ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ “นักการตลาดต้อง Fast & Sharp”

สำนักงานใหญ่ของ Unilever ที่หมู่ตึก SCB Park ได้รับการปรับปรุงตามวิชั่นใหม่ขององค์กร ตกแต่งอย่างสวยใสและมีชีวิตชีวามากกว่าเดิมซึ่งดูเคร่งขรึม สอดรับได้ดีกับบุคลิกยิ้มแย้มแจ่มใส่ของ ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ปิยนุชเป็นหนึ่งในกำลังหลัก ผู้ที่เติบโตมากับ Unilever ตั้งแต่ระดับปฏิบัติการจนกระทั่งก้าวขึ้นเป็นผู้บริหารดูแลผลิตภัณฑ์ซันซิล ถึง 8 variant เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าตลาดสูงมากในกลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล

9.00 น.ของทุกวันทำงาน ปิยนุชมีประชุมกับทีมงานเป็นประจำ ทั้งทีมงานของ Unilever เอง และ PR Agency รวมทั้ง Advertising Agency ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป เพื่อ update สถานการณ์ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลและรักษาเส้นผมซึ่งมีมูลค่ากว่า 9,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 ล้านบาทในไม่ช้า ภารกิจรัดตัวเช่นนี้ทำให้เธอหาเวลาท่องเที่ยวอย่างใจชอบได้น้อยเต็มที “ชอบเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เพราะเป็นทั้งการผ่อนคลายและค้นหาสิ่งใหม่ๆ ไปในตัว หากมีเวลาก็อยากจะวางแผนไปเที่ยวที่แปลกๆ ไม่ค่อยมีคนไป เช่น ไปปราก เวียนนา เพื่อดูสถาปัตยกรรม”

ปิยนุชใช้ชีวิตวัยเด็กร่วม 10 ปีที่สิงคโปร์ตั้งแต่ประถมจนจบมัธยมศึกษานั่น เธอจึงสามารถพูดภาษาจีนกลางได้ดี พอๆ กับภาษาอังกฤษ ส่วนภาษาไทยมีครูมาสอนที่บ้าน

หลังกลับมาเมืองไทยเพื่อเอนทรานซ์เข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา เธอเลือกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำเร็จการศึกษาเป็นรุ่นที่ 51 ด้วยผลการเรียนระดับเกียรตินิยมอันดับ 2

หลังเรียนจบปริญญาตรีเธอทำงานที่ Exim Bank ได้ 2 ปีตามสาขาที่ร่ำเรียนมา แต่หลังจากนั้นเธอปฏิเสธทุนศึกษาต่อของ Exim Bank เพื่อเลือกเส้นทางชีวิตที่เธอค้นพบภายหลังว่า การตลาดเป็นสิ่งที่น่าพิสมัย อีกทั้งการได้มีโอกาสร่ำเรียนกับ Philip Kotler เมื่อครั้งไปเรียน MBA ที่ชิคาโก ถือเป็น inspiration ส่วนหนึ่งที่ทำให้เธอเกิดความมุ่งมั่นในการที่จะเป็นนักการตลาดที่ดี

ก้าวเข้าสู่ Unilever เป็นปีที่ 7 แล้ว การได้ร่วมงานกับ Unilever เป็นสถานที่ที่เธอสามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์และความรู้ใหม่ๆ ได้เต็มที่

ผลงานโดดเด่นในห้วงเวลา 2 ปีของตำแหน่ง Brand Manager-ซันซิล ประจำประเทศไทยและเอเชีย คือ การเปิดตัวผลิตภัณฑ์แต่งสีผม รวมถึงเปิดตัวผลิตภัณฑ์แต่งทรงผมในประเทศต่างๆ นอกจากนี้แล้วในฐานะ Product Group Manager-ซันซิล เธอใช้เวลาเพียงปีเศษสร้างผลงานเป็นที่น่าพอใจ ด้วยการเปิดตัวนวัตกรรมซันซิล โยเกิร์ต ซึ่งสามารถครองส่วนแบ่งสูงสุดในตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงและดูแลรักษาเส้นผมทั้งหมดในประเทศไทย และยังช่วยขับเคลื่อนตลาดรวมให้โตเป็นปีแรกในรอบ 6-7 ปี ล่าสุดเปิดตัวซันซิล เอจจิ้ง แคร์ จับปัญหาผมเสียของหญิงวัย 30 มาเป็นจุดขาย

นับถึงวันนี้เธอสั่งสมประสบการณ์ในตลาดผลิตภัณฑ์เพื่อการบำรุงและรักษาเส้นผมร่วม 6 ปี ผ่านการบริหารแบรนด์มาทั้งออแกนนิคส์ คลีนิค เคลียร์ และซันซิล เธอบอกว่าเป็น 6 ปีที่เธอไม่เคยเบื่อเลย การได้เรียนรู้ ค้นพบสิ่งใหม่ๆ นำเสนอแก่ผู้บริโภคเป็นสิ่งที่เธอสนุก เธอย้ำอีกว่า นักการตลาดที่เก่งต้องคิดให้ต่างและดี และต้องให้ความสำคัญกับ team work และสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือ กล้าคิด กล้าทำ “คิดอย่างเดียวไม่ได้ ต้องรีบคิดและรีบทำ และต้องทำอย่างรวดเร็วและมีความเฉียบขาดด้วย”

Key to success ที่ทำให้ซันซิลครองอันดับ 1 มาอย่างยาวนาน เธอบอกว่าสิ่งสำคัญคือ ซันซิลให้คำตอบทุกปัญหาของเส้นผม หัวใจหลักอยู่ที่ผู้บริโภค และไม่เคยหยุดพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ตามความต้องการของลูกค้า รวมทั้งสื่อสารกับผู้บริโภคตลอดเวลา และคงภาพลักษณ์ที่สดใสอยู่เสมอ ซึ่งสะท้อนผ่าน packaging ที่มีสีสันหลากหลาย และการปรับ packaging บ่อย เธอบอกว่าไม่ใช่ปัญหาหากกลับเป็นสิ่งที่ลูกค้าชื่นชอบ เพราะรู้สึกว่าได้รับอะไรใหม่ๆ “เราทำให้แบรนด์มีชีวิตชีวา” ซึ่งแต่ละ variant จะผลัดกัน refresh ให้ดูสดใหม่อยู่เสมอ ไม่อยากให้แบรนด์ดูแก่ ซึ่งมันส่อเค้าถึงความล้มเหลวที่จะตามมา

ปัจจุบัน penetration หรือการเข้าถึงผู้บริโภคของสินค้าประเภทแชมพูในเมืองไทยมีตัวเลขที่สูงมากเกือบ 100% ขณะที่ครีมนวด มี penetration 70% และเมื่อเทียบกับอินเดีย มี penetration ของแชมพูเพียง 50% เท่านั้น แต่ทั้งนี้ตลาดแชมพูของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นพัฒนาไปไกลกว่าเมืองไทย เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคติดตามข่าวสารและเทรนด์ใหม่ๆ ตลอดเวลา

เธอบอกว่า ตลาดนี้ค่อนข้าง dynamic โอกาสเกิดของแบรนด์ใหม่คงยาก เนื่องจากแบรนด์ผู้นำในตลาดมีความเข้มแข็งสูง แต่ละค่ายล้วนทุนหนา เธอหมายถึง Unilever, P&G และ KAO ซึ่งเป็น 3 ยักษ์ใหญ่ กุมตลาดในเวลานี้ แต่ทั้งนี้เนื่องจากมูลค่าตลาดกว่า 9,000 ล้าน ย่อมเป็นที่ยวนตายวนใจให้ผู้เล่นรายใหม่กระโดดลงสมรภูมินี้ได้ทุกเมื่อ เพราะแม้จะได้ส่วนแบ่งการตลาดไม่กี่เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อคิดเป็นตัวเงินแล้วมูลค่าตลาดไม่น้อย อย่างแครอล ของ P&G มีส่วนแบ่งเพียง 1.7% แต่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 170 ล้านบาทเลยทีเดียว

กระนั้น Unilever ไม่ได้ประสบความสำเร็จกับทุกแบรนด์ เช่นกรณีของออแกนนิคส์ และทิมโมเท ซึ่งแม้จะมีวางจำหน่ายตามท้องตลาด แต่ Unilever ไม่ได้ทุ่มงบการตลาดเพื่อ 2 แบรนด์นี้อย่างจริงจัง หรือแม้แต่ซันซิล โปรคัลเลอร์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แต่งสีผม Unilever ก็มิได้มุ่งเน้นมากนัก เนื่องจากไม่สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้มากนัก ดังนั้นการเทเม็ดเงินสู่ซันซิลเป็นหลักจึงเป็นเรื่องที่คุ้มค่ามากกว่า

นั่นหมายถึงโอกาสแสดงฝีมือของ ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ จะไม่หยุดเพียงเท่านี้

Profile

Name : ปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์
Age : 31 ปี
Education :
2539- 2541 ปริญญาโทสาขาการเงินและการตลาด เกียรตินิยมอันดับ 1 สถาบันบัณฑิต
บริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ Northwestern University, J.L. Kellog Graduate School of Management
2533-2537 ปริญญาตรีสาขาบัญชี เกียรตินิยมอันดับ 2 คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2529-2532 ประกาศนียบัตร GCE O Level รางวัลผลการเรียนยอดเยี่ยมจาก โรงเรียนนานยาง เกิร์ลส์ ไอสกูล ประเทศสิงคโปร์
2523-2538 ประกาศนียบัตร PSLE โรงเรียนประถมศึกษา C.I & C.C.S ประเทศสิงคโปร์
Career Highlights :
– 2537-2539 ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าในประเทศไทย
นักวิเคราะห์สินเชื่อ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ
– 2541 บริษัท ยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบริหาร กลุ่มผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายในประเทศไทย
– 2542-2544 ผู้จัดการแบรนด์ซันซิล ประจำประเทศไทย และเอเชีย
– 2544 ผู้จัดการแบรนด์ออแกนนิคส์ บริษัท ลีเวอร์ ฟาเบิร์จ ยูนิลีเวอร์ ประเทศอังกฤษ
– 2545-2546 ผู้จัดการนวัตกรรม/ กลุ่มผลิตภัณฑ์คลีนิค เคลียร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย
– พฤศจิกายน 2546-ปัจจุบัน ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ซันซิลในประเทศไทย