กุหลาบคุนหมิง : คู่แข่งกุหลาบไทย…จับตาการขยายตลาด

บรรยากาศการซื้อขายดอกกุหลาบในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ในปีนี้ยังคงคึกคักเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ปัจจัยหนุนให้ดอกกุหลาบขายดีในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ปีนี้ คือ ราคาที่ไม่สูงมากนัก เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าจะมีการปรับราคาขึ้นบ้างในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ และคุณภาพของดอกกุหลาบในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ทั้งนี้เนื่องจากแหล่งผลิตกุหลาบในประเทศไทยสามารถผลิตกุหลาบออกมาป้อนตลาดได้ในปริมาณมาก และมีคุณภาพอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนกุหลาบที่นำเข้าทั้งจากเนเธอร์แลนด์ก็มีราคาไม่แพงเหมือนในปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่ได้ประสบกับปัญหาสภาพอากาศที่แปรปรวนจนกระทบต่อปริมาณการผลิต นอกจากนี้ยังมีกุหลาบนำเข้าจากจีนหรือที่เรียกกันว่ากุหลาบคุนหมิง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงระยะ 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้ดอกกุหลาบคุนหมิงก็มีปริมาณมาก ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับกุหลาบนำเข้าจากแหล่งอื่นๆ อีกทั้งยังมีคุณภาพดี ทำให้กุหลาบคุนหมิงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว และเข้ามาตีตลาดกุหลาบไทย ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบของไทยเร่งปรับคุณภาพการผลิตกุหลาบเพื่อแข่งขันกับกุหลาบจีน เนื่องจากปัจจุบันราคาของกุหลาบไทยที่มีคุณภาพดีนั้นอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับราคากุหลาบจีน

ในปัจจุบันจีนเป็นผู้ผลิตไม้ตัดดอกและผู้ใช้ไม้ตัดดอกรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยปริมาณการผลิตไม้ตัดดอกของจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตไม้ตัดดอกของโลก กล่าวคือในปัจจุบันเนื้อที่ปลูกไม้ตัดดอกของจีนนั้นสูงถึง 122,400 เฮกตาร์(765,000 ไร่) และในแต่ละปีสามารถผลิตไม้ตัดดอกได้ 2.7 ล้านตัน(น้ำหนักสด) และยอดจำหน่ายไม้ตัดดอกในประเทศนั้นสูงถึง 54 พันล้านหยวน และมีมูลค่าส่งออกไม้ตัดดอก 260 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยยูนานเป็นแหล่งปลูกไม้ตัดดอกแหล่งใหญ่ของจีน โดยมีสัดส่วนการผลิตไม้ตัดดอกถึงร้อยละ 50 ของปริมาณการผลิตไม้ตัดดอกทั้งหมดของจีน นอกจากนี้ยูนานยังจัดเป็นแหล่งศูนย์กลางการค้าไม้ตัดดอกของจีนด้วย ซึ่งการขยายตัวของการผลิตไม้ตัดดอกของยูนานนั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 20 เท่าตัวในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งนี้เนื่องจากยูนานอยู่ภายใต้โครงการ International Trade Centre-Yunnan Flower Project ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมการปลูกไม้ตัดดอกในยูนาน โดยในยูนานนั้นมีพื้นที่ปลูกไม้ตัดดอก 3 แหล่งคือ คุนหมิง สิบสองปันนา และลี่เจียง(Lijiang)

ซึ่งคุนหมิงนั้นเริ่มเป็นแหล่งปลูกไม้ตัดดอกที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อคุนหมิงเป็นสถานที่จัดงาน International Hoticulture Expo ครั้งที่ 14 ในปี 2543 ซึ่งไม้ตัดดอกที่ส่งออกในปัจจุบัน คือ กุหลาบ คาดว่าในอนาคตคุนหมิงจะเป็นแหล่งสำคัญของการส่งออกดอกเบญจมาศด้วย เนื่องจากปัจจุบันทางเนเธอร์แลนด์มีโครงการร่วมกับผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ของเซี่ยงไฮ้ที่จะขยายการผลิตดอกเบญจมาศที่คุณภาพเพื่อการส่งออก สาเหตุที่คุนหมิงเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างประเทศในการพัฒนาและส่งเสริมการปลูกไม้ตัดดอก เนื่องจากสภาพอากาศที่เหมาะสม และต้นทุนการผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ โดยเฉพาะต้นทุนด้านที่ดินและค่าจ้างแรงงาน

คาดการณ์ว่าในปี 2550 ยูนานจะสามารถผลิตไม้ตัดดอกได้เป็นมูลค่า 845.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งออกไม้ตัดดอกมูลค่า 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคาดว่าเนื้อที่ปลูกไม้ตัดดอกในปี 2550 จะเพิ่มขึ้นเป็น 14,000 เฮกตาร์( 87,500 ไร่) จากในปัจจุบันที่มีอยู่เพียง 10,600 เฮกตาร์(66,250 ไร่) และคาดว่าในอนาคตทาง ITC จะสนับสนุนให้มีการจัดตั้งตลาดประมูลไม้ตัดดอกที่คุนหมิง
ปัจจุบันไม้ตัดดอกของยูนานนั้นส่งเข้าไปจำหน่ายในตลาดประมูลดอกไม้ที่สำคัญของโลกในเนเธอร์แลนด์ ในนามของ“ดอกไม้จากยูนาน” ซึ่งนอกจากตลาดยุโรปแล้วตลาดส่งออกเป้าหมายของไม้ตัดดอกจากยูนานคือ ญี่ปุ่น ไทย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้

ส่วนการปลุกกุหลาบของไทยในปัจจุบันจะมุ่งการผลิตเพื่อใช้ในประเทศ และทดแทนการนำเข้า ตลาดใหญ่ของกุหลาบยังเป็นที่ปากคลองตลาด ซึ่งจะมีกุหลาบจากภาคกลาง และกุหลาบจากอำเภอพบพระเป็นหลัก กุหลาบมีคุณภาพปานกลางถึงต่ำ การกำหนดราคาขึ้นลงขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ ผลผลิตมีปริมาณไม่สม่ำเสมอ ทั้งนี้ขึ้นกับสภาวะอากาศ ส่วนมากจะล้นตลาดช่วงฤดูฝน ส่วนเกษตรกรที่ผลิตกุหลาบคุณภาพสูง เกษตรกรจะส่งโดยตรงกับร้านดอกไม้หรือส่งผ่านผู้ขายส่ง ผลผลิตสม่ำเสมอมากกว่า ปัจจุบันเกษตรกรผู้ปลูกกุหลาบหลายรายเน้นการผลิตกุหลาบคุณภาพสูงจำนวนสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ไม่เน้นเฉพาะช่วง เช่น วันวาเลนไทน์ เพราะผลผลิตได้ราคาดีตลอดทั้งปี
ในระยะต่อไปเมื่อการเจรจาเขตการค้าเสรีของไทยเริ่มครอบคลุมสินค้าไม้ดอกไม้ประดับ ก็จะทำให้ภาษีการนำเข้าไม้ตัดดอกจากจีนจะมีแนวโน้มลดลง กุหลาบของไทยจะต้องแข่งขันกับกุหลาบคุนหมิง ซึ่งมีพัฒนาการผลิตกุหลาบอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเกษตรกรของไทยผู้ผลิตกุหลาบคุณภาพสูงจะเป็นผู้ได้เปรียบในการแข่งขัน

ดังนั้นจึงเป็นงานหนักของทั้งเกษตรกร ภาคเอกชน และภาครัฐที่จะสนับสนุนเพื่อให้เกษตรกรปลูกกุหลาบในพื้นที่ที่เหมาะสม โดยเฉพาะการจัดนิคมปลูกไม้ดอกเมืองหนาว โดยจำกัดพื้นที่และรักษาสภาพแวดล้อมให้มากที่สุด ประกอบกับส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต สนับสนุนการลงทุน พัฒนาระบบการตลาดและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพกุหลาบของไทยให้สามารถแข่งขันกับกุหลาบจีนได้