กรุงเทพฯ, 16 กุมภาพันธ์ 2548 — บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) – บริษัทปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศ ได้ประกาศถึงตัวเลขผลประกอบการล่าสุดของบริษัทฯ ประจำปี พ.ศ. 2547 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง มีผลกำไรสุทธิสำหรับปีพ.ศ. 2547 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,141 ล้านบาท รายได้จากการขายสุทธิ 20,772 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ สูงกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 26 (ปี 2546 มีกำไรสุทธิ 3,288 ล้านบาท)
“เรารู้สึกพอใจในตัวเลขผลประกอบการของบริษัทฯในปี 2547 เป็นอย่างมาก เพราะแสดงให้เห็น
ถึงการทำงาน ที่มีประสิทธิภาพ อันส่งผลให้บริษัทสามารถทำกำไรได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาถึง 5 ปีซ้อน โดยผลประกอบการล่าสุดของบริษัทฯ ปรับตัวสูงขึ้นถึง 4 เท่าตัวจากปี 2543” มร. ลีโอ มิทเทลโฮลเซอร์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าว
สำหรับในปีพ.ศ. 2547 ที่ผ่านมา กิจการของบริษัทฯ ได้เจริญเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง มีรายได้จากการขายสุทธิมากกว่าในปี พ.ศ. 2546 (17,469 ล้านบาท) เกือบร้อยละ 20 และมี กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีเงินได้ และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) ในปี 2547 เท่ากับ 7,256 ล้านบาท สูงกว่าในปี 2546 (6,018 ล้านบาท) ถึงร้อยละ 21
บริษัทได้ดำเนินการจ่ายเงินปันผลเฉพาะกาลไปแล้ว 6 บาทต่อหุ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 ส่วนเงินปันผลงวดสุดท้ายประจำปี 2547 จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการเพื่ออนุมัติในเดือนมีนาคม 2548 [บริษัทจ่ายเงินปันผล 9บาท และ 8บาทต่อหุ้นในปี 2546 และ 2545 ตามลำดับ]
บริษัทมียอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และปูนเม็ดในปี 2547 ทั้งสิ้น 10.4 ล้านตัน แบ่งเป็นยอดจำหน่ายภายในประเทศจำนวน 7.1 ล้านตัน ยอดจำหน่ายต่างประเทศจำนวน 3.3 ล้านตัน ในไตรมาสที่ 4 ของปีพ.ศ. 2547 อัตราความต้องการปูนซีเมนต์และปูนเม็ดเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้บริษัทฯ ต้องเปิดโรงงานที่ 1 ของบริษัทฯ อีกครั้งภายหลังจากที่หยุดกำลังการผลิตในโรงงานดังกล่าวมานาน เป็นการขยายกำลังการผลิตอย่างเต็มที่เพื่อให้ทันต่อความต้องการ ปัจจุบันบริษัท มีกำลังในการผลิตปูนซีเมนต์ที่ 14.5 ล้านตันต่อปี
“ต้นทุนด้านพลังงานและการขนส่ง ก็เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมโดยรวมในปีที่ผ่านมา และคงจะมีผลอย่างต่อเนื่องในปี 2548 นี้ด้วยเช่นกัน โดยที่ราคาขายของปูนซีเมนต์ในตลาดยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการดำเนินการที่เต็มกำลังการผลิตจึงมีความสำคัญต่อการลดค่าใช้จ่ายต้นทุน (economies of scale) รวมทั้งการนำโครงการเชื้อเพลิงและวัตถุดิบทดแทน(Alternative Fuels and Raw Materials—AFR) มาใช้เพื่อที่จะควบคุมต้นทุนด้านเชื้อเพลิง” มร. มิทเทลโฮลเซอร์ กล่าว
ในปีพ.ศ. 2547 โครงการ AFR สามารถทำให้บริษัทฯ ประหยัดค่าใช่จ่ายด้านพลังงานได้ถึงร้อยละ 6 และขณะนี้บริษัทฯ ก็ได้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากโครงการ AFR
มร.มิทเทลโฮลเซอร์ แสดงความเห็นเพิ่มเติม ต่อบริษัทในเครือว่า “บริษัทในเครือของเรา มีผลการดำเนินงานที่ดีในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคอนวูด (ConWOOD) ผู้ผลิตวัสดุที่นำมาใช้ทดแทนไม้นานาชนิดที่ได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดีจากตลาดอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงเพิ่มการลงทุนในบริษัทดังกล่าวเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็นสองเท่า คือ มีกำลังการผลิตถึง 90,000 ตัน ภายในกลางปีนี้ นอกจากนี้เรายังพอใจกับการเติบโตในธุรกิจคอนกรีตสำเร็จรูป โดยธุรกิจนี้มีการเติบโตในปีที่แล้วประมาณร้อยละ 30 ซึ่งคาดว่าจะ มีการเติบโตระดับเดียวกันในปีนี้ พร้อมกันนี้เราจะพยายามขยายตลาดของบริษัทนครหลวงคอนกรีตเพื่อเพิ่มมูลค่าในการบริการของเราแก่ลูกค้า”
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้ขายหุ้นบริษัท รอยัล ปอร์ชเลน จำกัด (มหาชน) ออกไปในวันที่ 30 ธันวาคม 2547 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัทแต่เพียงอย่างเดียว
บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง ก่อตั้งเมื่อปี 2512 และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปีพ.ศ. 2520 และบริษัท “โฮลซิม” จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ของโลกเข้าร่วมถือหุ้นในปี 2541 ในปี 2546 บริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) ได้รับการคัดเลือกให้เป็นบริษัทที่ดีที่สุดในประเทศไทย (the Best Company in Thailand) ในการสำรวจประจำปีของนิตยสารยูโรมันนี่ (Annual Euromoney Asian company survey)