อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยได้มีการพัฒนาและเจริญเติบโตมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษที่ผ่านมา โดยเริ่มต้นจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าเพื่อป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก ด้วยยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นมาเป็นลำดับ ในขณะที่การส่งออกเพิ่งจะเริ่มมีบทบาทเด่นชัดเมื่อไม่นานนี่เอง ทั้งนี้ปริมาณส่งออกได้เริ่มขยายตัวอย่างก้าวกระโดดมาตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นปีที่ประเทศไทยได้ประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจ โดยในช่วงเวลาระหว่างปี 2540-41 ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศได้ตกต่ำลงเป็นประวัติการณ์ คือจากสถิติยอดขายสูงสุดก่อนเกิดวิกฤติที่จำนวน 589,126 คันในปี 2539 กลับลดลงเหลือเพียง 363,156 คันในปี 2540 และ 144,065 คันในปี 2541 หรือมีอัตราขยายตัวติดลบถึงร้อยละ 38.4 และร้อยละ 60.3 ตามลำดับ (ดูตารางประกอบ) ในทางตรงข้าม ช่วงเวลานี้เองที่ยอดส่งออกกลับเพิ่มขึ้น จากจำนวนเพียง 14,020 คันในปี 2539 กระโดดขึ้นเป็น 42,218 คันในปี 2540 67,857 คันในปี 2541 และพุ่งเกินหลักแสนมาเป็น 125,702 คันในปี 2542 หรือขยายตัวในอัตราเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 116 ต่อปี ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยได้ใช้วิกฤติให้กลายเป็นโอกาส ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยถือว่าช่วงระหว่างปี 2540-42 คือช่วงเวลาแห่งการเริ่มทะยานขึ้น (Take-Off Period) ของการส่งออกรถยนต์ของไทยและได้นำพาให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก้าวเข้าสู่ยุคแห่งการส่งออก
หลังจากนั้นตั้งแต่ปี 2542-2543 เป็นต้นมา เมื่อภาวะเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวในเวลาเดียวกับที่ยอดจำหน่ายรถยนต์กระเตื้องขึ้นเป็นลำดับทุกปีๆ ประกอบกับการที่ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆจากต่างประเทศได้เล็งเห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย จึงได้เริ่มทยอยดำเนินการย้ายโรงงานผลิตรถยนต์มายังประเทศไทยในเวลาต่อมา โดยมุ่งหวังจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก ช่วงจังหวะนี้เองที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจากค่ายผลิตรถยนต์รายใหญ่ๆจากต่างประเทศ ต่างเห็นพ้องในอันที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์แห่งภูมิภาคเอเชีย หรือดีทรอยต์แห่งเอเชีย โดยได้มีการตั้งเป้าการส่งออกรถยนต์ไว้ที่ 8 แสนคันจากเป้าปริมาณการผลิต 1.8 ล้านคันภายในปี 2553 ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และด้วยเป้าการส่งออกที่ 8 แสนคันนี้หมายความว่าสัดส่วนการส่งออกรถยนต์ต่อปริมาณผลิตในประเทศจะต้องไม่ต่ำกว่าร้อยละ 44-45 ภายในปีดังกล่าว ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกรถยนต์ของไทยก็ได้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 2540 อันเป็นปีแห่งการเริ่มทะยานขึ้นของปริมาณส่งออกดังกล่าวข้างต้น และตั้งแต่นั้นมา สัดส่วนการส่งออกต่อปริมาณผลิตรถยนต์อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ทุกปี
ปริมาณผลิต ยอดขาย และการส่งออกรถยนต์ของไทย
( จำนวนคัน )
ปี
ปริมาณผลิต
ยอดขายในประเทศ
ปริมาณส่งออก สัดส่วนการส่งออกต่อปริมาณการผลิต
2538 525,680 571,580 (17.7%) 8,800 (-58.7%) 1.67 %
2539 558,365 589,126 (3.1%) 14,020 (59.3%) 2.56 %
2540 360,303 363,156 (-38.4%) 42,218 (201.1%) 11.72 %
2541 158,130 144,065 (-60.3%) 67,857 (60.7%) 38.48 %
2542 327,233 218,330 (51.6%) 125,702 (85.2%) 38.41 %
2543 411,721 262,189 (20.1%) 152,836 (21.6%) 37.12 %
2544 459,418 297,052 (13.3%) 175,299 (14.7%) 38.16 %
2545 584,951 409,362 (37.8%) 181,471 (3.5%) 31.02 %
2546 750,512 533,176 (29.0%) 235,022 (29.5%) 31.31 %
2547 928,081 626,024 (17.4%) 332,053 (41.3%) 35.78%
2548* 1,116,000 696,000 (11.2%) 420,000 (26.5%) 37.63%
เป้าปี 2553 1,800,000
1,000,000 800,000 44.44%
หมายเหตุ 1. ตัวเลขในวงเล็บคือร้อยละของการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า
2. ช่วงปี 2540-2542 คือช่วงการเริ่มทะยานขึ้นของปริมาณส่งออกรถยนต์
3. คาดการณ์ปี 2548 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา : สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สถาบันยานยนต์, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
นอกจากนั้น จะเห็นได้ว่าในช่วงระหว่างปี 2540-47 ปริมาณส่งออกรถยนต์ยังมีอัตราขยายตัวสูงกว่ายอดจำหน่ายในประเทศเกือบทุกปี (ดูตารางประกอบ) และในปี 2547 ที่ผ่านมา ปริมาณส่งออกได้เพิ่มขึ้นเกินหลัก 3 แสนคันเป็นครั้งแรก ด้วยจำนวน 332,053 คัน หรือขยายตัวถึงร้อยละ 41.3 จากปีก่อนหน้า อีกทั้งยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 4 แสนคันในปี 2548 นี้ ซึ่งนั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยได้ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี ในการก้าวจากช่วงเริ่มทะยานขึ้น (Take-Off Period) มาสู่ช่วงไต่ระดับความสูง (Ascending Period)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าสำหรับในปี 2548 นี้ อัตราการขยายตัวของปริมาณส่งออกรถยนต์ก็จะยังคงสูงกว่าอัตราขยายตัวของยอดขายในประเทศ โดยคาดว่าปริมาณส่งออกจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 26 มาอยู่ที่ 420,000 คัน ในขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศจะเติบโตช้ากว่า คือประมาณร้อยละ 11 มาอยู่ที่ 696,000 คัน ทำให้สัดส่วนการส่งออกจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 37.6 คาดว่าแนวโน้มที่ปริมาณส่งออกโตเร็วกว่ายอดขายในประเทศนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2553 อันเป็นปีเป้าหมายที่จะต้องส่งออกให้ได้ 8 แสนคัน
ทั้งนี้การขยายกำลังผลิตของบรรดาค่ายรถใหญ่ๆจากต่างประเทศที่ได้ทยอยโยกย้ายฐานการผลิตมายังไทย ไม่ว่าจะเป็นค่ายโตโยต้า อีซูซุ/เจนเนอรัล มอเตอร์ส ฮอนด้า ฟอร์ด/มาสด้า มิตซูบิชิ นิสสัน ฯลฯ ซึ่งต่างก็กำลังเร่งเพิ่มปริมาณผลิต โดยมุ่งเน้นที่จะเพิ่มการส่งออกไปยังตลาดโลก ประกอบกับการที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้าและข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคีหรือ FTA กับบางประเทศ เพื่อเร่งขยายการส่งออกรถยนต์ของตน เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก้าวกระโดดสู่ความเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ภาวะการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปของไทยกำลังมีแนวโน้มสดใส และค่ายรถต่างๆก็กำลังดำเนินการเพิ่มปริมาณผลิตหลังจากที่ได้มีการทยอยย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ทำให้ความหวังที่จะเห็นอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการผลิตของภูมิภาคหรือดีทรอยต์แห่งเอเชียมีความเป็นไปได้สูงนั้น แต่ทว่าประเด็นเรื่องการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตยานยนต์ของไทยสู่ตลาดโลกกำลังได้รับความสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากกรณีเหตุการณ์เมื่อเร็วๆนี้ ที่ผู้ซื้อรถยนต์เรียกร้องให้บริษัทรถยนต์ชดใช้ความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของรถยนต์ใหม่ที่เพิ่งซื้อมาแม้ว่าก่อนหน้านี้ ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งภาครัฐและเอกชนจะได้ให้ความสำคัญในประเด็นนี้มาโดยตลอด แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ทั้งค่ายผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องเร่งเดินหน้าในโครงการต่างๆ ที่จะช่วยพัฒนามาตรฐานยานยนต์ที่ผลิตในประเทศไทย
ทั้งนี้เนื่องจากทุกฝ่ายต่างตระหนักว่าการจะบรรลุเป้าหมายดีทรอยต์แห่งเอเชียได้หรือไม่นั้น และเป้าหมายความสำเร็จที่ไปถึงจะมีความยั่งยืนหรือไม่เพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และความยอมรับจากตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น แต่รวมไปถึงอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศที่จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างมากควบคู่ไปด้วย หากจะต้องการให้อุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยเป็นฐานผลิตเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลกอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ในแผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยก็ได้มีการกำหนดว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยนั้น คือกลยุทธ์หนึ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยประกอบไปด้วยการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการจัดการ ตลอดจนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือบุคลากรที่มีทักษะขึ้นมาให้ทันรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ฯลฯ อนึ่ง แม้ว่าปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ๆในไทยที่เป็นผู้ผลิตในระดับ First Tier OEM(Original Equipment Manufacturers) ที่ป้อนชิ้นส่วนให้โรงงานรถยนต์โดยตรง จะเป็นการลงทุนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีเทคโนโลยีสูงจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีผู้ผลิตอีกเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นผู้ประกอบการคนไทยและเป็นผู้รับช่วงผลิตในระดับรองๆลงมา ที่ยังต้องเร่งยกระดับมาตรฐานการผลิต
นอกจากนั้น ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความชำนาญสูง ก็เป็นปัญหาที่ทั้งผู้ผลิตรายใหญ่และรายเล็กกว่าพันรายในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบต่างกำลังประสบอยู่ ปัจจุบันผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยได้ตระหนักถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานทั้งในด้านการผลิตและการบริหารจัดการ ในขณะที่โรงงานรถยนต์ก็เพิ่มความเข้มงวดในด้านคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชิ้นส่วน รวมไปถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการในองค์กรของผู้ผลิตชิ้นส่วนป้อนโรงงานด้วย อาทิ มีการกำหนดว่าจะต้องได้การรับรองมาตรฐานสากล ISO 9000 ISO 14000 หรือ QS 9000 ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังมีผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศไม่ถึงครึ่งที่ได้การรับรองมาตรฐาน ISO และ QS ทั้งนี้ยังไม่นับรวมคุณภาพมาตรฐานเฉพาะด้านที่แต่ละโรงงานของบริษัทรถยนต์จะเป็นผู้กำหนด
ดังนั้น ขณะนี้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทยและรับผิดชอบในการผลักดันให้ไทยเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียภายใต้แผนแม่บทอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันยานยนต์ และกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มีการเตรียมนำเสนอโครงการต่างๆ ต่อรัฐบาล อันประกอบไปด้วย :
– โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา ศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์และสนามทดสอบยานยนต์ ในวงเงินสูงถึง 6,000 ล้านบาท
– แผนการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้มีทักษะด้านอุตสาหกรรมยานยนต์อย่างแท้จริง โดยการเข้ารับการฝึกอบรมและการจัดทดสอบความสามารถและรับรองการทำงาน วงเงิน 1,500 ล้านบาท
– แผนงานการพัฒนาด้านเทคโนโลยีคลัสเตอร์ยานยนต์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ วงเงิน 500 ล้านบาท
– โครงการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศยานยนต์ ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงข้อมูลการผลิต การตลาด บุคลากรกำลังคน ฯลฯ ของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ รวมทั้งการวิเคราะห์และเตือนภัยสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ วงเงิน 500 ล้านบาท
– ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ วงเงิน 200 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายที่จะขยายการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เพิ่มขึ้นเป็น 4 แสนล้านบาทในปี 2553 จากประมาณ 1.7 แสนล้านบาทในปี 2547
ทั้งนี้ คาดว่าโครงการต่างๆ ข้างต้นจะช่วยให้กาารพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา, ศูนย์ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์และสนามทดสอบยานยนต์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสู่เป้าหมายการเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียภายในปี 2553 ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้ก็มีกระแสข่าวว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการของไทยและสถาบันทดสอบยานยนต์รายใหญ่ของยุโรป ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมลงทุนในโครงการศูนย์ทดสอบดังกล่าว และขณะนี้กำลังทำการศึกษารายละเอียดโครงการอยู่
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและศูนย์ทดสอบยานยนต์นี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตขนาดกลางและย่อม หรือ SMEs ซึ่งยังขาดแคลนเทคโนโลยีระดับสูง ในขณะที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ๆมักจะได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากค่ายรถยนต์ต่างๆ โดยที่ปัจจุบันบริษัทรถยนต์บางแห่งก็กำลังมีโครงการขยายฐานการวิจัยพัฒนาและการทดสอบยานยนต์ของตนเองในประเทศไทย เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในระดับภูมิภาคด้วย อาทิ โครงการศูนย์วิจัยและพัฒนารถยนต์ของโตโยต้า และโครงการศูนย์กลางออกแบบและทดสอบชิ้นส่วนรถยนต์ของอีซูซุ เป็นต้น ดังนั้น การเสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาและศูนย์ทดสอบดังกล่าวข้างต้น น่าจะเข้ามาเสริมสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้นให้กับมาตรฐานรถยนต์และชิ้นส่วนของไทยทั้งระบบ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่าศักยภาพของอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยในตลาดโลกนั้นมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม ทั้งนี้ค่ายรถยนต์ใหญ่ๆระดับโลกต่างก็มีความเชื่อมั่นในศักยภาพดังกล่าว จึงได้มีการย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยโดยมุ่งหวังให้เป็นศูนย์กลางการส่งออก อันจะทำให้ปริมาณส่งออกรถยนต์ของไทยขยายตัวในอัตราที่สูงอย่างต่อเนื่องหลังจากที่ได้เติบโตอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดภายในช่วงเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าเป้าหมายปริมาณส่งออกที่ 8 แสนคันในปี 2553 นั้น จะอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
อย่างไรก็ตาม การจะเป็นดีทรอยต์แห่งเอเชียนั้น ไม่ได้มีความหมายเฉพาะในเชิงปริมาณเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเป้าหมายในเชิงคุณภาพ ซึ่งรวมถึงความเพียบพร้อมทั้งในด้านเทคโนโลยียานยนต์ ประสิทธิภาพของบุคลากร ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนทั้งระบบ ทั้งนี้การเสริมสร้างและยกระดับคุณภาพมาตรฐานจึงเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยให้มีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริงและดำรงขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน