การเกิดธรณีวิบัติภัยคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา นับเป็นภัยพิบัติครั้งร้ายแรงของประเทศไทย รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้และกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ทุกประเทศได้ตระหนักถึงความจำเป็นอันเร่งด่วนในการพัฒนายกระดับและประสานระบบการจัดการภาวะฉุกเฉินของแต่ละประเทศเข้าไว้ด้วยกัน
สำหรับในการประชุมนานาชาติเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศกับการเตือนและป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ ในระหว่างวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2548 ณ จังหวัดภูเก็ต ปาสคาล เซโร รองประธาน บริษัท ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น และหัวหน้าสถาปนิกแห่งศูนย์พัฒนาระบบ
ของบริษัทออราเคิล ประเทศจีน (Oracle China Development Center) ได้ให้เกียรติเข้าร่วมบรรยายพร้อมนำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลในภาวะฉุกเฉินแห่งศตวรรษที่ 21 (21st Century Emergency Management Information System หรือ EMIS)
เซโร กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านมีหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการภาวะวิกฤติหลากหลายแห่ง โดยแต่ละแห่งมีระบบ ระเบียบวิธีดำเนินการ และรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลในแบบฉบับของตน โดยไม่มีองค์กรกลางที่จะทำหน้าที่รับผิดชอบในการประสานการดำเนินงานต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน
ระบบ EMIS แห่งศตวรรษที่ 21 เป็นโซลูชั่นที่มีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
ระบบสถาปัตยกรรมข้อมูล (Information Architecture) ซึ่งมีโครงสร้างของข้อมูลแบบผนวก โดยรวมข้อมูลจากหลากหลายหน่วยงานไว้ในแหล่งเดียว เพื่อให้ได้ ”ข้อมูลจริง” (single truth) เกี่ยวกับภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น
องค์ประกอบที่ 2 คือ สถาปัตยกรรมเทคโนโลยี (Technology Architecture) ประกอบด้วย “รหัสโครงสร้าง” (building code) ที่ง่าย และมีประสิทธิผล เพื่อสนับสนุนการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์จำนวนหลายร้อยหลายพันเครื่องของหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและโลกให้เชื่อมโยงการทำงานร่วมกันแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับองค์ประกอบที่ 3 คือ วิสัยทัศน์ (Vision) ในการสร้างระบบ EMIS แห่งศตวรรษที่ 21 ให้สามารถใช้งานได้อย่างแท้จริง ทั้งนี้ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องกระตุ้นให้หน่วยงานภายใต้การบริหารของตนมีมุมมองที่โดดเด่นและชัดเจนเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือภายในองค์กร รวมทั้งทำหน้าที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้มีการพัฒนาแพลทฟอร์มเพื่อรองรับเทคโนโลยี EMIS แห่งศตวรรษที่ 21 นี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ระบบ EMIS แห่งศตวรรษที่ 21 ได้มีบทบาทสำคัญในการช่วยเจ้าหน้าที่รัฐนิวยอร์กในการจัดการกับเหตุการณ์การตึกถล่ม เวิลด์ เทรด วันที่ 11 กันยายน 2544 ได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยระบบ LEADERS ที่ช่วยบริหารจัดการการลำเลียงผู้ที่ได้รับบาดเจ็บกระจายไปยังโรงพยาบาล 290 แห่ง กรมสารสนเทศและโทรคมนาคมของรัฐนิวยอร์ค ยังได้จัดทำมาตรฐานระบบฐานข้อมูลแผนที่แบบดิจิตอล เพื่อให้สามารถช่วยเหลือและจัดการกับสถานการณ์ พร้อมทั้งระดมความช่วยเหลือจากหน่วยงานท้องถิ่นทั่วทั้ง 12 แห่งได้อย่างรวดเร็ว
ประเทศต่างๆในภูมิภาคเอเซีย ล้วนตระหนังดีถึงประโยชน์ของของระบบ EMIS แห่งศตวรรษที่ 21 ตัวอย่างเช่น โครงการ “Digital Beijing” ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ระบบจัดการภาวะฉุกเฉิน ระบบบริการข้อมูลประชากร และ โครงสร้างการสื่อสารไร้สาย (Spatial infrastructure) ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับศูนย์ควบคุมจัดการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response System-ERS)
เซโร เชื่อว่าประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จะได้รับประโยชน์อย่างใหญ่หลวงจากการเลือกใช้ระบบ EMIS แห่งศตวรรษที่ 21ทั้งในด้านของการวางแผนและการบริหารจัดการภาวะวิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงแสดงให้นักท่องเที่ยวเห็นถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความมั่นใจและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน