8 มีนาคม 2548 – กรุงเทพฯ – กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) ได้รับเบาะแสจากบีเอสเอ บุกจับผู้เสนอขายซอฟต์แวร์เถื่อนทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งล่อหลอกผู้ซื้อผ่านทางเว็บไซต์ประมูลสินค้า Pramool.com การบุกจับครั้งนี้เกิดขึ้นที่บ้านของผู้ต้องหาซึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ โดยตำรวจสามารถยึดของกลางเป็นคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง พร้อมเครื่องบันทึกซีดี 2 เครื่อง และซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายจำนวนมาก ผู้กระทำผิดได้ลักลอบดำเนินธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2547 โดยเปิดประมูลซอฟต์แวร์เถื่อนจำนวนมากในราคาเพียง 50 บาทเท่านั้น
“ในฮาร์ดดิสก์ของคอมพิวเตอร์ที่ยึดเป็นของกลางนั้น พบไฟล์โปรแกรมจำนวนมาก โดยส่วนหนึ่งเป็นซอฟต์แวร์ของสมาชิกบีเอสเอ เช่น อะโดบี, ออโต้เดสก์, แมคโครมีเดีย, แมคอาฟี่, ไมโครซอฟท์ และไซแมนเทค ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับบันทึกลงบนแผ่นซีดี โดยหลังจากที่การประมูลเสร็จสิ้นลง ผู้ขายก็จะรอจนกว่าผู้ซื้อโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 5 บัญชี จากนั้นก็จะจัดส่งแผ่นซีดีให้แก่ผู้ซื้อทางไปรษณีย์ นอกเหนือจากซอฟต์แวร์เถื่อนแล้ว ผู้ต้องหารายนี้ยังเสนอขายซีดีภาพยนตร์ เพลง เกม และหนังโป๊ โดยมีรายได้ประมาณเดือนละ 70,000 บาทจากการขายสินค้าประเภทนี้ แต่การกระทำดังกล่าวกลับสร้างความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาทต่อเจ้าของลิขสิทธิ์” นายทารุน ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการฝ่ายปราบปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ในเอเชียของบีเอสเอ
“การจับกุมครั้งนี้นับเป็นการเตือนสติสำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ทางอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย และเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราในการจัดการกับการละเมิดทุกรูปแบบ และเพื่อให้การป้องปรามเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น บีเอสเอได้ปรับหมายเลขโทรศัพท์สายด่วนบีเอสเอ จากเดิมคือ 0-2971-4140 เป็น 1-800-291-005 เพื่อรับแจ้งเบาะแสการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนหรือซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ในองค์กรต่างๆ และเพื่อเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายมากขึ้นแก่ผู้ที่ต้องการจะแจ้งข้อมูล โดยยังคงหลักการการรับแจ้งข้อมูลไว้เช่นเดิมคือ เราจะเก็บข้อมูลผู้แจ้งไว้เป็นความลับ ส่วนผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ก็สามารถสอบถามได้จากสายด่วนบีเอสเอเช่นเดียวกัน และที่สะดวกมากขึ้นก็คือ เบอร์เดียวโทรฟรีทั่วกรุงเทพฯ และปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดอัตราการใช้บริการเพียง 3 บาทต่อครั้งเท่านั้น และจะมีเจ้าหน้าที่รับบริการตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ บีเอสเอ มีรางวัลถึง 200,000 บาทสำหรับเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ทุกชิ้นที่นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีจนถึงที่สุด” นายซอว์เนย์ กล่าวเสริม
ข้อมูลเกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นองค์กรชั้นนำที่มีหน้าที่ส่งเสริมการใช้ระบบเครือข่ายอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์ระดับโลก โดยประสานงานร่วมกับภาครัฐและตลาดต่างประเทศ สมาชิกของบีเอสเอเป็นองค์กรธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในโลก บีเอสเอมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่ผู้บริโภคในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการซอฟต์แวร์ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ การสร้างระบบความปลอดภัย และการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต อี-คอมเมิร์ซ และเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต
สมาชิกของบีเอสเอในระดับโลก ได้แก่ อะโดบี, แอปเปิล, ออโตเดสก์, เอวิด, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์ , บอร์แลนด์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, อินเทอร์เน็ต ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์, แมคโครมีเดีย, แมคอาฟี่, อิงค์, พาราเมติคเทคโนโลยี, ไมโครซอฟท์, โซลิดเวิร์คส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, ยูจีเอส คอร์ป และเวอริทัส ซอฟต์แวร์ พันธมิตรของบีเอสเอในภูมิภาคเอเซียคือ เทรน ไมโคร บริษัทสาขาของบีเอสเอในระดับท้องถิ่น ได้แก่ สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ไทย