การส่งออกที่อาจชะลอตัวรุนแรงกว่าที่คาด … อาจซ้ำเติมภาวะการขาดดุลการค้าปี 2548

ภายใต้สถานการณ์ที่เศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลกมีทิศทางชะลอตัว ผลกระทบอาจทำให้การขยายตัวของการส่งออกของไทยในช่วงปี 2548 ชะลอลงจากปีก่อนหน้าค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน ไทยยังคงมีความต้องการนำเข้าสูง โดยเฉพาะการนำเข้าน้ำมันและสินค้าประเภททุน ส่งผลให้การนำเข้าขยายตัวในอัตราที่สูงกว่าการส่งออก และนำไปสู่ภาวะการขาดดุลการค้าเป็นปีแรกนับจากหลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเป็นต้นมา อีกทั้งตัวเลขสถานะการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 สะท้อนการชะลอตัวของภาคการส่งออกที่รุนแรงและรวดเร็วกว่าที่คาด โดยการส่งออกมีมูลค่า 15,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 22 ในปี 2547 ขณะที่การนำเข้ายังคงเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 17,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.8 สูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.6 ในปี 2547 ทำให้ในช่วงระยะ 2 เดือนแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าแล้วเป็นมูลค่าถึง 1,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับที่มีการเกินดุลทั้งสิ้น 2,723 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2547

การที่เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่จะมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขนาดใหญ่ในระยะ 5 ปี ข้างหน้า การนำเข้าที่ขยายตัวสูงเป็นสิ่งที่หลายฝ่ายให้ความกังวลว่าจะเป็นต้นเหตุของการขาดดุลการค้า และจะทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า แต่เมื่อพิจารณาถึงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจในขณะนี้แล้ว อาจเป็นไปได้ที่การชะลอตัวของภาคการส่งออกจะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เนื่องจาก โดยปกติแล้วไทยมักจะขาดดุลการค้าในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตดี อันเป็นผลให้อุปสงค์ต่อสินค้านำเข้าเติบโตสูงตามไปด้วย แต่ขณะนี้ เศรษฐกิจไทยอยู่ในช่วงที่ชะลอตัวลง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ถดถอยลง รวมทั้งการส่งออกที่ชะลอตัว น่าจะส่งผลให้การนำเข้าสินค้าผู้บริโภคและสินค้าที่นำเข้ามาผ่านกระบวนการผลิตเพื่อส่งออกมีทิศทางที่ชะลอลงในระยะต่อไป ส่วนในด้านการลงทุน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าสูง (Impot content) นั้น แนวโน้มอาจชะลอลงตามทิศทางเศรษฐกิจ และถ้าการเติบโตของกิจกรรมการลงทุนได้รับแรงผลักดันจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐเป็นหลัก ในช่วงแรกของการดำเนินการก่อสร้างโครงการ สัดส่วนการนำเข้าของการลงทุนอาจจะยังไม่สูงนัก แต่จะไปเร่งในช่วงท้ายของโครงการที่ต้องนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ ด้วยเหตุนี้ จึงคาดว่าในช่วงปี 2548 การนำเข้าที่ขยายตัวสูงในระดับร้อยละ 27 ในขณะนี้ คงจะไม่ใช่ภาพที่คงอยู่ได้ตลอดช่วงระยะเวลาที่เหลือของปี

นับตั้งแต่ช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2547 ที่ผ่านมา การส่งออกของไทยมีทิศทางชะลอตัวลงมาเป็นลำดับจากที่มีการเติบโตเฉลี่ยสูงกว่าร้อยละ 20 ต่อเดือนในระยะก่อนหน้า โดยการเติบโตของส่งออกชะลอลงเรื่อยมาจากอัตราร้อยละ 16.8 ในเดือนธันวาคม ร้อยละ 10.9 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ จากภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวอย่างมากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์การส่งออกของไทย โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

? การชะลอตัวของการส่งออกของไทย เริ่มเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภูมิภาค ในเดือนมกราคม การส่งออกของไทยชะลอตัวรุนแรงกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไม่รวมจีน จากที่ในปี 2547 ที่ผ่านมาไทยมีสถานะค่อนข้างดีกว่าอัตราเฉลี่ยของภูมิภาค แต่ตัวเลขเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เริ่มบ่งชี้ว่าการชะลอตัวของการส่งออกเป็นปัญหาที่เผชิญทั่วทั้งภูมิภาค โดยการส่งออกของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ขยายตัวร้อยละ 5.4 ขณะที่การส่งออกของภูมิภาคขยายตัวประมาณร้อยละ 4 (เดือนมกราคมไทยขยายตัว 10.9 ต่ำกว่าภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 14) ซึ่งการชะลอตัวดังกล่าวคาดว่าเป็นผลมาจากปัจจัยลบด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งภาวะที่ไม่สดใสของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

? นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์เป็นรายประเภทสินค้าอาจกล่าวได้ว่า ในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 การชะลอตัวของการส่งออกของไทยเกิดขึ้นจากปัจจัยเฉพาะตัวของไทยด้วย โดยสินค้าที่ชะลอตัวลงมาก ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรม อุตสาหกรรมการเกษตร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ในเดือนกุมภาพันธ์ การส่งออกสินค้าเกษตร ลดลงร้อยละ 6.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (จากที่เดือนม.ค. ขยายตัวร้อยละ 4) โดยเป็นผลมาจากการหดตัวของสินค้ายางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง โดยกลุ่มสินค้าสำคัญที่มีการชะลอตัวอย่างมากได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.4 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 6.1) โดยมีการหดตัวของสินค้าอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย สับปะรดกระป๋อง สินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 8 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 11.7)

โดยมีการหดตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หดตัวร้อยละ 0.4 (แต่เป็นอัตราลบที่น้อยลงจากเดือนม.ค.ที่หดตัวร้อยละ 3.2) โดยสินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรสาร โทรพิมพ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด มอเตอร์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แต่การส่งออกเครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบขยายตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า หดตัวร้อยละ 2.8 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 5.4) โดยสินค้าที่ส่งออกลดลงได้แก่ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ วีดีโอ เครื่องเสียงและส่วนประกอบ นอกจากนี้ ยังมีการชะลอตัวลงของสินค้ากลุ่มสิ่งทอและยานยนต์ อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีสินค้าหลายรายการที่ขยายตัวได้ดี โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดีขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ไก่แปรรูป ส่วนสินค้าที่ขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เหล็ก

? เมื่อพิจารณาภาวะตลาดประเทศคู่ค้าที่สำคัญพบว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ตลาดสหรัฐและสหภาพยุโรปหดตัวลง ขณะที่ตลาดสำคัญอื่นๆก็ขยายตัวลดลง โดยตลาดสหรัฐขยายตัวร้อยละ 0.1 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 6.2) โดยมีการหดตัวในสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ อาหารกระป๋องและแปรรูป กุ้ง เฟอร์นิเจอร์ ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ สหภาพยุโรป หดตัวร้อยละ 1.3 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 7) โดยมีการหดตัวในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยางพารา รองเท้า มันสำปะหลัง อาเซียนขยายตัวร้อยละ 4.9 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 5.7) ที่สำคัญเนื่องจากหดตัวของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า น้ำมัน เครื่องยนต์ ยางพารา ข้าว ญี่ปุ่นขยายตัวชะลอลง แต่ยังเป็นตลาดที่เติบโตดีกว่าตลาดหลักอื่นๆที่ร้อยละ 9 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 11.9) สินค้าที่หดตัวลง ได้แก่ ยางพารา เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เฟอร์นิเจอร์ กุ้ง ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ยังเติบโตในเกณฑ์ดี จีน ขยายตัวร้อยละ 2.2 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 6.9) โดยมีการหดตัวของสินค้ายางพารา เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า น้ำมัน ผลิตภัณฑ์เหล็ก ผลิตภัณฑ์ยาง และผักผลไม้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ตลาดรอง (อื่นๆนอกเหนือจาก 5 ตลาดหลัก) แม้จะมีทิศทางที่ชะลอตัวลง แต่ยังมีอัตราการขยายตัวที่ดีกว่าตลาดหลัก โดยขยายตัวประมาณร้อยละ12 (จากที่เดือนม.ค.ขยายตัวร้อยละ 22) ซึ่งตลาดกลุ่มนี้คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกรวม

จากการประเมินภาวะการส่งออกของไทย อาจกล่าวได้ว่าการชะลอตัวอย่างมากของการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา เป็นผลสืบเนื่องมาจาก

? สินค้าเกษตรและอาหารเผชิญปัญหา โดยมีสาเหตุจากปัจจัยหลายประการ ในส่วนของพืชผลการเกษตรเผชิญภาวะผลผลิตลดลงจากความเสียหายจากภาวะแห้งแล้ง และการที่จะคาดหวังให้ราคาสินค้าเกษตรสูงขึ้นเพื่อชดเชยต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลงก็มีข้อจำกัด เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลักของไทย เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง พุ่งสูงไปมากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ตลาดไม่สามารถรับราคาที่สูงขึ้นได้อีกมากนัก นอกจากนี้ สินค้าผลผลิตจากการประมง คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งและอาหารทะเลแปรรูป มีการส่งออกลดลงอย่างมาก โดยมีปัญหาผลผลิตลดลงและการแข่งขันในตลาดสหรัฐ ส่วนสินค้าเกษตรสำคัญที่ยังมีทิศทางสดใสมีเพียงไก่แปรรูปที่ช่วง 2 เดือนแรกขยายตัวสูงร้อยละ 99.8 เนื่องจากการขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น

? สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบจากภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โลก ที่ตลาดมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตขยายกำลังการผลิตรวดเร็วเกินไป ทำให้มีสต็อกสินค้าอยู่มากและสร้างแรงกดดันให้การแข่งขันด้านราคายิ่งรุนแรงขึ้น

? ตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าอาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะเดียวกัน ภาวะราคาน้ำมันพุ่งสูงส่งผลต่อค่าครองชีพ ทำให้ผู้บริโภคชะลอการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับฐานของปีก่อนหน้าที่การส่งออกสินค้ากลุ่มนี้เติบโตสูงอย่างมาก ทำให้มีการชะลอตัวลงมากในปีนี้ ซึ่งปัจจัยเดียวกันนี้อาจส่งผลรวมไปถึงตลาดรถยนต์ด้วย แต่ที่การส่งออกยังคงเพิ่มขึ้นเพราะมีการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาขยายฐานการผลิต

? การส่งออกภายใต้กรอบความร่วมมือการค้าเสรี ไทยมีความได้เปรียบทางการค้าลดลง เมื่อพิจารณาถึงผลการทำข้อตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ พบว่านับตั้งแต่ต้นปี โดยส่วนใหญ่ความได้เปรียบทางการค้าของไทยลดลงจากปีก่อนหน้า สังเกตุได้จากตัวเลขดุลการค้าระหว่างไทยกับประเทศที่มีข้อตกลงเอฟทีเอไปแล้ว 4 ประเทศ โดยในกลุ่มอาเซียนแม้ไทยเกินดุลการค้า แต่เป็นระดับที่น้อยลง โดยสัดส่วนการนำเข้าเทียบกับการส่งออกเพิ่มขึ้นมาเป็นร้อยละ 92 จากประมาณร้อยละ 75 ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า ในส่วนของจีน การขาดดุลการค้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 135 จากค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 120 ในช่วง 3 ปีก่อนหน้า ส่วนออสเตรเลีย ไทยขาดดุลการค้าจากที่เกินดุลมาตลอดช่วง 3 ปีก่อนหน้า สำหรับอินเดีย ภายหลังจากมีการลดภาษีนำเข้าในกลุ่มสินค้า 82 รายการ ไทยค่อนข้างขยายตลาดได้รวดเร็ว ทำให้กลับมาเกินดุลการค้าได้จากที่ขาดดุลตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

โดยสรุป จากการที่สถานะการค้าระหว่างประเทศในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2548 สะท้อนการชะลอตัวของภาคการส่งออกของไทยอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด การส่งออกมีมูลค่า 15,622 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 22 ในปี 2547 โดยที่การส่งออกของไทยมีอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลงมาเป็นลำดับในอัตราร้อยละ 16.8 ในเดือนธันวาคม ร้อยละ 10.9 ในเดือนมกราคม และร้อยละ 5.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ ในทางกลับกัน การนำเข้ายังคงเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่า 17,488 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 27.8 สูงขึ้นเล็กน้อยจากที่ขยายตัวร้อยละ 26.6 ในปี 2547 ทำให้ในช่วงระยะ 2 เดือนแรกของปี 2548 ไทยขาดดุลการค้าแล้วเป็นมูลค่าถึง 1,866 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แม้ว่าหลายฝ่ายได้ให้ความกังวลต่อสถานการณ์การนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า การชะลอตัวของภาคการส่งออกจะเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า เนื่องจากในด้านการนำเข้านั้น ภาวะอุปสงค์ภายในประเทศที่ชะลอตัวไม่น่าจะมีกำลังแรงเพียงพอที่จะผลักดันให้การนำเข้าขยายตัวในระดับปัจจุบันได้ต่อเนื่องยาวนาน การนำเข้าจึงน่าจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงในช่วงเวลาที่เหลือของปี นอกจากนี้ความพยายามที่จะลดสัดส่วนการนำเข้าของอุตสาหกรรมไทยคงไม่ใช่สิ่งที่จะเป็นไปได้ในระยะสั้น ด้วยเหตุนี้ การหาแนวทางแก้ไขอุปสรรคและปัญหาในภาคการส่งออกจึงน่าจะเป็นส่วนที่ช่วยบรรเทาผลกระทบต่อฐานะดุลการค้าในปี 2548 ได้

จากการประเมินสถานะการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกนี้ มีการชะลอตัวอย่างมากในกลุ่มสินค้าเกษตร อาหาร อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งปัญหาที่ประเทศในภูมิภาคเผชิญร่วมกันและปัญหาเฉพาะตัวของประเทศไทย เป็นที่สังเกตได้ว่าสาเหตุปัจจัยที่ทำให้การส่งออกของไทยชะลอตัว หลายปัจจัยอาจอยู่นอกเหนือความสามารถที่จะควบคุมได้ เช่น ปัญหาผลผลิตขาดแคลนในภาคการเกษตร การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก หรือวัฏจักรอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปัญหาในสินค้าบางประเภทภาครัฐอาจเข้ามาช่วยเหลือได้โดยเจรจากับประเทศคู่ค้า เช่นกรณีของสินค้ากุ้ง โดยขอให้สหรัฐและสหภาพยุโรปมีการผ่อนปรนอัตราภาษีเป็นพิเศษในฐานะที่อุตสาหกรรมกุ้งของไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติในภาคใต้

ขณะที่สินค้าไก่แปรรูปที่ยังไปได้ดี จะต้องดูแลจัดการปัญหาไข้หวัดนกไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ในการแก้ปัญหาภาคส่งออกชะลอตัว อาจจำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของภาครัฐเพื่อขจัดหรือบรรเทาอุปสรรคในส่วนของสินค้าที่มีปัญหา โดยดำเนินการเป็นรายสินค้า นอกจากนี้ เห็นได้ว่าสินค้าหลายประเภทและตลาดบางตลาดที่ยังมีแนวโน้มตลาดค่อนข้างดี ซึ่งต้องเร่งผลักดันสินค้ากลุ่มที่มีแนวโน้มดีนี้เพื่อชดเชยกลุ่มที่มีปัญหา รวมทั้งในภาวะที่กลุ่มประเทศตลาดหลักชะลอตัว ควรเร่งขยายการส่งออกในตลาดรองที่มีศักยภาพสูง และกระตุ้นให้ผู้ส่งออกขยายการส่งออกภายใต้สิทธิเอฟทีเออย่างกว้างขวางมากขึ้น

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการส่งออกในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีน่าจะมีทิศทางปรับตัวดีขึ้น จากสินค้าประมงและปศุสัตว์ที่มีแนวโน้มตลาดดีขึ้น ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมหลายรายการยังมีการขยายตัวในเกณฑ์ดี รวมทั้งความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่น่าปรับตัวจะกระเตื้องขึ้น นอกจากนี้ ราคาสินค้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นส่วนที่ลดผลกระทบจากปริมาณการส่งออกที่ชะลอตัวได้ในระดับหนึ่ง โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2548 ดัชนีราคาสินค้าส่งออกยังปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 6 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และราคาในเดือนกุมภาพันธ์ยังคงสูงขึ้นร้อยละ 1.9 จากเดือนก่อนหน้า ซึ่งโดยรวมแล้วน่าจะส่งผลให้การส่งออกตลอดทั้งปี 2548 สามารถขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 12 สำหรับแนวโน้มการแข็งค่าของค่าเงินบาท อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าของไทยในรูปดอลลาร์มีราคาสูงขึ้นบ้าง อีกทั้งด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันและสินค้าวัตถุดิบ จึงเป็นแรงกดดันอีกด้านหนึ่งต่อผู้ประกอบการไทยที่จะต้องหาแนวทางบริหารต้นทุนและราคาสินค้าให้แข่งขันได้ในตลาดโลก