุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์

ตารางที่ 1 ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญของญี่ปุ่น
2546 2547* 2548**
GDP 2.4 4.0 1.4
การบริโภคภาคเอกชน 0.8 3.5 2.0
การลงทุนสร้างที่พักอาศัย -0.8 2.3 0.1
การลงทุนภาคเอกชน (ที่ไม่ใช่ที่พักอาศัย) 9.3 9.5 3.4
การบริโภคภาครัฐ 1.0 1.9 1.1
การลงทุนภาครัฐ -10.8 -15.5 -10.9
ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เปลี่ยนแปลง %) 3.3 6.1 2.6
การส่งออกสินค้า (เปลี่ยนแปลง %) 3.6 11.4 1.1
การนำเข้าสินค้า (เปลี่ยนแปลง %) 3.0 10.4 5.2
การส่งออกสินค้าและบริการ (เปลี่ยนแปลง %) 10.1 14.0 2.8
การนำเข้าสินค้าและบริการ (เปลี่ยนแปลง %) 5.0 9.8 4.6
ดัชนีราคาผู้บริโภค (Core CPI) -0.3 -0.1 0.1
Yen/US Dollar 115.9 108.1 105-110
ที่มา: Mitsubishi Research Institute
หมายเหตุ *ตัวเลขประมาณการณ์
** ตัวเลขคาดการณ์

สำหรับในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าและบริการซึ่งขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.8 การลงทุนภาคเอกชนซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 การลงทุนภาครัฐซึ่งยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนและรัฐก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.0 และ 1.1 เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจของ Development Bank of Japan ยังพบว่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของเอกชนในปีงบประมาณ 2548 (เมษายน 2548-มีนาคม 2549) จะลดลงถึงร้อยละ 7.6 การลงทุนภาคบริการโดยเฉพาะด้านการขนส่ง ค้าปลีกและโทรคมนาคมก็คาดว่าจะลดลงเช่นกัน นอกจากแนวโน้มดังกล่าว ภัยธรรมชาติจากไต้ฝุ่น แผ่นดินถล่มและแผ่นดินไหวหลายครั้งในปี 2547 ก็ได้สร้างความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเยน และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการบริโภคภาคเอกชนในปี 2548 ทำให้ GDP ปี 2548 ตลอดทั้งปีขยายตัวในอัตราร้อยละ 1.4 ส่วน GDP สำหรับปีงบประมาณ 2548 (เมษายน 2548-มีนาคม 2549) ธนาคารกลางของญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนตุลาคม 2547 ว่าจะขยายตัวในอัตราร้อยละ 2.0-2.6 ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2548 คาดว่า GDP สำหรับปีงบประมาณ 2548 จะขยายตัวในอัตราเพียงร้อยละ 1.6 เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลงในปี 2548 คงไม่ถึงกับนำเศรษฐกิจญี่ปุ่นไปสู่ภาวะถดถอยเหมือนเมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากการฟื้นตัวที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้กระจายไปในวงกว้างหลายสาขาอุตสาหกรรม ครอบคลุมธุรกิจทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กทำให้การจ้างงานยังคงอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ อุปสงค์สินค้าอุตสาหกรรมจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็จะช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของอุปสงค์ในตลาดโลก ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่ถูกทำลายจากภัยธรรมชาติก็คาดว่าจะทำให้ธุรกิจก่อสร้างขยายตัว นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายจุนอิจิโร โคอิซึมิ (สมัยที่สอง) ที่ได้ประกาศนโยบายแปรรูปการไปรษณีย์แห่งชาติของญี่ปุ่นซึ่งเป็นสถาบันทางการเงินที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และการปฏิรูปนโยบายการคลังที่เรียกกันว่า Trinity Reform Package ซึ่งประกอบด้วยการลดการอุดหนุนภาครัฐ การปรับระบบการเก็บภาษี และการปฏิรูประบบงบประมาณที่จัดสรรให้กับรัฐบาลท้องถิ่นก็จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมหภาคของญี่ปุ่น คาดว่า การผลิต การลงทุนภาคเอกชน และการส่งออกจะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปี 2548 และต้นปี 2549 เนื่องจากวงจรเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่สำคัญคือ ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยุโรป และเอเชีย

เศรษฐกิจญี่ปุ่นกับการค้าของไทย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่นเป็นความสัมพันธ์ที่ถูกกำหนดโดยการค้าและการลงทุนเป็นอย่างมาก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ในด้านการค้า ญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งของไทย แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 รองจากสหรัฐฯ ไทยและญี่ปุ่นมีมูลค่าการค้าในปี 2547 รวม 35,959 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าปริมาณการค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่มีจำนวนรวม 22,732 ล้านดอลลาร์ ในช่วงที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นประสบปัญหาชะงักงันในปี 2544-45 การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นก็ชะงักงันเช่นกันโดยลดลงร้อยละ 2.80 ในปี 2544 และขยายตัวเพียง 0.05 ในปี 2545 แต่เมื่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวในปี 2546-47 การส่งออกของไทยไปตลาดญี่ปุ่นก็พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วโดยขยายตัวในอัตราร้อยละ 14.2 และร้อยละ 19.2 ตามลำดับ

ปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของไทยในการค้ากับญี่ปุ่น เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 13,543.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 19.2 สูงกว่าการขยายตัวของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ในทางกลับกัน ไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 22,416 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.0 โดยเปรียบเทียบการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2547 พบว่า ตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของตลาดส่งออกทั้งหมดของไทยเทียบกับตลาดสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนร้อยละ 15.9 ส่วนตลาดจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับสาม มีสัดส่วนร้อยละ 7.3 จากแนวโน้มการขยายตัวของตลาดญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าตลาดสหรัฐฯ ในปี 2546 และ 2547 จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าตลาดญี่ปุ่นอาจกลายเป็นตลาดอันดับหนึ่งของไทยในเร็ว ๆ นี้หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงขยายตัวเป็นบวก และไทยสามารถเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง

ในด้านการนำเข้า ญี่ปุ่นยังเป็นแหล่งนำเข้าที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 23.6 เทียบกับจีนและสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าอันดับสองและสามของไทยที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.6 และ 7.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดเท่านั้น อีกนัยหนึ่ง ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นราว 3 เท่าของยอดนำเข้าจากจีนหรือสหรัฐฯ การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นปีละกว่าร้อยละ 20 ในปี 2546 และ 2547 ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราสูงต่อไปตามทิศทางการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าทุนและสินค้าขั้นกลางจากญี่ปุ่นเพื่อการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมส่งออกของไทยซึ่งมุ่งไปยังตลาดอาเซียนและจีน

ตารางที่ 2 มูลค่าการค้าไทยกับคู่ค้าหลัก
ตลาดส่งออกหลัก มูลค่าปี 2547
(US$ mil) แหล่งนำเข้าหลัก มูลค่าปี 2547
(US$ mil)
สหรัฐฯ 15,516.8 ญี่ปุ่น 22,415.7
ญี่ปุ่น 13,543.2 จีน 8,147.0
จีน 7,119.3 สหรัฐฯ 7,215.4
สิงคโปร์ 7,031.9 มาเลเซีย 5,508.3
มาเลเซีย 5,313.0 สิงคโปร์ 4,147.7
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

เมื่อพิจารณาประเภทสินค้าที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นจะพบว่า สินค้าสำคัญที่ไทยส่งออกไปญี่ปุ่นประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของประเทศซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนข้ามชาติจากญี่ปุ่นและสหรัฐฯ อาทิ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ รถยนต์และอุปกรณ์ อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเลนซ์ ส่วนสินค้าของนักลงทุนไทยเองได้แก่ ยางพารา อาหารทะเลกระป๋อง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ในปี 2547 สินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นส่วนใหญ่มียอดส่งออกเพิ่มขึ้นด้วยเลขสองหลักแทบทั้งสิ้น ยกเว้นอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์และไดโอดซึ่งลดลงต่อเนื่องมาจากปี 2546 ในอัตรากว่าร้อยละ 20 ทั้งสองปี และรถยนต์และอุปกรณ์ที่ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 1.4 หลังจากขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 50 เมื่อปี 2546

ตารางที่ 3 การค้าไทย-ญี่ปุ่น
รายการ มูลค่าการค้า (US$ million) การเปลี่ยนแปลง (%)
2546 2547 2546 2547
มูลค่าการค้า 29,438.1 35,958.9 18.9 22.2
การส่งออก 11,363.8 13,543.2 14.2 19.2
การนำเข้า 18,074.3 22,415.7 22.1 24.0
ดุลการค้า -6,710.5 -8,872.5 38.3 32.2

ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

ในบรรดาสินค้าส่งออกหลัก ๆ ที่มีลู่ทางแจ่มใสนั้น แผงวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 ในปี 2547 หลังจากขยายตัวสูงถึงร้อยละ 131 ในปี 2546 ตามด้วยเครื่องใช้ฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 84 เลนซ์ขยายตัวร้อยละ 74 ไก่แปรรูปขยายตัวร้อยละ 67 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 58 ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมขยายตัวร้อยละ 45 และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวร้อยละ 42 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของสินค้าในตลาดญี่ปุ่นหลายรายการ โดยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งสำหรับสินค้ายางพาราและน้ำตาล อันดับ 2 สำหรับสินค้าตู้เย็นและตู้แช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารสัตว์และปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นในสินค้าหลักส่วนใหญ่ แต่ส่วนแบ่งของไทยในตลาดญี่ปุ่นสำหรับสินค้าหลายรายการกลับลดลงหรือคงที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของประเทศ โดยในช่วงมกราคม-พฤศจิกายน 2547 สินค้าของไทยที่มีส่วนแบ่งตลาดลดลงเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วได้แก่ ยางพารา (64% จาก 67%) ไดโอดทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์ (11% จาก 13%) รถยนต์และรถจักรยานยนต์ (3% จาก 4%) เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ (9% จาก 10%) อาหารทะเลแปรรูป (23% จาก 25%) ไก่สดแช่เย็นและแช่แข็ง (3% จาก 40%) เนื้อปลาสด (11% จาก 15%) ข้าว (11% จาก 14%) เป็นต้น ส่วนสินค้าประเภทส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ตู้เย็น ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้สำหรับเดินทาง รองเท้า อาหารสัตว์ ปลาหมึกแช่เย็น ไทยยังคงส่วนแบ่งตลาดไว้เท่าเดิม ส่วนสินค้าที่ไทยสามารถเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นกลับมีไม่มากนัก อาทิ โทรทัศน์และส่วนประกอบ (7% จาก 6%) ผลิตภัณฑ์ยาง (15% จาก 13%) ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม (4% จาก 3%) น้ำตาล (53% จาก 42%) เป็นต้น

ตารางที่ 4: สินค้าส่งออกหลักของไทยไปญี่ปุ่น
สินค้า 2546 2547
มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%) มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%)
รวม 11,363.8 14.21 13,543.2 19.18
แผงวงจรไฟฟ้า 411.5 130.92 752.7 82.92
เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ 553.3 1.86 742.5 34.19
ยางพารา 543.0 43.88 670.1 23.41
เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ 337.9 9.53 532.2 57.50
รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 515.2 50.07 508.0 -1.40
อุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ 653.5 -22.27 483.5 -26.01
อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 404.7 0.62 453.8 12.13
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ 289.4 71.55 384.1 32.72
เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน 318.0 6.75 318.9 0.28
เลนซ์ 313.7 38.40 313.7 74.08
หมายเหตุ: ล้านดอลลาร์
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

ในด้านการนำเข้า สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าทุน สินค้าอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางในลักษณะที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ได้แก่ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ส่วนประกอบรถยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ซึ่งสินค้าทั้ง 8 รายการดังกล่าวครองสัดส่วนการนำเข้าถึงประมาณร้อยละ 80 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด โดยไทยนำเข้าสินค้าทั้ง 8 รายการเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่างร้อยละ 14-40 ในปี 2546 และร้อยละ 18-36 ในปี 2547 และหากรวมสินค้านำเข้า 20 รายการแรกในปี 2547 พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 คิดเป็นมูลค่ารวม 21,048 ล้านดอลลาร์ หรือราวร้อยละ 94 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด โดยสินค้าส่วนใหญ่มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นด้วยเลขสองหลัก ทั้งนี้ สินค้าที่มีการนำเข้าเพิ่มมากเป็นพิเศษได้แก่ หลอดและท่อโลหะ (103%) เครื่องใช้ไฟฟ้า (65%) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (55%) และรถยนต์นั่ง (52%) เป็นต้น

ตารางที่ 5: สินค้านำเข้าหลักของไทยจากญี่ปุ่น
สินค้า 2546 2547
มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%) มูลค่า* เปลี่ยนแปลง (%)
รวม 18,074.3 22.10 22,415.7 24.02
เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรม 3,664.7 26.76 4,312.0 17.66
เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ 2,254.7 18.88 2,783.3 23.44
แผงวงจรไฟฟ้า 2,111.6 14.39 2,591.0 22.70
เหล็กและเหล็กกล้า 1,606.3 23.50 2,183.5 35.93
ส่วนประกอบรถยนต์และตัวถัง 1,692.8 40.33 1,998.9 18.08
เคมีภัณฑ์ 1,499.0 20.84 1,969.3 31.37
ผลิตภัณฑ์โลหะ 1,065.3 14.49 1,280.3 20.18
เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ 737.5 39.05 935.8 26.89
ผลิตภัณฑ์พลาสติก 409.8 11.42 491.3 19.89
สินแร่โลหะอื่น ๆ 338.7 43.09 466.0 37.58
หมายเหตุ: ล้านดอลลาร์
ที่มา: กระทรวงพาณิชย์

สำหรับในปี 2548 คาดว่า โครงสร้างทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยสินค้าส่งออกของไทยจะประกอบด้วยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา อาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้านำเข้าจะมุ่งไปยังสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกล ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ โดยทิศทางการค้าระหว่างสองประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลงของญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียจะทำให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิม โดยเฉพาะสินค้าส่งออก เนื่องจากการบริโภคของญี่ปุ่นที่ลดลง ขณะที่การนำเข้าน่าจะยังเพิ่มในอัตราสูง เนื่องจากการลงทุนเพื่อขยายการผลิตของภาคเอกชนไทยในปี 2548 จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและปัจจัยการผลิตจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกมาก

สรุป

การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่ลดลงจากร้อยละ 4.0 ในปี 2547 เหลือร้อยละ 1.4 ในปี 2548 จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่น เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 13.9 ดังนั้น ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกของไทยโดยรวมจึงค่อนข้างมาก หากไทยต้องการรักษาเป้าหมายการส่งออกไปยังตลาดโลกให้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในปี 2548 ไทยก็จำเป็นต้องขยายตลาดญี่ปุ่นให้ได้อย่างต่อเนื่องในอัตราที่ใกล้เคียงกับเป้าการส่งออกรวมดังกล่าว เนื่องจากไทยไม่อาจหวังพึ่งตลาดยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งยังมีเศรษฐกิจอ่อนแอมากนัก ขณะที่ตลาดจีนก็มีสัดส่วนเพียงครึ่งหนึ่งของตลาดญี่ปุ่น ในทางตรงกันข้าม คาดว่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นจะยังคงสูงเกินร้อยละ 20 ต่อไป เนื่องจากการขยายตัวของการนำเข้าสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตภาคอุตสาหกรรมอันเป็นผลมาการการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนไทยเพื่อขยายขีดความสามารถการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า